วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกทิ้งร้างไปนานจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บรมราชินี ทรงปฏิสังขรณ์ทรงปฏิสังขรณ์บำเพ็ญพระกุศลเป็นอันมากเรียบร้อยแล้วให้ฉลองสมโภช เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ และขนานนามว่า “วัดเขมา” ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ในวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ ได้เสด็จฉลองวัดเขมาภิรตาราม แล้วพระราชทานนามว่า “วัดเขมาภิรตาราม” ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ คือ พระตำหนักแดง อนุสรณ์กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระที่นั่งมูลมณเฑียร ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชอุทิศ ให้รื้อมาปลูกในวัดนี้

สถานภาพของวัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้น วรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๗๔ หมู่ที่ ๘ ถนนพิบูลสงคราม ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี อยู่ด้านใต้ตัวเมืองนนทบุรีริมฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ ๒๖ ไร่ ห่างจากสะพานพระราม ๗ ไปทางทิศเหนือตามถนนพิบูลสงครามประมาณ ๑.๗ กิโลเมตร
การเดินทาง : ทางน้ำ
จากท่าเรือด่วนหน้าหอนาฬิกาจังหวัดนนทบุรีถึงท่าน้ำวัดเขมาฯใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที จากท่าเรือด่วนท่าพระอาทิตย์ใกล้สนามหลวง ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯใช้เวลาประมาณ ๓๕ นาที วัดอยู่ริมฝั่งตะวันออก
การเดินทาง : ทางบก
จากหอนาฬิกาจังหวัดนนทบุรีประมาณ ๑.๕ กม. จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ใกล้สะพานพระราม ๗ ถนนพิบูลสงคราม ประมาณ ๑.๒ กม. จากสนามหลวงประมาณ ๑๐ กม.






2
บริเวณวัดและสถานที่ใกล้เคียง

ทิศตะวันออก จรดโรงเรียนสตรีนนทบุรี
ทิศเหนือ จรดโรงเรียนกลาโหมอุทิศ และโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ถึงถนนพิบูลสงคราม
ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันออก
ทิศใต้ จรดวัดพลับพลา เลียบไปตามคูคั่นรอบวัด

ประวัติความเป็นมา

เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสมัยอยุธยา ต่อมาแผ่นดินพระเจ้าอู่ทอง เดิมเรียกสั้นๆ “วัดเขมา” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ชาวเขมร มาสร้างไว้ และเอานามเขมรมาตั้งชื่อ คำว่า เขมาหรือเขมะหรือเขมะรัฐ แปลว่า เขมรนั่นเอง วัดเขมาอายุนานมากกว่า ๕๐๐ปี พระเจ้าอู่ทอง(พระรามาธิบดีที่ ๑) ทรงปฏิสังขรณ์ จึงเป็นที่สำคัญขึ้นคือเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ ยังทรงอุปถัมภ์และสังกัดในบัญชีกฐินหลวงของวังหน้า (กรมพระราชวังบวรฯ) มาจนถึงรัชกาลที่ ๒ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ว่าวัดเขมาเป็นวัดใหญ่ ทรงขอมาอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้ทรงปฏิสังขรณ์จนสำเร็จ ให้ข้าฯในกรมขุดรากฐานพระอุโบสถขยายออกไปให้กว้างและถมพื้นพระอุโบสถให้สูงขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและกรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้ก่อพระประธานสวมองค์เก่าบูรณะพระพุทธรูปทั้งหมดก่อกำแพงสร้างศาลาการเปรียญเรียบร้อยแล้วบำเพ็ญกุศลสมโภช เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก
๑๑๙๐ (พ.ศ. ๒๓๗๑)
ต่อมาปีกุน ตรีศก ๑๒๑๓(พ.ศ.๒๓๙๔)รัชกาลที่ ๔ ทรงรับสั่งให้ปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ขุดคูรอบวัด สร้างพระอสีติมหาสาวกล้อมพระประธาน สมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีกเมื่อสิ้นรัชกาลก็ขาดตอนลง การบูรณะปฏิสังขรณ์ ทำตามกำลังความสามารถของบรรดาเจ้าอาวาส และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

