กลยุทธ์การสอนอ่านไทย(ตอนที่1)

ตอนที่ 1: หลักการสอนพยัญชนะ
ในระยะเริ่มต้นของการสอนอ่านไทย หากเด็กยังไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพยัญชนะ ควรเริ่มสอนพยัญชนะเพียง 28 ( หรือไม่เกิน 30 ) ตัว เท่านั้น โดยสอนคราวละ 1-2 ตัว เรียงลำดับจากพยัญชนะที่มีรูปไม่ซับซ้อน ไปหารูปที่ค่อนข้างยาก และตัวที่มีรูปร่างคล้ายๆกันควรสอนต่อเนื่องกัน ตัวอย่างเช่น เริ่มจาก ง , บ-ป , พ-ฟ, ท, ว, ร, ก-ถ, อ-ฮ, ย, จ, ม, น-ฉ, ด-ต, ค-(ศ), ล-ส, ข-ช, (ฃ)-ซ, ผ-ฝ, ห เป็นต้น แต่ไม่มีความจำเป็นต้องสอนจนครบทั้ง 44 ตัว ก่อนเริ่มการสอนสะกดคำ เพราะนอกจากจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่งแล้ว เด็กยังอาจเกิดความสับสนขึ้นเนื่องจากรูปพยัญชนะที่ค่อนข้างยาก ประกอบกับเสียงที่ซ้ำๆกัน เช่น ด-ฎ อีกด้วย
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก่อนการสอนสะกดคำ คือ การให้เด็กสามารถออกเฉพาะเสียงโดยไม่ออกชื่อของพยัญชนะ เช่น ตัว "ต" เด็กต้องฝึกออกเฉพาะเสียง "ตอ" โดยไม่เรียกว่า " ตอ - เต่า " เพราะการเรียกทั้งชื่อและเสียงของพยัญชนะควบคู่กันจะเป็นอุปสรรคในการฝึกสะกดคำ


โดย : นางสาว ศิริพร สิริยากุล, ร.ร.วัดบางเตย, วันที่ 8 พฤษภาคม 2545