ภูเขาทอง



วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง ด้านเหนือของอำเภอพระนครศรีอยุธยา ห่างจากเกาะเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1930 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชื่อเดิมอย่างไร ต่อมา พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาได้จึงโปรดให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่แบบมอญขึ้นแทน เพื่อเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพ แล้วให้เรียกเจดีย์นี้ว่า “เจดีย์ภูเขาทอง” วัดนี้จึงได้ชื่อว่า วัดภูเขาทอง
ใน พ.ศ. 2287 สมัยสมเด็จพระบรมโกศ พระเจดีย์ภูเขาทองพังทลายลงมา จึงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์และเปลี่ยนรูปเจดีย์ใหม่เป้นแบบไทยรูปเจดีย์แบบมอญจึงเหลือแต่เพียงฐานเดิมเท่านั้น
พระเจดีย์ภูเขาทองนี้มีนิทานเล่าเกี่ยวกับการสร้างว่า ครั้งหนึ่งมีชาวพม่าจำนวนหนึ่งมาท้าแข่งสร้างเจดีย์กับชาวไทยว่า ภายในระยะเวลา 1 เดือน ใครจะสร้างเจดีย์ได้เสร็จก่อนและสูงกว่ากัน พระราชาจึงป่าประกาศหาผู้สร้างเจดีย์ฝ่ายไทย ทหารที่รับคำสั่งจึงไปป่าวประกาศร้องหาคนมีฝีมือในเมือง ชาวเมืองได้ฟังดังนั้น ต่างก็ออกความเห็นและคะยั้นคะยอให้เพื่อของตนรับอาสา ศรีธนญชัยเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองมาช้านาน ชาวเมืองต่างรู้จักมักจี่เขาเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขามีฝีมือในการก่อสร้างเจดีย์ แต่ทุกคนก็ดีใจที่เขารับอาสา
เมื่อถึงวันเริ่มกำหนดสร้าง ทั้งสองฝ่ายพม่าและฝ่ายศรีธนญชัยก็เลือกทำเลที่ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างเจดีย์ได้แล้ว ชาวพม่าลงมือก่อสร้างทุกวันๆไม่มีวันหยุด มองเห็นเป็นรูปร่างเจดีย์ขึ้นทุกขณะ แต่ทางฝ่ายศรีธนญชัยกลับยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย เขาไม่ยอมทำอะไรทั้งนั้นได้แต่เฝ้าดูฝ่ายพม่าก่อสร้าง ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าฝ่ายไทยต้องแพ้แน่
จนกระทั่งเหลืออีก7 วันครบกำหนดหนึ่ง เจดีย์ของฝ่ายพม่าเกือบเสร็จสมบูรณ์ ศรีธนญชัยจึงสั่งให้ช่างหาม่านมากั้นบริเวณสถานที่ที่สร้างเจดีย์ แล้วเอาไม้ไผ่มาสานต่อกันเป็นโครงเจดีย์ให้สูงกว่าเจดีย์ของชาวพม่า จากนั้นก็นำผ้าขาวมาล้อมโครงไม้ไผ่นั้นไว้อีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นอันเสร็จ
ชาวเมืองทั้งหลายเมื่อมองดูจากที่ไกลๆแล้ว ทุกคนก็จะมองเห็นเป็นเจดีย์สูงตระหง่านที่สร้างเสร็จแล้ว ชาวพม่าเองก็คิดเช่นนั้น ดังนั้น ช่างพม่าจึงคิดว่าช่างไทยเก่งกว่า สามารถสร้างเจดีย์ให้เสร็จภายในเวลาอันรวดเร็วได้ แถมยังสุงกว่าเสียอีก จึงตกใจกลัวพากันหนีไปจากเมืองนั้น พระราชาและชาวเมืองต่างก็สรรเสริญศรีธนญชัยว่าเป็นผู้มีปัญญาแท้ ไม่ทำให้ชาวต่างชาติมาดูถูกฝีมือได้ พระราชาจึงตกรางวัลให้แก่ศรีธนญชัยอย่างงาม
ปัจจุบัน พระเจดีย์ภูเขาทองนี้อยู่ที่ อ. พระนครศรีอยุธยา จ. พระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นปูชนียสถานท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนี้

ผจงวาด กมลเสรีรัตน์.นิทานพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์, 2543






