ลีลาในวรรณคดีไทย



การเรียนวรรณคดีไทย ผู้อ่านจะเข้าถึงรสวรรณคดีคือเข้าใจเนื้อเรื่องและอารมณ์ของตัวละครได้อย่างถ่องแท้นั้น ผู้อ่านควรจะต้องรู้ถึงลีลาในวรรณคดีไทยที่ผู้ประพันธ์เลือกใช้ในการถ่ายทอดเรื่องราวและอารมณ์ต่างๆผ่านมาทางตัวละครด้วย
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างลีลาในวรรณคดีจากหนังสือแบบเรียนวิชาภาษาไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และจากสำนวนที่คุ้นเคยกันดี
ลีลาในวรรณคดีไทยมี๔ประเภท คือ
๑. เสาวรจนี หมายถึงการชมความงาม อาจเป็นชมความงามของตัวละครทั้งายและหญิง ชมความงามของบ้านเมือง กองทัพ ป่าธรรมชาติ ต้นไม้ ลำธาร ฯลฯ
เช่น มืดสิ้นแสงเทียนประทีปส่อง ก็ผ่องแสงจันทร์กระจ่างสว่างส่ง
บุปผชาติสาดเกสรขจรลง บุษบงเบิกแบ่งระบัดบาน
เรณูนวลหวนหอมมารวยริน พระพายพัดประทิ่นกลิ่นหวาน
เฉื่อยฉิวปลิวรสสุมามาลย์ ประสานสอดกอดหลับระงับไป
(ขุนช้างขุนแผน)

ร่มรื่นพื้นพรรณบุปผา สะอาดตาช่อชูดูไสว
ขุนแผนชักม้าคลาไคล บัดใจถึงเขาธรรมเธียร
ที่เชิงเขาเหล่าพรรณมิ่งไม้ ลมพัดกวัดไกวอยู่หันหียน
รกฟ้าขานางยางตะเคียน กันเกราตระเบาตระเบียนแลชิงชัน
(ขุนช้างขุนแผน)

๒.นารีปราโมทย์ หมายถึง อารมณ์ที่แสดงถึงความรักตั้งแต่ชื่นชม ชื่นชอบ เกี้ยวพาราสี รักใคร่ ฯลฯ (ภาษาวัยรุ่นบอกว่าจีบกัน)
เช่น ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน
แม้นเกิดในใต้หล้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสทุกชาติไป
(พระอภัยมณี)

๓.พิโรธวาทัง หมายถึง การแสดงอารมณ์ ฉุนเฉียว ประชดประชัน โกรธเคือง โกรธแค้น ทะเลาะทุ่มเถียง ฯลฯ
เช่น แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ (ลิลิตตะเลงพ่าย)

๔. สัลลาปังคพิสัย หมายถึง การแสดงความเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้คร่ำครวญ
เช่น
เราสองคนจนใจไร้ที่อยู่ เปลอู่ขัดขวางเพราะห่างบ้าน
หยูกยาสารพัดจะกันดาร ที่นอนหมอนมุ้งม่านก็ไม่มี
ยังส่วนลูกฟูกเมาะก็ขาดครบ พี่ปรารภลูกน้อยจะหมองศรี
จะกรำฝนทนแดดทั้งตาปี เรานี้อดอยากอยู่เท่าใด
ยังลูกอ่อนก็จะอ้อนแต่อาหาร น่ารำคาญคิดมาน้ำตาไหล
ทั้งผัวเมียแสนอนาถเพียงขาดใจ สุดอาลัยแล้วก็กอดกันโศกา
(ขุนช้างขุนแผน)

เป็นอย่างไรบ้าง ลีลาในวรรณคดีไม่ใช่เรื่องยากเลยใช่ไหม ขอเพียงแต่ให้ผู้อ่านฝึกวิเคราะห์พินิจพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก็จะทำให้การอ่านวรรณคดีของเรา "ออกรส" ตามที่ผู้เขียนได้แสดงไว้
















โดย : นาง อภิวัน นันตา, ร.ร.ยานนาเวศวิทยาคม, วันที่ 22 มีนาคม 2545