นิทานพื้นบ้านกับความเข้าใจท้องถิ่น


โ ด ย.....จุ ไร พ ร ผ า ท อ ง
หมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์
อ.สูงเม่น จ.แพร่

ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ นิทานอยู่ตรงทาง ๔ แพร่ง ของเรื่องที่สำคัญๆ ของมนุษย์ ๔ อย่าง คือ ความบันเทิงใจ ความสัมพันธ์ จินตนาการและการเรียนรู้ และการปลูกฝังจริยธรรม" [๑]
จากแนวความคิดนี้ นิทานพื้นบ้านก็อยู่ตรงทาง ๔ แพร่งเช่นกันแต่มีข้อเด่นอยู่ที่ว่าทาง๔แพร่งนั้นได้พาดผ่านเชื่อมโยงหมู่บ้านและป่าเขาลำเนาไพร อันเป็นอาณาบริเวณของท้องถิ่นเก่าแก่ที่เป็นแหล่งกำเนิดหรือเป็นแหล่งถ่ายทอดนิทานพื้นบ้านนั้น ๆ ให้เชื่อมต่อเข้ากับนักเล่านิทาน ( ทั้งนักเล่าระดับอาชีพและสมัครเล่น ) ได้อย่างสนิท นิทานจึงช่วยให้เราเข้าใจท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะนิทานพื้นบ้านเป็นเรื่องเล่าด้วยปากโดยเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน[๒] ในเนื้อหาของนิทานจึงสะท้อนความคิด ความเชื่อ จินตนาการของคนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เมื่อเราศึกษานิทานพื้นบ้านย่อมทำให้เราเข้าใจมนุษย์มากขึ้น ทั้งนี้เพราะนิทานพื้นบ้านเป็นผลงานทางภูมิปัญญา ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งได้สร้างสรรค์ สั่งสม และถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาในชุมชน นิทานพื้นบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคมทุกแห่ง[๓] การที่จะเข้าใจท้องถิ่นทั้งในด้านวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อม ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ได้ เราสามารถ “ อ่าน” จากนิทานพื้นบ้าน ของท้องถิ่นนั้น ๆ ได้พอสมควร
ลองอ่านนิทานพื้นบ้านท้องถิ่นจังหวัดแพร่เรื่องต่อไปนี้แล้วพิจารณาว่า นิทานเรื่องที่ยกมาได้ช่วยทำให้เข้าใจท้องถิ่นของเมืองแพร่อย่างไรบ้าง

“ จ๊ะใด เมียงแป้บ่มีเค่ากับเก๊าปี่ [๔]
เมินนานสานติมาแล้วมีเค่า (อึ่งป่า) หมู่หนึ่งจ้วยกันปลูกเก๊าปี่ ( ไม้รวกแดง ) ลุกเมียงลำปางมาตวยป่าตวยดอย ล่องมาตางใต้ติ๊ก ๆ (เรื่อย ๆ) มันตั้งใจ๋ว่าจะปลูกข้ามดอยเข้ามาฮอดมาแผว (ถึง)ในเมียงแป้เพ้อี้เต๊อะน่า กำนี่กะปลูกมาเถิงดอยใกล้เมียงลองนี้เลาะ กะไปปะใส่นกกะถัว (นกกระตั้วหัวหงอก) นกกะถัวกะเอิ้น (ร้อง) ถามว่า
“ นี่หมู่สู จะปากั๋นปลูกเก๊าปี่ไปฮอดไหนเหมียนใจ๋ว่านี่ เป็นเส้นเป็นสาย ”
เค่า กะเอิ้นตอบว่า “ เฮาจะปลูกเก๊าปี่ไปเถิงในเมียงแป้ปู้นเน้าะ จะหลอนว่า (บางที) วันหน้าวันต๋า เขาจะเอาไปแป๋ง (ทำ) ปี่จุม ปี่ก้อย เอาไปเป่าหื้อช่างซอ (นักขับซอ) พ่องฮุ (บ้าง) ” นกกะถัว กะอู้ขึ้นแหมว่า “ ปุ๊ดโท ธัมโม สังโฆ เหียเต๊อะ สูหวังหยังเมียงแป้ตี้สูว่านี้หนา มันอยู่ไก๋บ่ใจ่สะเล็กสะน่อย (ไกลมาก) ผ่อข้าดู้ (ดูข้าซิ) ข้าไปจ๋นหัวปอหงอกขาวสุ่นบุ่น (ขาวโพลน) กะยังบ่แผวกำเตี้ย” หมู่เค่าได้ยินจ้ะนั้นก็ใจ๋อ่อน กะเลยปากั๋นยั้งปลูกเก๊าปี่ตึ้กหั้น (ถึงที่นั่น) แล้ว ก็แง้น (หัน)กลับไปเมียงลำปางหยา กะเลยบ่แผวเมียงแป้สักกำตั้งแต่หั้นมา เมียงแป้กะเลยบ่มีเค่า เก๊าปี่กะบ่มีสักเก๊าสักก๋อเหมียนลำปาง กันว่าจะแป๋ง ปี่กะไปเอาเก๊าปี่ตี่ลำปางปุ๊น