3
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัดเขมาภิรตาราม

รูปพระมหาเจดีย์



รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯให้สร้างเมื่อ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๙๗ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถแบบศิลปอยุธยาภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๓ องค์ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พระมหาเจดีย์สูง ๓๐ เมตร แล้วโปรดเกล้าให้มีการจัดงานฉลองในวันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ ต่อมาได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ ส่วนยอดพระมหาเจดีย์ได้หักลงมาถึงปล่องไฉนเมื่อซ่อมเสร็จเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๖ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์(ชื่น นพวงศ์) ทรงดำริจัดให้มีการสมโภชเป็นงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำทุกปีก่อนวันมาฆะบูชา จะจัดงานก่อนวันมาฆะบูชาสักกี่วันก็ได้ แต่จะสิ้นสุดในวันมาฆะบูชา ซึ่งในปีนี้ (๒๕๔๔) จัดเป็นปีที่ ๔๘


รูปพระมหาเจดีย์ มีพระอัคคีย์เจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ








ในชั้นเดิมกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ได้ทรงสร้างเจดีย์ ๔ องค์มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ ต่อมาได้เลื่อนพระเจดีย์จากมุมพระอุโบสถทั้ง ๔ องค์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ และถูกรื้อออกหมดทั้ง ๔ องค์ เมื่อปี ๒๔๙๕ โดยกรมศิลปากร

รูปพระอัคคีย์เจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ


รูปพระประธานในพระอุโบสถ ๒ องค์
สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ทรงสร้างพระประธานครอบองค์เก่าที่ดั้งเดิมเป็นทองคำใน พ.ศ. ๒๓๗๑
พระประธานองค์ที่ ๑ พระเพลา ๒.๙๐ เมตร สูงตลอดพระรัศมี ๔ เมตร





รูปพระประธานองค์ที่ ๒
พระประธานองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปโลหะ อัญเชิญจากวังจันทรเกษม จังหวัดอยุธยา มาประดิษฐานเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑ พระเพลา ๗๔ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๑๐๙ เซนติเมตร พระนามว่า
รูปพระอินทร์แปลง
พระนิรันตราย พระเพลา ๒๘ เซนติเมตร สูงตลอดพระรัศมี ๓๑ เซนติเมตร ถูกโจรกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓


รูปพระประธานพร้อมอสีติมหาสาวกพระอรหันต์ทั้ง ๘๐ รูปในพระอุโบสถ




รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระอสีติมหาสาวก รอบพระประธาน ๘๐ รูป มีชื่อแต่ละองค์สลักปรากฏอยู่ที่ฐานอาสนะ







ภาพเขียนเทพชุมนุมแบบไทยมีขบวนเทวดา นางฟ้า วงมโหรี รูปกระถางต้นไม้แบบจีน และช่อดอกไม้ลวดลายแบบตะวันตก รอบผนังพระอุโบสถ



รูปพระศรีอาริย์
พระศรีอาริย์ ประดิษฐานด้านหลังพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปหมดทุกส่วน ขาดแต่ไม่มีพระรัศมีบนพระเศียร ซึ่งการไม่มีพระรัศมีบนพระเศียรเช่นนี้ บางคนสันนิษฐานว่ารูปพระศรีอาริย์ ซึ่งจะอยู่รวมกับสาวกไม่ได้ ต้องประดิษฐานไว้ข้างนอก พระธรรมรัชมงคล(หลวงปู่จับ อุคฺคเสโน) อดีตเจ้าอาวาส เข้าใจว่าข้อสันนิษฐานอันนี้ผิด เพราะแบบช่างไทยไม่ทำพระศรีอาริย์เป็นรูปพระ ต้องทำเป็นรูปเทวดา เพราะถือกันว่า พระศรีอาริย์ ยังเสวยทิพย์อยู่บนสวรรค์ ยังไม่ได้เป็นพระ (ตะละปัดในภาพถูกโจรกรรมเมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔)



รูปกำแพงแก้วหน้าบันเสาหาน (เสาระเบียงรอบพระอุโบสถ)




