header


พระยาพิชัยดาบหัก
มีชาวนาสามีภรรยาคู่หนึ่งประกอบอาชีพอยู่ที่เมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์และมีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่ตายเสีย 3 คน คงเหลือบุตรชายผู้หนึ่งชื่อ “ จ้อย ”
ซึ่งเป็นเด็กที่มีนิสัยกล้าหาญ โอบอ้อมอารี และต่อยมวยเก่งที่สุดในหมู่เพื่อน
พอจ้อยมีอายุเจริญวัยขึ้นพอสมควร พ่อได้พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระครูที่
วัดมหาธาตุเมืองพิชัย จ้อยไม่อยากเรียนหนังสือแต่อยากเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียง
พ่อจึงสอนว่า“การเรียนรู้หนังสือเป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง ผู้รู้หนังสือจนอ่านออก
เขียนได้แล้วก็สามารถเรียนวิชาอื่นๆได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้หนังสือ” จ้อยจึงกิน นอน
เรียนหนังสือและทำงานร่วมกับศิษย์วัดหลายคน จ้อยเป็นคนมาอยู่ใหม่จึงได้
ถูกคนเก่าแกล้งในเวลากินอาหารทุกครั้งก็จะยกชามแกงส่งต่อไปรอบๆวง
ไม่วางให้จ้อยตักเลยซึ่งเด็กวัดเรียกว่า “ แกงเหาะ ” เมื่อบ่อยครั้งทำให้จ้อยทน
ไม่ไหวจึงแสดงฝีมือแบบมวยวัดให้เด็กวัดเก่าได้รู้จักเสียบ้าง จึงไม่มีใครกล้ารังแกจ้อยอีกเลย
จ้อยเป็นเด็กที่มีสติปัญญาดี เรียนเก่ง มีความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียรหลังเลิกเรียนก็จะฝึกฝนมวยด้วยตนเอง ขั้นต้นนำต้นกล้วยมาวางไว้บนดินและเตะด้วยความรวดเร็วจนต้นกล้วยไม่ล้มถึงดิน ขั้นต่อไปเอาลูกมะนาวผูกเชือกห้อยลงมาเสมอหน้าแล้วชกแกว่งไปมา ปิดรับด้วยศอกและแขนจนไม่ถูกหน้าเลย ด้วยความพากเพียรในการฝึกซ้อมจึงทำให้ฝีมือในการชกมวยดีขึ้น
จ้อยได้อยู่กับพระครูที่วัดมหาธาตุจนอายุประมาณ 14 ปี วิถีชีวิตก็เริ่มจะ
เปลี่ยนไปเมื่อเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตรชายชื่อ“ คุณเฉิด ” มาฝากกับพระครูที่วัดนี้
และมีเพื่อนมาด้วยสามคน คุณเฉิดได้วางอำนาจเป็นลูกเจ้าเมืองและได้มีการ
ท้าชกต่อยกับจ้อยที่หลังวัด พวกของคุณเฉิดได้เข้าตะลุมบอนแต่สู้จ้อยไม่ได้
ส่วนตัวคุณเฉิดได้ล้มก้นกระแทกจึงร้องเอะอะโวยวายว่าจ้อยทำร้าย ด้วยความ
เกรงกลัวพระครูจะลงโทษฐานทำร้ายลูกเจ้าเมือง จ้อยจึงวิ่งหนีโดยไม่ย้อนกลับไปที่วัดอีกเลย จ้อยเคยได้ยินชื่อ “ครูเมฆ” ชาวท่าเสาเป็นครูมวยฝีมือดี
จึงคิดจะไปหา โดยเดินทางตามฝั่งแม่น้ำน่านไปเรื่อยๆพอเดินทางมาถึงที่ตำบลบ้านแก่งก็ได้พบกับ “ครูเที่ยง” กำลังฝึกซ้อมนักมวยอยู่จึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์ และบอกว่าชื่อ “ทองดี”เพราะเกรงว่าจะมีคนตามตนไปลงโทษ ทองดีเป็นคนที่
ไม่กินหมากจึงใช้ชื่อว่า “นายทองดี ฟันขาว” และได้ฝึกเรียนวิชามวยกับครูเที่ยงเป็นเวลา 1 ปีเศษ จนมีความชำนาญ มีฝีมือเหนือศิษย์เก่าจึงทำให้ศิษย์เก่าอิจฉาและถูกแกล้งจากพวกศิษย์เก่าทำให้มีการทะเลาะวิวาทกัน ทองดีรำคาญและหมดวิชาที่จะสอนตนจึงขอลาครูเที่ยงเดินทางไปเรียนวิชามวยกับ ครูเมฆ ที่ท่าเสา
