อ่านอังกฤษแล้วไม่เข้าใจ ภาค 2


กรุณาอ่าน "อ่านบทความอังกฤษแล้วไม่เข้าใจ ทำไงดี (ภาค 1)" ซึ่งอยู่ด้านล่างครับ (ถัดลงไป 4 หัวข้อครับ) ก่อนอ่านบทความนี้


"คือแบบว่าการอ่านแบบนั้น [การใช้ใจอ่าน] คงต้องเป็นคนที่คล่องภาษาแล้วไม่ใช่เหรอครับ บางคำยังไม่รู้เลยว่ามันออกเสียงยังไง จำรูปเอาแล้วเข้าใจความหมายเลยหรือครับ"

ปัญหาอาจจะอยู่ที่คุณอ่านบทความที่ยากเกินไปครับ เลยอยากจะแนะนำว่าให้ “อ่านบทความง่ายๆ ก่อน” ครับ จะได้ไม่ท้อ (กำลังใจเนี่ย เป็นเรื่องสำคัญของการเรียนรู้ ) เมื่ออ่านจบแล้ว พยายามทำความเข้าใจโดยการไม่ต้องไปสนใจคำศัพท์ที่ไม่รู้ ถ้า




1. ยังไม่เข้าใจ - ก็กลับไปที่บทความ แล้วลองเดาความหมายจากปริบท (context) ถ้าไม่สามารถเดาได้ก็เปิด dic หาศัพท์คำที่ไม่รู้ แล้วกลับไปอ่านใหม่ดู หลังจากเรารู้คำศัพท์แล้วเราเข้าใจหรือเปล่า

2. เข้าใจ - ก็กลับไปที่บทความ แล้วลองเดาความหมายจากปริบท (context) ถ้าไม่สามารถเดาได้ก็เปิด dic หาศัพท์คำที่ไม่รู้

เน้นว่าขอให้อ่านจบแล้วนะครับ เพราะว่าคุณต้องแยกการอ่าน กับ การหาความหมายของคำศัพท์ เป็นสองกระบวนการ (พยายามแบ่งมันเป็น 2 กระบวนการ ก็คือมันมี 2 จุดประสงค์นั้นเอง 1. อ่านเพื่อจับความ 2. เพื่อคำศัพท์ ต้องแยกให้ออกครับ)

"รู้สึกดีขึ้นตรงที่บอกว่าคำบางคำไม่ต้องไปสนใจมัน"

ตรงนี้โดย “ส่วนตัว” ผมไม่ค่อยสนใจศัพท์ที่ไม่รู้ มองข้ามไปเลยคงไม่หยุดแล้วเดาความหมาย เพราะว่าจุดประสงค์ของผมไม่ได้ต้องการรู้ศัพท์คำนั้น แต่ผมต้องการรู้ว่าเรื่องพูดเกี่ยวกับอะไร หลังจากรู้เรื่องแล้ว ผมค่อยกลับไปที่ศัพท์พวกนั้น (เห็นมั้ยครับ พยายามแบ่งมันเป็น 2 กระบวนการ แยกให้ออกครับ)

ลองดูตัวอย่างที่ผมเพิ่งเจอกับตัวเองเมื่อคืนเลยแล้วกัน (มันเหมาะเจาะดีจริงๆ เล้ย)

เมื่อคีนนั่งอ่านหนังสือเรื่อง “นิทานวานบอก” ของ ดร. กุสุมา รักษมณี (ขอทำตัวเป็นเด็กอ่านนิทานหน่อยแล้วกันเน้อ) ปรากฎว่าอ่านเจออยู่เรื่องนึงเล่าว่า:

“วันหนึ่งสุนัขออกไปหาอาหาร พบกวางดำตัวใหญ่น่าเกรงขาม สุนัขจึงยิ่งหนีกลับมายังอาศรม ฤษีรู้ว่าสุนัขอยากมีกำลังเหนือกว่ากวางใหญ่เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นฝ่ายหนี ฤษีก็เห็นใจ ชุบให้เป็น ‘มฤคใหญ่มหิมามีมหันตพละยิ่งกว่าชาติมฤค’ สุนัขในร่างมฤคก็ปลื้มเปรมใจ” (หน้า 39-40)

ตอนอ่านเนี่ย ไม่รู้เลยว่า “มฤค” แปลว่าอะไร ผมก็ไม่สนใจนะ อ่านต่อไป เพราะว่าไอ้ศัพท์ตัวเดียวไม่ได้ทำให้ผมอ่านไม่รู้เรื่องนี่หน่า รู้แค่ว่าหมา (ขอภาษาชาวบ้านแล้วกัน) ตัวนี้มันมีกำลังมากๆๆ (มหิมา) มากกว่ากวางจนมันปลื้มใจก็พอแล้ว พอจบเรื่องนิทานแล้วพอถึงกลิกกลับมาดู ออที่แท้ “มฤค” แปลว่ากวาง จากปริบท (ยังไม่ได้เปิดพจนานุกรมนะครับ ตั้งแต่เมื่อคืนแล้วเนี่ย เขียนเสร็จคงต้องไปเปิดจะได้มั่นใจว่าเรา “เดา” ถูก??)

เห็นไหมครับ มันแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1. เข้าใจเรื่อง 2. เข้าใจศัพท์ อย่าลืมแยกให้ออกแล้วกันเน้อ ส่วนตอนนี้ขอตัวไปเปิดพจนานุกรมก่อน . . .

w-bpf (w.bpf@attbi.com)



โดย : นาย เกียรติพงศ์ ฤกษ์วันชัย, อดีตนร. รร. ศรีพฤฒา, วันที่ 8 มิถุนายน 2545