ความเชื่อและโชคลางของจีน


ความเชื่อและโชคลางของจีน
บ่อเกิดแห่งความเชื่อและโชคลาง
ศาสนาและความเชื่อสำหรับชาวตะวันออกนั้น เป็นเรื่องราวที่แยกออกจากันไม่ได้ ความเชื่อของชาวเอเชียล้วนมีรากฐานมาจากพัฒนาการในการดำรงชีวิตของคนในแต่ละสังคม ดังนั้นความเชื่อจึงมีความผูกพันกับประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ของมนุษย์ นับตั้งแต่แรกเกิด การเติบโต การเจ็บป่วยไปจนกระทั่งความตาย รวมทั้งประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินและความอยู่รอดโดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรมของชาวตะวันออกที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงและเคารพในธรรมชาติ วิถีชีวิตของชาวเอเชียจึงเต็มไปด้วยความเชื่อในโชคลางและความเป็นสิริมงคลจึงไม่ใช่เรื่องงมงายหรือไร้เหตุผลสำหรับชาวตะวันออก แต่ในทางกลับกันแล้วมันคือคติและวิถีทางในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดของคนในแต่ละสังคมวัฒนธรรม

รากฐานแห่งความเชื่อของชาวจีน
จีนเป็นศูนย์กลางของปรัชญาและความรู้ที่สำคัญของโลกตะวันออก ปรัชญาและความเชื่อ ชาวจีนนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจในหลักแห่งธรรมชาติ และหลักแห่งจริยธรรมในการดำเนินชีวิตรากฐานที่สำคัญของปรัชญาจีนคือการที่มนุษย์และจักรวาลมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น มีลักษณะเป็นเอกภาพระหว่างมนุษย์ โลก และสวรรค์
ระบบความเชื่อของชาวจีนผสมผสานกันกันระหว่างความเชื่อดั่งเดิมและหลักธรรมเนื่องในลัทธิและศาสนาต่างๆ ทั้งความเชื่อในเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับการเคารพบรรพบุรุษ ลัทธิหยินหยาง หลักปรัชญาขงจื่อ วิถีความเชื่อแห่งเต๋า รวมทั้งหลักธรรมในพุทธศาสนามหายานหล่อหลอมเข้าด้วยกันเป็นระบบความเชื่อเฉพาะของชาวจีน

สัญลักษณ์ปห่งความเชื่อ
ลักษณะของความเชื่อและการถือโชคลางต่างๆ เป็นรูปแบบของความเชื่อต่อเนื่องในทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งไม่ต้องการอธิบายเหตุผล หรือการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือการวิเคราะห์ในเชิงตรรกวิทยาใดๆ ทั้งสิ้น ความเชื่อและการถือโชคลางได้พัฒนาจากนามธรรมมาสู่ระบบสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรม เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี นาฎศิลป์ การละเล่น รวมทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะของชนชาติต่างๆ
ชาวจีนมีรูปสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงระบบความเชื่อและการโชคลางที่โดดเด่นและน่าสนใจเนื่องจากให้ความสำคัญกับการอวยพรและความเป็นสิริมงคลของชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ขนบจารีตธรรมเนียม ประเพณี พิธีกรรมในชีวิตทั้งมวลล้วนประกอบด้วยการให้คำอวยพรและการมอบสิ่งของที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคลเพื่อความมุ่งหวังในชีวิตที่สุขสมบรูณ์ การมอบความปรารถนาดีผ่านคำอวยพร จึงแอบแฝงด้วยความหมายนัยทางวัฒนธรรมที่มุ่งถ่ายทอดสำสอนและความเชื่อตามคติจีนนิยม ซึ่งมักทิ้งปริศนาให้ผู้รับได้ไปขบคิดและตระหนักถึงหลักปรัชญาและคุณธรรม




โดย : นาง โสภา ผึ้งสุข, ราชวินิตบางแก้ว, วันที่ 1 กรกฎาคม 2545