กลยุทธ์ในการเขียนกลอน(1)

"เสียงท้ายวรรค"

เราจะเห็นได้ว่าดนตรีบางชนิด ก่อนเล่นจะต้องเทียบเสียงเพื่อหาระดับของเสียงให้ฟังไพเราะ กลมกลืน ถ้าขาดการเทียบเสียงอาจจะทำให้เสียงเพี้ยน ผู้ฟังจะรำคราญมากกว่าความไพเราะ ดังนั้นในการเขียนกลอนก็เช่นกัน จึงจะต้องมีการกำหนดเสียงว่า วรรคนั้นจะต้องใช้เสียงนี้ วรรคนี้จะต้องใช้เสียงนั้น
คำท้ายวรรค จะเป็นคำสุดท้ายของวรรคทุกวรรคซึ่งจะต้องกำหนดให้ใช้เสียงวรรณยุกต์เข้ามาช่วย

การใช้เสียงท้ายวรรคของกลอนแปด *
วรรคที่ ๑ ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่นิยมเสียงสามัญ
วรรคที่ ๒ ใช้ เสียงเอก โท จัตวา (ห้ามใช้เสียงสามัญ ตรี )
วรรคที่ ๓ ใช้เสียงสามัญ ตรี (ห้ามเสียงเอก โท จัตวา)
วรรคที่ ๔ เหมือนวรรคที่ ๓

มีหนังสือบางเล่มได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า**
วรรคที่ ๑ ห้ามใช้เสียงสามัญเพียงเสียงเดียว
วรรคที่ ๒ ห้ามใช้เสียงสามัญ และเสียงตรี
แต่เสียงคู่นี้ให้ไปใช้ในวรรคที่ ๓ และวรรคที่ ๔ได้
ถ้าต้องการเขียนกลอนให้ได้ดีต้องจำสูตรการเขียนดังนี้

" เสียงสามัญห้ามใช้ในวรรคหนึ่ง
แต่พอถึงวรรคสองเสียงต้องห้าม
คือสามัญกับตรีนี้ไม่งาม
พอวรรคสามและสี่ ตรี-สามัญ"
หมายความว่า เสียงที่ห้ามในวรรคที่สองให้ใช้ได้ในวรรคที่สามและสี่
ดังนั้นในการเขียนกลอนแปดจะต้องรู้ว่า"หัวใจของกลอนแปดอยู่ที่ เสียงท้ายวรรค" ซึ่งมักจะเกิดความผิดพลาดบ่อย
.............................................................................................................................................................
* เอกสารประกอบการอบรมการเขียนกลอน. ของมิ่งขวัญ/F. ร้อยกรอง หน้า ๑๘
** จากหนังสือคู่มือเรียนเขียนกลอน ของ ยุทธ์ โตอดิเทพย์และสุธีร์ พุ่มกุมาร หน้า ๕๕




โดย : นางสาว ดวงกมล ลีลางามสุวรรณ, โรงเรียนวัดเศวตฉัตร, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545