รูปประตูกำแพงหน้าพระอุโบสถ
แต่เดิมมีศาลานอกแนวกำแพงหน้าพระอุโบสถ เรียกว่า “ศาลาดิน” ใช้เป็นที่เรียนหนังสือชั้นเด็กเล็กสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี 3 สมัยใช้เรียน พอชั้นเด็กโตก็ไปเรียนพระที่นั่งมูลมณเฑียร ตามคำบอกเล่าของท่านนายกเอง (*ท่านพระครูพ้อง เขมจารี(พระครูสังวราภิรม) ต่อมากรมศิลปากรรื้อเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕
ผังบริเวณหน้าพระอุโบสถเดิมทางซ้ายเป็นหอระฆังเก่าหน้ากำแพงพระอุโบสถมีศาลาดินอยู่ข้างซ้ายและขวาประตูกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถปัจจุบัน ศาลาดินรื้อออกแล้ว









รูปหอระฆังในปัจจุบัน


รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระวิหารน้อย ๒ หลังที่มุมกำแพงด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นที่เก็บพระพุทธรูป
มีเสมาคู่ หมายถึงได้เป็นวัดในนิกายธรรมยุต





ศาลา ๔ หลัง ๔ มุมพระอุโบสถ


รูปพระตำหนักแดง
รัชกาลที่ ๔ ทรงให้ย้ายมาเพื่อเป็นอนุสรณ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ตำหนักแดง เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(พระราชมารดา) ถูกรื้อย้ายมา ๓ ครั้ง ครั้งแรกย้ายไปพระราชวังเดิม ครั้งสองย้ายไปถวายวัดโมฬีโลก ครั้งสามย้ายมาเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม ลักษณะเป็นเรือนไม้สักทั้งหลังแบบเรือนฝากระดาน มีอายุมากกว่า ๑๖๐ ปี ปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณะ มีขนาดเท่าเดิม ยกใต้ถุนสูงระหว่างวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ ใช้บริเวณใต้ถุนพระตำหนักเป็นที่ตักบาตรทุกวันธรรมสวนะ




สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ แทนศาลาการเปรียญไม้หลังเก่าของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตั้งอยู่นอกกำแพงหน้าพระอุโบสถเยื้องไปทางซ้ายมือบริเวณริมแม่น้ำ ใช้แสดงพระธรรมเทศนาและทำบุญตักบาตรในวันธรรมสวนะปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก






รูปศาลาทางเดินผ่านระหว่างกุฏิพระกับพระอุโบสถ ซึ่งใกล้กับบ่อเต่า


รูปพระที่นั่งมูลมณเฑียร
รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งมูลมณเฑียร จากพระบรมมหาราชวัง (เดิมเป็นตำหนักไม้)ย้ายมาปลูกเป็นตึกไว้ ณ วัดเขมาภิรตาราม ทรงพระราชอุทิศเป็นที่เรียนชั้นเด็กโตจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ต่อมาใช้เป็นห้องสมุดประชาชนเมื่อห้องสมุดประชาชนย้ายไปอยู่ที่หลังพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี พระตำหนักจึงใช้เป็นห้องสมุดและห้องเรียนของโรงเรียนกลาโหมอุทิศชั่วคราว ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอซ่อมจากกรมศิลปากร


รูปกุฏิไม้สักทรงไทย ใต้ถุนสูง

๑๐

รายพระนามคณะเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ ไม่มีเอกสารบันทึกไว้ จึงลำดับได้จากเอกสารในรัชกาลที่ ๔
๑. พระเขมาภิมุขธรรม ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๗-๒๔๐๖ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๙ ปี
๒. พระเขมาภิมุขธรรม (ศรี) ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๒๒ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๑๖ ปี
๓. พระครูเขมาภิมุขธรรม (อิ่ม) พ.ศ. ๒๔๒๒-๒๔๒๗ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๕ ปี
๔. พระอริยกวี (อ่อน) พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๔๓๓ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๖ ปี
๕. พระครูสถิตธรรมสโมธาน (สอน) พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๔๑ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๘ ปี
๖. พระวินัยรักขิต (คง) พ.ศ. ๒๔๔๓-๒๔๖๓ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๒๐ ปี ผู้สร้างโรงเรียนวัดเขมาฯ ย้ายไปวัดเขาราม จังหวัดสงขลา
๗. พระเขมาภิมุขธรรม (นวล) พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๗๗ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๑๓ ปี
๘. พระเขมาภิมุขธรรม (เกตุ เกสโร) พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๐๙ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๓๓ ปี
๙. พระธรรมรัชมงคล (จับ อุคฺคเสโน) ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๔๑ เป็นเจ้าอาวาสนาน ๓๒ ปี
๑๐. พระสุเมธีธรรมภาณ (ละเอียด สลฺเลโข) ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ - ปัจจุบัน

การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นระยะๆ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ จนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น
พ.ศ. ๒๔๗๘ สร้างศาลาเฉลยอนุสรณ์ ๑ หลัง
พ.ศ. ๒๔๘๑ สร้างโรงเรียนวัดเขมา (ซื้อที่ดินเพิ่มด้านทิศเหนือเพื่อขยายโรงเรียน ปัจจุบันเป็น ๒ โรงเรียนคือ
โรงเรียนกลาโหมอุทิศ สอนชั้นเด็กเล็ก อนุบาล-ป.6 ขึ้นกับ สปช. โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม
สอนชั้นเด็กโต ม.1-6 ขึ้นกับกรมสามัญศึกษา)
พ.ศ. ๒๔๘๒ ย้ายศาลาเล็กข้างตำหนักแดงมาปลูกในพื้นที่ให้เรียงเข้าแถวกับกุฏิหลังอื่นๆ
พ.ศ. ๒๔๙๕ บูรณะพระมหาเจดีย์ ลานพระเจดีย์ กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ พระวิหารเล็ก ๒ หลัง
ศาลาดิน หน้าพระอุโบสถ ๒ หลัง พระที่นั่งมูลมณเฑียร ถนนพื้นลานหน้าพระอุโบสถ
พ.ศ. ๒๔๙๖ ซ่อมแซมศาลาการเปรียญ
พ.ศ. ๒๔๙๗ ดัดแปลงพระที่นั่งมูลมณเฑียรเป็นหอสมุดประชาชน
พ.ศ. ๒๕๐๕ รื้อหอระฆังเก่าที่หน้าพระอุโบสถนอกกำแพงด้านซ้ายซึ่งชำรุดแล้วสร้างใหม่ที่ริมสระเต่าข้าง
พระตำหนักแดง
พ.ศ. ๒๕๐๙ รื้อกุฏิไม้สัก เปลี่ยนแปลงปลูกใหม่เป็นกุฏิทรงไทยชั้นเดียว และซ่อมสร้างถนนหลายสายในบริเวณวัด
พ.ศ. ๒๕๑๑ บูรณะกุฏิไม้สักทรงไทย เปลี่ยนใหม่เป็นชั้นเดียวใต้ถุนสูง
พ.ศ. ๒๕๔๐ บูรณะพระตำหนักแดง ยกใต้ถุนสูง ซ่อมภาพเขียนในพระอุโบสถ

11

บรรณานุกรม

สุภาพร สาวิชชโก วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร 2542 เอกสารประกอบการสอน
ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ ที่ระลึกในงานพระกฐินพระราชทาน
กองทัพบก ณ วัดเขมาภิรตาราม 17 พฤศจิกายน 2531 โรงพิมพ์กองทัพบก กรุงเทพมหานคร.
ที่ระลึกในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดเขมาภิรตาราม พฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2528 โรงพิมพ์จุฑารัตน์การพิมพ์ กรุงเทพมหานคร.
พระเทพญาณกวี (จับ อุคฺคเสโน) พระมหาเจดีย์ วัดเขมาภิรตาราม อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี.
พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ประวัติวัดเขมาภิรตาราม ๒๕๑๔.
สารเขมาภิรตาราม วารสารเพื่อการศึกษาประชาสัมพันธ์โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 สิงหาคม-ตุลาคม 2542 นนทบุรี.



ที่มา : สุภาพร สาวิชชโก วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร 2542 เอกสารประกอบการสอนความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ ที่ระลึกในงานพระกฐินพระราชทาน

โดย : อาจารย์ เกษมศักดิ์ เริงโกสุม, รร.วัดเขมาภิรตาราม ถ.พิบูลสงคราม ต.สวนใหญ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000, วันที่ 14 มิถุนายน 2545