จากนิทานอธิบายเหตุเรื่อง “ จะใดเมืองแป้บ่มีเค่ากับเก๊าปี่" ( เพราะเหตุใดเมืองแพร่จึงไม่มีอึ่งเค่าและต้นปี่ ) ช่วยทำให้เราเข้าใจในท้องถิ่นจังหวัดแพร่จากนิทานในหลาย ๆ ด้าน เช่นทางด้านศิลปดนตรี และทางด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ เมืองแพร่มีการขับซอที่ใช้ปี่เป่าให้ทำนองเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ในล้านนา แต่โดยข้อเท็จจริงไม้รวกแดง (ต้นปี่) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ทำปี่ไม่ปรากฏในป่าธรรมชาติของจังหวัดแพร่ แต่มีดกดื่นในป่าจังหวัดใกล้เคียงโดยเฉพาะลำปาง เกี่ยวกับสัตว์บางชนิดก็เช่นกัน เค่าหรืออึ่งป่านั้นเป็นสัตว์ที่เคยมีชุกชุมในจังหวัดลำปางมาช้านานแต่ตามป่าในจังหวัดแพร่ไม่ปรากฏมีอึ่งป่าชนิดนี้อยู่ อาจจะเนื่องมาจากความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ คนโบราณได้ใช้ข้อเท็จจริงเช่นนี้มาประกอบกับจินตนาการแล้วผูกเรื่องเล่าเป็นนิทานให้เด็ก ๆ และผู้คนในท้องถิ่นฟังอย่างเพลิดเพลิน ผู้ฟังนิทานจึงเกิดการเรียนรู้เรื่องภูมิศาสตร์ และรู้ว่าท้องถิ่นจังหวัดแพร่นั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างจาก
ท้องถิ่นใกล้เคียง อย่างน้อยก็เรื่องอึ่งเค่ากับต้นปี่ ความรู้ ความเชื่อ เเละจินตนาการเช่นนี้เกิดขึ้นจากการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่นั่นเอง ส่วนในด้านอื่น ๆ นิทานเรื่องนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจท้องถิ่นจังหวัดแพร่ในด้านถ้อยคำ สำนวนภาษาถิ่นได้เป็นอย่างดี เช่น คำว่า เมียง (เมือง) ภาษาไทยถิ่นแพร่เดิมออกเสียงสระเอียชัดเจน ไม่ใช้สระเอือ เหมือนกับภาษาไทยถิ่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง คำศัพท์หลายคำชาวแพร่รุ่นใหม่ไม่เข้าใจความหมายเพราะเป็นคำศัพท์ภาษาไทยถิ่นที่พ้นสมัยหรือไม่ปรากฏใช้โดยปกติ เช่น เค่า (อึ่งป่า) , เก๊าปี่ (ไม้รวกแดง), ฮอด (ถึง) , แผว (ถึง) แต่ถ้าได้ฟังนิทานพื้นบ้านจากจังหวัดแพร่จากผู้เล่านิทานผู้สูงอายุก็จะปรากฏคำศัพท์สำนวนเก่า ๆ ของภาษาไทยถิ่นจังหวัดแพร่ไม่น้อย
บางครั้งนิทานพื้นบ้านก็สะท้อนวัฒนธรรมพื้นๆ ตามวิถีของชาวบ้าน เช่น การทำนา การเลี้ยงสัตว์ แต่ได้ย้อนกลับไปในอดีตอันไกลพ้นที่เชื่อว่าเป็นยุคแห่งการเริ่มต้นของวัฒนธรรมมนุษย์ อาจมีการนำเทพเจ้าในลัทธิศาสนาต่าง ๆ เข้ามากลมกลืนกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบทั่วไปในนิทานพื้นบ้าน จึงทำให้เห็นได้ชัดว่าจินตนาการอันน่าพิศวงในนิทานท้องถิ่นนั้นวางอยู่บนพื้นฐานชีวิตจริงของสังคมนั่นเอง
ลองอ่านนิทานพื้นบ้าน ประเภทอธิบายเหตุเรื่อง “ หมูกับหมา ” ซึ่งได้เรียบเรียงเป็นภาษาไทยมาตรฐาน แล้วพิจารณาว่านิทานเรื่องนี้ทำให้เข้าใจท้องถิ่นในแง่ใดบ้าง
นิทานเรื่องหมูกับหมา[๕]
นานมาแล้วหมูกับหมาเป็นบริวารของพระอิศวรอยู่บนสวรรค์ได้รับคำสั่งจากพระอิศวรว่าให้ไปทำนาบนโลกมนุษย์แล้วพระอิศวรจะมาตรวจดู ถ้าใครไม่ตั้งใจทำนาจะให้กินรำ ใครขยันทำนาจะให้กินข้าว
เมื่อหมูกับหมารับทราบแล้วก็ลงมายังโลกมนุษย์ ทุ่งนานั้นกว้างใหญ่มากทำให้หมาขี้เกียจไม่อยากทำนาจึงไปนอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ ส่วนหมูได้ลงมือทำนาก่อน โดยใช้จมูกดุนขี้โคลนขึ้นเป็นแนว และใช้เท้าเหยียบย่ำดินโคลนในนาจนเสร็จเรียบร้อย หมูจึงไปนอนหลับด้วยความเหนื่อยล้า ส่วนหมาเห็นหมูนอนหลับเช่นนั้นจึงลุกขึ้นเดินเหยียบย่ำทับรอยเท้าหมูไปทั่วทุ่งนา
ครั้นพระอิศวรลงมาตรวจก็พบแต่รอยเท้าของหมาเต็มไปหมด พระอิศวรจึงตำหนิหมูว่าหมูขี้เกียจสันหลังยาวจึงลงโทษให้หมูกินรำส่วนหมานั้นพระอิศวรให้กินข้าวตราบจนทุกวันนี้

