กลยุทธ์ในการเขียนกลอน (2)

การเขียนกลอนได้ดีจะต้องไม่ลืมกฎข้อบังคับต่างๆ หรือลักษณะเฉพาะของกลอนประเภทนั้นๆ และการฝึกฝนในการเขียนบ่อยๆให้เกิดความชำนาญ บทกลอนที่เขียนก็จะมีคุณค่า น่าอ่านมากขึ้น

ข้อควรระวังในการเขียนกลอน

1. ต้องมีสัมผัสระหว่างบท
..................................................... สัมผัสรับระหว่างบทพึงจด(จำ)...(ท้ายวรรค ๔ บทต้น)
หากไม่มีถือว่าอ่อนเขียนกลอนผิด.......จงตรองคิดรู้ค่าอย่า(ถลำ)..........(ท้ายวรรค ๒ บทถัดไป)

2. อย่าใช้สัมผัสนอกซ้ำ
จงระวังถ้อยคำซ้ำอักษร....................ถ้ารีบร้อนจะทำให้กลอนไร้(ค่า)
แม้ความดีก็เสียรสหมดราคา............จงทราบ(ค่า)ใช้คำซ้ำไม่ดี

3. อย่าใช้เสียงสั้น-ยาว รับสัมผัสนอก
สัมผัสนอกโปรดดูให้รู้ชัด ................วรรคสองรับสัมผัสว่าอย่า(เผลอไผล)
แล้ววรรคสามลงคำว่า(ทำลาย).........(ไอ)กับ(อาย)ผิดสัมผัสบัญญัติกลอน

4. อย่าใช้เสียงท้ายวรรคผิด
กลอนที่ดีพึงใส่ใจการใช้เสียง............ท้ายวรรคเสียงถ้อยคำพึงจำ(ไว้)
อย่าพลั้งเผลอสะเพร่าเอาใจ(ใส่)........กลอนจะไม่ด้อยค่าถ้าระวัง

5. ระวังสัมผัสเลือน ชิงสัมผัส
กลอนจะจืดชืดกร่อยด้อยความชัด......ถ้าสัม(ผัส)ใน(ถัด)ฟัง(ขัด)หู
ไม่งด(งาม)ห้าหรือ(สาม)ตามคำครู...ลองอ่าน(ดู)จัก(รู้)ทุก(ผู้)เอย

6. พิถี พิถัน การขึ้นต้นและลงท้าย
กลอนจะชักจูงใจชวนให้อ่าน.............ถ้าวางฐานได้ไพเราะและเหมาะสม
กลอนจะเด่นคุณค่าซึ้งอารมณ์...........ถ้าคำคมมีครบตอนจบความ

7. ลักษณะที่ดีพร้อม
กลอนจะดีอยู่ที่เรื่องเป็นเบื้องแรก......ความคิดแปลกโวหารคมสมสมัย
เสียงรื่นหูตรูอรรถสัมผัสใน..............เก็บความไว้ได้หนักในวรรคเดียว

...........................................................................................................
(จากเอกสารการอบรมการเขียนกลอน ของ สโมสรยุวกวี ชมรมเทพศรีกวีศิลป์)


โดย : นางสาว ดวงกมล ลีลางามสุวรรณ, โรงเรียนวัดเศวตฉัตร, วันที่ 27 พฤษภาคม 2545