ต้นไม้ในวรรณคดี(ลั่นทม)


………………………………………….ริมเชิงเขาสาวหยุดพุทธชาติ
……………………………………เดียรดาษดอกประดับสลับสี
……………………………………รสสุคนธ์มณฑาสารภี
……………………………………มะลุลีลั่นทมน่าชมเอย (พระอภัยมณี ของสุนทรภู่)


ลั่นทม เป็นไม้ดอกที่มีความงดงามและสง่างามอยู่ในตัวเอง ดอกลั่นทมมีหลายสี ทั้งสีขาว สีเหลือง ชมพู แดง และแสด ดอกลั่นทมสีขาวจะมีสีขาวสดใส ใจกลางของดอกจะมีสีเหลืองนวลตา ดอกลั่นทมจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆน่าชื่นใจ แต่เนื่องจากลั่นทมเป็นไม้ที่มีชื่อไม่เป็นมงคลนาม คือ มีความหมายว่า ระทม หรือ ความเจ็บช้ำระกำใจ คนในสมัยก่อนจึงไม่นิยมปลูกตามบ้าน แต่นิยมปลูกในวัด

เนื่องจากลั่นทมเป็นดอกไม้ที่งดงาม มีกลิ่นหอม เพื่อลบล้างนาม อันไม่เป็นมงคล ลั่นทม จึงถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ลีลาวดี
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ : Plumeria cutifolia, Poir
ชื่อสามัญ : Frangipani
ชื่อวงศ์ : Apocynaceae
ชื่ออื่นๆ : จงป่า จำปาชอม จำปาขาว จำปาลาว จำปาย จำไป พอบ่ออึ
ลั่นทม เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก กิ่งเปราะ เมื่อเด็ดใบและดอกจะมียางสีขาวขุ่นมีลักษณะเหนียว ลำต้นสูงประมาณ 25 ฟุต เป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด ปลูกง่าย ขึ้นได้ในดินทุกชนิด แต่ไม่ชอบดินแฉะที่มีน้ำท่วมขังลั่นทมมีหลายพันธุ์ เช่น ลั่นทมขาว (P. alba) ลั่นทมแดง (P.lubral.)
ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะรูปใบคล้ายหอก ปลายใบแหลม มีเส้นใบมากและเส้นใบเรียงขนานกัน กว้างประมาณ 4 นิ้ว ใบยาว ประมาณ 1 ฟุต หรือ 12 นิ้ว
ดอก เป็นรูปทรงกรวย บางชนิดกลีบดอกใหญ่ บางชนิดกลีบดอกเล็กยาว บางชนิดกลีบจะบิดน้อยๆ ดอกลั่นทมมีหลายสีต่างๆกัน เช่น สีแดง ขาว ชมพู เหลือง แสด
การขยายพันธุ์ ลั่นทมขยายพันธุ์ด้วยการใช้วิธีปัก ชำ



โดย : นาย กฤษฎา สุขสำเนียง, ร.ร.ปทุมคงคา, วันที่ 22 เมษายน 2545