จะเห็นได้ว่านิทานพื้นบ้านอันเป็นผลงานทางภูมิปัญญาของชุมชนที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เป็นเรื่องที่สั่งสม และบอกเล่าสืบทอดกันมาหลายชั่ว
อายุคน มีการปรับปรุงสาระไปตามแนวคิดและจินตนาการของบุคคลและชุมชนแต่ละท้องถิ่น แน่นอนว่านิทานย่อมก่อให้เกิดความบันเทิงใจ เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ทำให้เกิดการเรียนรู้ นิทานพื้นบ้านจึงช่วยทำให้เข้าท้องถิ่นได้ดีขึ้น และอาจทำให้ผู้ฟังนิทานเกิดแง่คิด และจินตนาการได้อย่างไม่รู้จบ
--------------------------------------------------
เชิงอรรถ
[๑]จากบทเกริ่นนำของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ในสูจิบัตรงานนิทานแห่งจิตนาการ ๔ ๒๐ เม.ย. ๓๙ หอประชุมเมืองไทยประกันชีวิต อ้างในประกาศของโครงการประกวดนิทานมูลนิธิเด็ก ครั้งที่ ๕.
[๒]กุหลาบ มัลลิกมาศ, คติชาวบ้าน ( กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง , ๒๕๑๘ ) หน้า ๙๙.
[๓]จุไรพร ผาทอง , นิทานพื้นบ้าน จังหวัดแพร่ ( แพร่แผนกเอกสารโรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์, ๒๕๓๙ ) หน้า ๑๓ .
[๔]สัมภาษณ์ แม่ใหญ่แก้วนา เจริญยิ่ง อายุ ๘๔ ปี ๑๐๔/๑ ม.๕ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น จ.แพร่ ( ๒๙ ส.ค. ๓๘ ) .
[๕]เรื่องเดียวกัน.















































































โดย : นาง จุไรพร ผาทอง, โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่, วันที่ 5 พฤษภาคม 2545