ดาวจระเข้

กาลครั้งหนึ่ง มีครอบครัวของเศรษฐีคนหนึ่ง มีบ้านเรืออยู่ริมน้ำแม่กลอง ความร่ำรวยของแกเข้าขั้นมหาเศรษฐีแลยทีเดียว เศรษฐีคนอื่นในตำบลนั้นหรือในละแวกใกล้เคียง ไม่มีใครสู้แกได้เลยสักคนเดียว ทรัพย์สมบัติของแกมีมากมายมหาศาลไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง ที่ดิน เรือกสวนไร่นา หรือแม้กระทั้งช้าง ม้า วัว ควาย
เดิมที่นั้น แกไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลอย่างนี้ แต่ด้วยแกเป็นคนขยันทำมาหากิน ค้าขายหาเงินมาได้ก็เก็บสะสมเพียงอย่างเดียว เรื่องการจับจ่ายใช้สอยเงินทองเข้าขั้นตระหนี่ถี่เหนียวเลยทีเดียว แกไม่ยอมใช้จ่ายเงินทองโดยไม่จำเป็น แม้กระทั่งการกินอยู่ เรื่องการทำบุญกุศลก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ชาวบ้านมีงานทำบุญทำกุศล งามมงคลอะไรต่างๆ แกไม่เคยไปร่วมงานนั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว เรื่องการบริจาคข้าวของเงินทองแก่คนยากจนอย่างหวังจะได้จากแกเป็นอันขาด เพราะตัวแกไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สังคมหรือส่วนร่วมแต่อย่างใด ความตระหนีถี่เหนียวของแกเป็นที่เลื่องลือไปทั้งตำบล
หมู่บ้ายที่เศรษฐีอาศัยอยู่นั้น ชาวบ้านทุกคนต่างมีจิตใจที่ดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบทำบุญทำกุศลในตอนเช้าของทุกวัน ชาวบ้านก็จะเตรียมอาหารคาวหวานขนมขมเนยใส่บาตรเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีเฉพาะบ้ายของเศรษฐีเท่านั้นที่ไม่เคยใส่บาตรเลย แม้ว่าภรรยาของเศรษฐีจะเตรียมข้าวปลาอาหารใส่บาตร แต่ก็ถูกเศรษฐีเข้าขัดขวางทุกครั้ง
ต่อมา เศรษฐีคิดว่าถ้าเอาทรัพย์สินเงินทองไว้ในบ้าน ภรรยาของแกจะต้องเอาเงินทองที่มีไปทำบุญทำทานจนหมดแน่ๆ แกจึงเอาทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดไปฝังไว้ที่ใต้สะพาน ทุกวันๆแกก็จะมานั่งเฝ้าสมบัติของแกตั้งแต่เช้าจนเย็น ทรัพย์สมบัติของแกที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้แกต้องมีความสุขเลย มีแต่ความวิตกกังวลกลัวว่าใครจะมาขโมย เกรงว่าภรรยาจะใช้จนหมด แกเฝ้าสมบัติของแกอย่างนี้เป็นเวลานาน จนกระทั้งแกตาย ด้วยจิตใจที่เป็นห่วงในทรัพย์สมบัติที่แกฝังเอาไว้ จึงไปเกิดเป็นจระเข้คอยวนเวียนเฝ้าสมบัติอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จระเข้เศรษฐีได้รับความทุกขเวทนาเป็นอย่างยิ่ง จนในที่สุดแกก็ไป
เข้าฝันภรรยาให้มาขุดสมบัติที่ฝั่งอยู่ใต้สะพานให้นำไปทำบุญทอดกฐิน ตัวแกจะได้พ้นทุกเสียที ฝ่ายภรรยาก็ทำตามที่เศรษฐีบอก โดยขุดสมบัติแล้วนำไปทอดกฐินทั้งหมด
ขบวนกฐินได้แห่ไปทางน้ำ จระเข้เศรษฐีก็ว่ายมาร่วมขบวนด้วย เพื่อจะได้บุญกุศลพ้นจากความทุกขเวทนาเสียที ชาวบ้านเห็นจระเข้ก็ตกใจเกิดความชุลมุนวุ่นวายขึ้น ภรรยาเศรษฐีก็ห้าไม่ให้จระเข้เศรษฐีเข้าร่วมขบวนแห่งด้วย เพราะจระเข้เป็นสัตว์เดรัจฉานจะเข้าไปในวัดด้วยไม่ได้ จระเข้ได้ขอร้องว่าจะไม่ทำอันตรายใคร ขอให้ตนได้ทำบุญกุศลครั้งนี้ด้วย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จระเข้เศรษฐีจึงให้วาดรูปของตนลงบนธงแห่ไปกับขบวนกฐินด้วย ภรรยาเศรษฐีจึงทำตามที่จระเข้ขอร้อง ด้วยอานิสงส์แห่งผลบุญอันแรงกล้านี้เอง ทำให้เศรษฐีไปเกิดเป็นดาวบนท้องฟ้า เรียกว่า “ด้านจระเข้” ตราบเท่าทุกวันนี้

ผจงวาด กมลเสรีรัตน์.นิทานพื้นบ้านภาคกลาง. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาสน์, 2543









โดย : นางสาว Laddawan Meegul, คลองหลวง ปทุมธานี 13180, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545