ตามความตั้งใจเดิมโดยเดินทางไปกับพระวัดบ้านแก่งที่จะไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อไปถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ นายทองดีได้ดูการแสดงงิ้ว และชอบใจท่ากายกรรมจึงแอบไปหัดเลียนแบบท่าทาง ต่อจากนั้นเดินทางไปท่าเสาฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชามวยกับครูเมฆได้ปีกว่าๆก็สำเร็จ ในขณะนี้ทองดีอายุอย่างเข้า 18 ปีได้เริ่มชกมวยตามงานและเป็นนักมวยที่ลือเลื่องในเมืองลับแล
ทุ่งยั้ง สวางคบุรีและเมืองพิชัย
ต่อมาได้มีพระภิกษุจากสวรรคโลกชักชวนทองดีไปเรียนฟันดาบกับอา
ของท่านที่สวรรคโลกเป็นเวลา 3 เดือนก็สำเร็จวิชาและได้เดินทางไปเที่ยวที่
สุโขทัยกับครูมวยจีน และเรียนวิชามวยอีก 1 เดือน ในขณะที่อยู่สุโขทัย
มีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์มากมาย ทำให้ทองดีได้เป็นครูสอนวิชามวยและฟันดาบ ได้มีเด็กกำพร้าบิดา มารดาชื่อ บุญเกิด มาขออยู่ด้วยจึงมีเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน บังเอิญมีพ่อค้าจีนเดินทางมาจากตากได้มาพบนายทองดีจึงเล่าให้ฟังว่าพระยาตาก เจ้าเมืองตากนิยมคนมีฝีมือทางชกมวย ถ้าไปเมืองตากก็คงมีโอกาสได้มีชื่อเสียง นายทองดีจึงนำเด็กบุญเกิดเดินทางไปกับพ่อค้าจีน
ในระหว่างทางจากสุโขทัยไปเมืองตากมีเสือชุมมาก คนทั้งสามต้อง
พักแรมกลางป่าและผลัดเปี่ยนเวรกันอยู่ยามคอยสุมไฟคืนหนึ่งเป็นเวรของเด็ก
บุญเกิดได้เผลอหลับไป ไฟมอดลงและดับสนิท มีเสือใหญ่ได้คาบเด็กบุญเกิด
เข้าป่าไปนายทองดีตกใจตื่นจึงได้คว้ามีดปลายแหลมวิ่งตามเสือทันและ กระโดดกอดคอเสือ เสือจึงวางบุญเกิดและหันมาจะกัดทองดี ทองดีได้ใช้มีดปลายแหลมแทงเข้าในปากเสือแล้วโยกมีดอย่างแรง เสือได้รับความบาดเจ็บจึงวิ่งเข้าป่าไปทองดีได้ทำแคร่หามบุญเกิดไปพักอาศัยรักษาตัวอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองตาก
วันหนึ่งที่วัดมีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา มีงานรื่นเริงต่างๆ มีการ
ชกมวยด้วย ทองดีไม่มีคู่เปรียบมวยจึงขอต่อยคู่กับ ครูห้าวซึ่งเป็นครูมวยที่มีชื่อ
ของเมืองตาก พระครูที่วัดไม่เคยเห็นฝีมือในการชกของทองดีเกรงว่าถ้าแพ้
ก็จะเจ็บตัวเปล่าแต่ถ้าชนะก็จะถูกลูกศิษย์ของครูห้าวรังแกจนอยู่เมืองตากไม่ได้
จึงได้ตักเตือนและนายทองดีก็ได้ตรึกตรองดูก็เห็นว่าเป็นจริง จึงไม่ขึ้นชกมวย
ตามเวลาที่กำหนดไว้
ในวันนั้นพระยาตากได้ทราบข่าวการท้าต่อยมวยของคนแปลกหน้า
กับครูมวยเมืองตากจึงอยากดู และให้ไปตามนายทองมาสอบถามถึงเหตุผลที่
นายทองดีไม่ยอมขึ้นต่อยมวย เมื่อพระยาตากได้ทราบเหตุผลและได้รู้เรื่องการ
ต่อสู้กับเสือจนฆ่าเสือตายแล้วจึงรับรองว่าจะให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น นายทองดี
ได้ชกมวยและชนะครูห้าวด้วยการที่เตะขากรรไกรครูห้าวอย่างแรง เลือดไหล
ออกปาก ออกจมูก สลบทันที ต่อจากนั้นก็ได้มีครูมวยอีกผู้หนึ่งอาสาต่อยกับ
