พระยาพิชัยดาบหัก


พระยาพิชัยดาบหัก

ผู้แต่ง คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ
ลักษณะคำประพันธ์ แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้ว ประเภทสารคดีแนวชีวประวัติ
ที่มาของเรื่อง คัดมาจากหนังสือ “บุคคลในประวัติศาสตร์ไทยและโบราณคดีไทย”
จุดมุ่งหมายในการแต่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงชีวิตของวีรบุรุษไทยที่มีคุณธรรมอันควรเป็นตัวอย่าง
ในด้านความกล้าหาญ ความกตัญญูกตเวที และการฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ
ในชีวิต
เนื้อเรื่องย่อ
เด็กชายจ้อย เป็นลูกชาวนาเมืองพิชัย (ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์) เกิดในสมัยปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จ้อยเป็นคนกล้าหาญ โอบอ้อมอารี และเป็นที่รักใคร่ของเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน คุณสมบัติที่เด่นของจ้อยคือต่อยมวยเก่ง เมื่อจ้อยมีอายุพอสมควรแก่วัยเรียนหนังสือ บิดาของจ้อยได้พาจ้อยไปฝากให้เรียนหนังสือกับท่านพระครูที่วัดมหาธาตุเมืองพิชัยต่อมาจ้อยเกิดมีเรื่องวิวาท และถูกกลั่นแกล้งจากเด็กวัดเก่าที่พ่อแม่นำมาฝากให้เรียนหนังสืออยู่ที่วัดแห่งนี้ แต่จ้อยก็ได้แสดงฝีมือมวยให้พวกเด็กวัดเก่าได้เห็น และไม่กล้ามารังแกจ้อยอีก จ้อยเป็นเด็กที่มีสติปัญญาดีและมีความขยันหมั่นเพียร เมื่อมีเวลาว่างจากการเรียนและการดูแลท่านพระครูแล้วจ้อยก็ฝึกซ้อมมวยจนเกิดความชำนาญมากขึ้นเป็นลำดับโดยที่ไม่เคยได้เล่าเรียนวิชามวยจากครูมวยคนใดมาก่อน จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่งเจ้าเมืองได้นำบุตรชายชื่อคุณเฉิดมาฝากเรียนหนังสือกับท่านพระครูที่วัด เด็กวัดเก่าได้พากันประจบลูกชายเจ้าเมืองและพยายามจะลบล้างความเก่งกล้าของจ้อย โดยยุยงให้คุณเฉิดกับจ้อยมีเรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดจ้อยต้องหนีออกจากวัดมหาธาตุ มุ่งเดินทางไปตายเอาดาบหน้า โดยมีจุดหมายปลายทางคือจะไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูมวยที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคือ “ครูเมฆ” จ้อยเดินทางไปเรื่อย ๆ ตกค่ำก็ขออาศัยหลับนอนที่วัด ต่อมาจ้อยได้พบกับครูเที่ยงซึ่งเป็นครูมวยได้นำนักมวยมาฝึกซ้อมที่วัดที่จ้อยไปพักค้างคืน จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ และโกหกครูเที่ยงว่าตนชื่อ “ทองดี” เพราะเกรงว่าถ้าบอกชื่อจริงแล้วจะถูกจับตัวกลับไปลงโทษ ทองดีได้ร่ำเรียนวิชามวยจากครูเที่ยงเป็นเวลา 1 ปี จนมีความชำนาญ จึงทำให้ศิษย์เก่าของครูเที่ยงเกิดความอิจฉาหาเรื่องกลั่นแกล้ง จนทองดีทนไม่ไหวต้องใช้กำลังปราบในที่สุดพวกนั้นก็เลิกรังแกไปเอง ทองดีมีลักษณะพิเศษที่แปลกกว่าชายหนุ่มในสมัยนั้น คือฟันขาว เพราะไม่กินหมาก จึงได้ชื่อว่า “นายทองดีฟันขาว” ทองดีรำคาญที่จะมีเรื่องกับลูกศิษย์ของครูเที่ยงอีก จึงลาครูเที่ยงเพื่อจะไปศึกษาวิชามวยกับครูเมฆที่ท่าเสาตามความตั้งใจเดิม บังเอิญมีพระจากวัดบ้านแก่งจะเดินทางไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์และได้ชวนนายทองดีไปเที่ยวงานด้วย นายทองดีได้ดูงิ้วที่มาแสดงที่ศาลเจ้าใกล้ ๆ กับวัดเกิดชอบใจท่ากายกรรมตีลังกาของงิ้วจึงได้แอบหัดเลียนแบบจนเกิดความชำนาญ แล้วได้เดินทางต่อไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆที่ท่าเสาตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรกนายทองดีฝึกฝนมวยกับครูเมฆจนก่งและเกิดความชำนาญจึงเริ่มชกมวยอาชีพจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปหลายเมือง ต่อมานายทองดีได้พบกับพระภิกษุจากสวรรคโลกและชวนสวรรคโลกเพื่อไปเรียนฟันดาบนายทองดีก็ได้ติดตามไปด้วย เมื่อเรียนวิชาฟันดาบสำเร็จแล้ว นายทองดีได้เดินทางไปเที่ยวที่สุโขทัยกับพระภิกษุรูปเดิมได้พบกับครูมวยจีน และได้เรียนวิชามวยจีนจนสำเร็จภายในเวลา 1 เดือน นายทองดีอยู่ที่สุโขทัยมีคนรักใคร่มาก ต่อมามีเด็กกำพร้าชื่อบุญเกิดมาอยู่ด้วยเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ต่อมาบังเอิญมีพ่อค้าชาวจีนจากเมืองตากมาสุโขทัย แต่ยังหาเพื่อนเดินทางกลับไม่ได้ จึงชวนให้นายทองดีเป็นเพื่อนเดินทางไปที่เมืองตากด้วย ระหว่างการเดินทางนายทองดีได้แสดงความกล้าหาญต่อสู้กับเสือเพื่อช่วยชีวิตเด็กบุญเกิดศิษย์ของตนไว้ ที่เมืองตากนายทองดีได้รู้จักกับพระยาตากในงานรื่นเริงเนื่องในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระยาตากพอใจในการใช้ท่าต่อสู้ที่พลิกแพลงด้วยไหวพริบของนายทองดี จนสามารถเอาชนะครูมวยที่ชื่อห้าวได้ พระยาตากสนับสนุนให้นายทองดีเข้ารับราชการจนได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิชัยอาสา ต่อมาในปี พ.ศ.2301 เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหลวงพิชัยอาสามีโอกาสติดตามพระยาตากไปทำสงครามด้วยความกล้าหาญ จนเมื่อพระยาตากขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ จึงโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็น
พระยาสีหราชเดโชและพระยาพิชัยตามลำดับและทรงมอบหน้าที่ ให้คุมทหาร 9,000 คน มารักษาการเมืองพิชัยและมอบอำนาจให้ประหารชีวิตคนได้ และแต่งตั้งให้เด็กบุญเกิดเป็นหมื่นหาญณรงค์ เมื่อไปอยู่เมืองพิชัย พระยาพิชัยได้แสดงความกตัญญูโดยอุปการะเลี้ยงดูมารดาตนเป็นอย่างดี และนำข้าวของเงินทองไปตอบแทนพระคุณครูมวยทั้ง 2 คน พร้อมทั้งแต่งตั้งให้เป็นกำนัน ในปีนั้นพม่าได้ยกทัพมาตีเมืองสำคัญทางภาคเหนือตามความคาดหมายของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระยาพิชัยและหมื่นหาญณรงค์ เข้าต่อสู้ศึกด้วยความสามารถ และหมื่นหาญณรงค์ต้องถูกฟันเสียชีวิตเนื่องจากเอาตัวเข้าป้องกันพระยาพิชัยไว้ พระยาพิชัยตกใจและโกรธพม่ามากจึงได้ใช้ดาบไล่ฆ่าฟันพม่าจนดาบหัก แต่ก็ยังคงใช้ทั้งดาบดีและดาบที่หักรุกไล่ฆ่าฟันพม่าจนแตกพ่ายไป ตั้งแต่นั้นมาพงศาวดารก็เรียกท่านว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” ภายหลังเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จสวรรคตแล้ว พระยาพิชัยก็ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ แต่บุตรหลานของท่านยังคงรับราชการในราชวงศ์จักรีสืบมาด้วยความจงรักภักดี จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ผู้ที่สืบเชื้อสายของท่านก็ได้รับ
พระราชทานนามสกุลว่า “วิชัยขัทคะ”






โดย : นาง พร้อมพร ไตรศิวะกุล, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 21 มิถุนายน 2545