เสาไห้


เสาไห้หรือเสาร้องไห้ เป็นเสาตะเคียนทองขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาว 13 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.75 เมตร ตั้งอยู่ที่ศาลเสาร้องไห้ ในวัดสูง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ห่างจากตัวจังหวัด 8 กิโลเมตร เสาไห้นี้เดิมจมอยู่ในแม่น้ำป่าสัก ใกล้กับที่ว่าการอำเภอนานถึง 176 ปีมาแล้ว ชาวบ้านใกล้เคียงได้ยินเสียงร้องไห้คร่ำครวญจาเสานี้อยู่เสมอ ใน พ.ศ. 2501 นางตะเคียนมาเข้าฝันชาวบ้านคนหนึ่งให้น้ำขึ้นจากน้ำ จึงถูกอันเชิญขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2501 แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่ศาลหน้าพระอุโบสถวัดสูง พร้อมกับจัดงานฉลอง และจัดกันเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน เสาไห้นี้มีประวัติกล่าวไว้ 2 เรื่อง ดังนี้
เรื่องที่หนึ่ง เมื่อประมารต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในการสร้างกรุงเทพฯ ทางราชการต้องสร้างปราสาทและพระราชวังหลายแห่ง จึงมีประกาศไปตามหัวเมืองต่างๆให้เสาะหาเสาที่มีลักษณะลำต้นใหญ่ ตรงและสวยงาม ถูกต้องตามตำราเข้ามายังเมืองหลวงเพื่อคัดเลือกทำเสาเอก เจ้าเมืองสระบุรีทราบข่าว ก็ให้ชาวป่าและนายพรานช่วยกันหาจนพบไม้ตะเคียนทองที่มีลักษณะตามต้องการ แต่ต้นตะเคียนทองมีนางไม้สิงอยู่ ถ้าผู้ใดใช้มีดพร้าตัดต้นตะเคียน หรือแม้แต่ตัดกิ่งเพียงเล็กน้อยก็ตาม ผู้นั้นจะมีอันเจ็บป่วยจนถึงกับตายก็มี จึงไม่มีชาวบ้านหรือนายพรานคนใดแตะต้องต้นตะเคียนนั้นอีกเลย ต่อมา นายต๊ะชาวบ้านโคกสว่าง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นผู้มีคาถาอาคมเก่งกล้า ได้ทราบข่าวเรื่องต้นตะเคียนก็เดินทางใสดู จากนั้น นายต๊ะก็ทำพิธีบวงสรวงอันเชิญนางตะเคียนออกมาพูดคุย เพื่อเป็นการขออนุญาตก่อนที่จะตัดต้นตะเคียน หลังจากที่นายต๊ะตกลงทำตามคำของของนางตะเคียนที่จะให้นายต๊ะเป็นคนพานางไปส่งถึงเมืองหลวงกับมือเอง ต้นตะเคียนทองก็ถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย พร้อมกับตัดกิ่งก้านที่ไม่ต้องการทิ้งไป จนเหลือแต่เสาต้นงาม เตรียมพร้อมที่ส่งไปเมืองหลวงทางน้ำ
ขณะนั้นมีชาย 7 คนเกิดความอิจฉาริษยานายต๊ะ ที่สามารถโค่นต้นตะเคียนลงได้ และเห็นว่าหากเสาต้นนี้ได้เป็นเสาเอกของปราสาทหรือพระราชวังแห่งใดแห่งหนึ่งในเมืองหลวง นายต๊ะคงได้บำเหน็จรางวัล รวมทั่งความดีความชอบมากมาย จึงปรึกษากันที่จะแย่งเสาต้นนั้น เมื่อคิดแผนชั่วกันแล้ว ชายทั้ง 7 คนก็จัดแจงปลอมเป็นเถร ทำว่าเดินทางมาจากนครสวรรค์ แล้วเข้ามาตีสนิทกับนายต๊ะจนนายต๊ะตายใจ จากนั้นก็หลอกล่อนายต๊ะไปที่เปลี่ยว แล้วรุ่มทำร้ายนายต๊ะจนถึงแก่ความตาย จากนั้นก็นำศพไปยืนพิงกับต้นไม้ต้นหนึ่งกลางทุ่งนา ส่วนชายทั้ง 7 คนก็ถูกกรรมตามสนอง ด้วยการถูกฆ่าตายอีกตำบลหนึ่ง
หลังจากที่นายต๊ะตายแล้ว ไม่มีผู้ใดมีคาถาอาคมพอที่จะเคลื่อนย้ายเสาตะเคียนทองต้นนั้นได้ ปล่อยให้แช่อยู่ในน้ำนั้น ส่วนนางตะเคียนทองเสียใจมากที่ไม่ได้เดินทางลงมาเป็นเสาเอกในเมืองหลวง จึงร้องไห้คร่ำครวญอยู๋ถึงสามวันสามคืน แล้วก็จมลงใต้ท้องน้ำในแม่น้ำป่าสักนั่นเอง ชาวบ้านจึงเรียกตำบลนี้ว่า “บ้านเสาร้องไห้” ต่อมาเรียกสั้นเข้าเป็น “บ้านเสาไห้”
เรื่องเล่าที่สอง เล่ากันว่า ในการสร้างเมืองต้องมีเสาหลักเมืองเพื่อเป็นสิริมงตลแก่ประชาชนในเมือง ดังนั้น ทางราชการจึงสั่งให้คัดเลือกเสาที่งามและมีลักษณะดี ส่งไปเป็นเสาหลักเมืองที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีเสาที่อยู่ในเกณฑ์ 2 ต้น คือ เสาตะเคียนจากแม่น้ำป่าสักและอีกต้นหนึ่งจากแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าเสาต้นไหนเดินทางถึงเมืองหลงวงก่อนก็จะได้เป็นเสาหลักเมือง เสาตะเคียนจากแม่น้ำป่าสักเดินทางไปถึงช้ากว่า ด้วยความเสียใจจึงลอยทวนลอยน้ำมาถึงตำบลเสาไห้ แล้วร้องไห้เสียใจก่อนที่จมลงสู่ท้องน้ำ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเสาไห้เพียง 50 เมตร

ผจงวาด กมลเสรีรัตน์.นิทานพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์, 2543




โดย : นางสาว Laddawan Meegul, คลองหลวง ปทุมธานี 13180, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545