วัสดุท้องถิ่น


2. กก
กกที่นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ มีชื่อหลายอย่าง แต่ถ้ากำหนดเป็นชนิดใหญ่ๆ มี 2 ชนิด
2.1 กกกลม หรือบางจังหวัดเรียกว่า กกลังกา ลำต้นกลมเรียวคล้ายต้นกล้า มีผิวสีเขียวแก่ข้างในลำต้นมีเนื้ออ่อนสีขาว โคนต้นวัดโดยรอบประมาณ 1 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.50–1.80 เมตรกกชนิดนี้ไม่มีใบ รากกกมีลักษณะเป็นเหง้าคล้ายรากข่า และเจริญเติบโตเป็นกอ กอหนึ่งๆ มีกกประมาณ 5 – 6 ต้น การแพร่พันธุ์ใช้ปลูกด้วยหน่อกกที่เกิดจากรากข่า กกกลมเป็นพืชที่ปลูกง่ายงอกงามเร็ว ไม่ต้องระวังรักษามาก เพราะเมื่อต้นกกเจริญงอกงาม ต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่จะตายหมด กกกลมชอบที่ลุ่ม เป็นโคลนเลน
2.2 กกเหลี่ยม บางทีเรียกว่า กกควาย หรือบางจังหวัด เช่น จังหวัดอุบลราชธานี เรียกว่าต้นปรือ หรือต้นผือ ตามปกติจะขึ้นอยู่ริมแม่น้ำ ลำคลอง และท้องนา หรือในที่ลุ่มเลนตมทั่วๆ ไปแหล่งที่พบมาก เช่น ริมฝั่งแม่น้ำมูล ลำมูลน้อย คลองกุดคูน ลำห้วยแจระแม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะของลำต้นเป็น 3 กลีบ รูปสามเหลี่ยม ด้านทั้งสามเว้าเข้าหาแกนกลาง ลำต้นสูงประมาณ 1 – 1.35 เมตร ลำต้นใหญ่ และใช้เป็นอาหารของควายได้ จึงได้ชื่อว่า กกควาย กกชนิดนี้มีใบเรียวกลมสั้น หนา ต้นหนึ่งประมาณ 2 – 3 ใบ


การตัดกก
เมื่อกกมีอายุเหมาะแก่การทำเส้นกกทอเสื่อ ก็ทำการตัด อย่าใช้กกแก่หรืออ่อนเกินไป
เพราะกกแก่หรืออ่อนเกินไป จะผุเปื่อยทอเสื่อไม่ได้ดี การตัดกกให้สังเกตจากสีของดอกกก คือกกอ่อน สีดอกจะเป็นสีขาว หรือสีเหลือง กกแก่ ดอกกกจะมีสีน้ำตาลหรือเกือบดำ และตามลำต้นจะมีจุดผุด่างดำ (ตกกระ) กกทั้งสองชนิดนี้ นอกจากจะผุเปื่อยแล้วยังจัดทำเส้นด้ายยากอีกด้วย กกที่เหมาะสำหรับทอเสื่อควรจะตัดเมื่อขณะที่ดอกมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเราสามารถนำกกไปใช้ประโยชน์ได้มากมายในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก นิยมนำกกกลมมาทอเป็นเสื่อ ออกแบบลวดลายการทอเสื่อได้สวยงาม คือเสื่อจันทบูร ของจังหวัดจันทบุรี หรือดัดแปลงเป็นเครื่องใช้อย่างอื่น เช่น กล่องใส่กระดาษทิชชูกระเป๋าถือ กระจาด ตะกร้า หมวก ตลับรูปทรงต่างๆ เช่น รูปทรงกลม รูปทรงสามเหลี่ยม รูปทรงสี่เหลี่ยม เป็นต้น แหล่งผลิตอยู่ที่ ตำบลบ้านแดง อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี 1 และเป็นสินค้าส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี







โดย : นาง เพ็ญวดี ค้าสุวรรณ, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 16 มกราคม 2545