หลวงพ่อโต

หลวงพ่อโตวัดบางหลีใหญ่ใน

หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบางพลี ชาวสมุทรปราการ และประชาชนทั่วไปเคารพนับถือ ตามตำนานกล่าว่า หลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาจากทางเหนือ บ้างก็ว่ามาด้วยกัน 3 องค์บ้าง แล้วแยกย้ายกันขึ้นบกตามจังหวัดต่างๆที่ประชาชนอาราธนาขึ้น
ตำนานพระพุทธรูปลอยน้ำ 3 องค์ มีผู้เล่าไว้ดังนี้ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว มีพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง 3 องค์ ประกอบด้วยหลวงพ่อวัดบ้านแหลม (ปางอุ้มบาตร) เป็นองค์พี่ หลวงพ่อโสธร (ปางสมาธิ) เป็นองค์กลาง และ หลวงพ่อโต (ปางสมาธิ) เป็นองค์ใหญ่ที่สุด แต่เป็นองค์น้องสุดท้อง พระพุทธรูปทั้งสามได้แสดงปาฏิหาริย์ โดยการลอยน้ำมาจากทางเหนือ ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงตำบลหนึ่งก็แสดงองค์ ให้ประชาชนเห็น ประชาชนมีความศรัทธา จึงอาราธนาพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ ด้วยการพร้อมใจกันฉุด แต่ฉุดเท่าไรก็ไม่ขึ้น จนต้องเกณฑ์จำนวนคนมาช่วยกันฉุดถึงสามแสนคน พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ก็ไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ต่อมาตำบลนี้จึงได้ชื่อว่า ตำบลสามแสน แล้วกลายมาเป็นสามเสนในปัจจุบัน
ประชากรหมดหวังที่จะนำพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำ จึงปล่อยให้ลอยน้ำต่อไปอีก จนถึงแม่น้ำบางปะกงเข้าไปถึงคลอง บางพระ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประชาชนที่นี้อาราธนาท่านขึ้นมาจากน้ำอีกครั้ง ท่านก็ยังไม่ขึ้นลอยน้ำต่อไปอีกเรื่อยๆจนในที่สุด องค์พี่ คือ หลวงพ่อบ้านแหลมลอยไปตามแม่น้ำแม่กลอง แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จังหวัดสมุทรสงคราม องค์กลาง คือ หลวงพ่อโสธรกลับลอยทวนน้ำไปถึงวัดเสาทอน ริมทฝั่งแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดนี้ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโสธร (วัดโสธรวรารามวรวิหาร) ส่วนองค์สุดท้อง คือ หลวงพ่อโต ลอยเข้าไปในคลองสำโรง แม่น้ำเจ้าพระยา ประชาชนจึงทำแพผูกติดกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือพายจูงไปตามลำคลอง เมื่อถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ท่านก็แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง คือ จะพายเรือจูง ท่านไปอย่างไร ท่านก็ไม่ไป ประชาชนอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม) จังหวัดสมุทรปราการ

ผจงวาด กมลเสรีรัตน์. นิทานพื้นบ้านภาคกลาง.กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น, 2543





โดย : นางสาว Laddawan Meegul, คลองหลวง ปทุมธานี 13180, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545