นายทองดีแต่สู้ไม่ได้ พระยาตากเห็นฝีมือของทองดีจึงให้รางวัล 5 ตำลึง และให้รับราชการอยู่กับท่านในเมืองตาก ส่วนเด็กบุญเกิดเรียนวิชาป้องกันตัวจากนายทองดีและได้เข้ารับราชการด้วย เมื่อนายทองดีอายุได้ 21 ปีได้อุปสมบท
เป็นเวลา 1 พรรษา สึกมารับราชการได้บรรดาศักดิ์เป็น “ หลวงพิชัยอาสา ”
และได้แต่งงานเป็นหลักเป็นฐานในเมืองตาก
พ.ศ.2309 พระยาตากและหลวงพิชัยอาสาได้สู้รบกับกองทัพพม่า เพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สามารถป้องกันเมืองไว้ได้ เพราะข้าราชการที่ในเมืองแตกความสามัคคีกัน พระยาตากรวบรวมผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อบ้านเมืองได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกมาได้ จึงเดินทางผ่านไปทาง ชลบุรี ศรีราชา ระยองและบุกเข้าตีเมืองจันทบุรี จึงพักอยู่ที่จันทบุรี 3 เดือน ทำการต่อเรือได้ 100 ลำ จึงยกกองทัพเรือมาตีกรุงธนบุรีได้สำเร็จและยกทัพไปขับไล่พม่าที่กรุงสรีอยุธยาแล้วกอบกู้เอกราชคืนจากพม่าได้ภายใน 7 เดือน
ต่อจากนั้นพระยาตากได้ถูกอัญเชิญให้เป็นเจ้ากรุงธนบุรีและพระองค์ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้หลวงพิชัยอาสาเป็น “พระยาสีหราชเดโช” ได้ออกศึกทำสงครามคู่กับพระองค์และตามเสด็จอย่างใกล้ชิดทุกครั้งทำการรบอย่างกล้าหาญ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็น “พระยาพิชัย” ไปปกครองเมืองหน้าด่านทางภาคเหนือคือเมืองพิชัย เพราะเป็นชาวพิชัยและทรงแต่งตั้งให้บุญเกิดเป็น “หมื่นหาญณรงค์”
เป็นทหารคนสนิทของพระยาพิชัย
เมื่อพระยาพิชัยเดินทางมาถึงที่เมืองพิชัยก็รีบไปหาบิดามารดา แต่บิดาได้เสียชีวิตไปแล้วจึงรับมารดาไปอยู่ด้วยที่บ้านเจ้าเมืองและได้นำข้าวของเงินทองไปให้ครูเที่ยงกับครูเมฆ พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นกำนันทั้งสองคน
ต่อมาพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยนำพลออกสู้รบกับพม่ากันอย่างชุลมุนและพระยาพิชัยได้เสียหลักล้มลง จึงเอาดาบยันดินไว้โดยแรงดาบจึงหักคามือ ส่วนหมื่นหาญณรงค์ได้ถูกกระสุนปืนทะลุอกตายคาที่ เมื่อพระยาพิชัยเห็นดังนั้นจึงโกรธพม่ามากได้ใช้ดาบดีและดาบหักไล่ฟันพม่าอย่างดุเดือดจนพม่าพ่ายแพ้ยับเยิน จากนั้นได้นำศพของหมื่นหาญณรงค์ไปจัดการศพอย่างสมเกียรติ
ตั้งแต่นั้นมาพงศาวดารก็ได้เรียกท่านว่า”พระยาพิชัยดาบหัก”และท่านได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 41 ปีในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ต่อมาบุตรหลานผู้สืบสกุลของท่านพระยาพิชัยดาบหักได้รับพระราชทานนามสกุลว่า
“วิชัยขัทคะ” ซึ่งนามสกุลนี้ยังมีอยู่เป็นอันมากในปัจจุบันนี้

ในปัจจุบันชาวเมืองอุตรดิตถ์ได้ระลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ
ผู้กล้าหาญท่านี้ จึงสร้างอนุสาวรียืท่านพ่อพระาพิชัยไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้ลูกหลาน ได้สักการะดวงวิญญาณของท่านตราบเช่นทุกวันนี้สืบต่อไป




โดย : นาง สุชาดา ชาบาง, บ้านหัวค่าย, วันที่ 27 เมษายน 2545