วรรณกรรมท้องถิ่นวัดสูงเม่น


วัดสูงเม่น ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีหอธรรมหรือหอพระไตรปิฏกเป็นศูนย์อนุรักษ์คัมภีร์พระไตรปิฏกและวรรณกรรมท้องถิ่นอันล้ำค่า ที่จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา อักษรขอม และอักษรมอญ ซึ่งครูบามหาเถร ( ครูบากัญจนอรัญวาสีมหาเถร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองแพร่ และภิกษุท้องถิ่นได้จัดทำและรวบรวมมาจากเมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน เมืองแพร่ ฯลฯ เมื่อราว ๑๖๐ ปีก่อน ที่วัดเเห่งนี้ยังมีพระพุทธรูปไม้โพธิ์แกะสลักที่มีความงามเป็นเลิศ ๓ องค์ ฐานพระพุทธรูปไม้ดังกล่าวจารึกวรรณกรรมและแสดงหลักฐานสร้างไว้ชัดเจน ยังไม่นับรวมพระพุทธรูปไม้แกะสลักฝีมือช่างพื้นบ้านอีกนับร้อยองค์ ที่น่าสนใจก็คือมีหีดธรรม หรือตู้พระไตรปิฏกลายรดน้ำ ซึ่งเจ้าหลวงเมืองแพร่และชายาสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘ ( ตรงกับสมัยพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) ที่บานประตูตู้พระไตรปิฏกได้จารึกข้อความแสดงกิริยาบุญไว้เป็นหลักฐาน จึงกล่าวได้ว่าวัดสูงเม่นเป็นแหล่งอนุรักษ์วรรณกรรมลายลักษณ์โบราณที่หายาก มีการจัดเก็บเป็นระบบ และใหญ่ยิ่งของประเทศไทย สมควรที่จะศึกษาเผยแพร่ความรู้ทางวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ให้แพร่หลาย
แต่เนื่องจากวรรณกรรมวัดสูงเม่นมีอยู่เป็นจำนวนมากในที่นี้จึงมุ่งแนะนำวรรณกรรมไว้อย่างกว้าง ๆ เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้รู้จักเบื้องต้นและเป็นแนวทางให้ผู้สนใจศึกษาค้นคว้าในแนวลึกต่อไป อย่างไรก็ตามในที่นี้ได้นำเสนอวรรณกรรมจารึกบานประตูตู้พระไตรปิฏก ของเจ้าหลวง
อินทวิไชยไว้เพราะเห็นว่าเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่หายาก เป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และมีคุณค่าทางจารึกวิทยาด้านต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย อีกทั้งเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีเนื้อหาค่อนข้างสั้น และยังไม่มีผู้ใดศึกษาอย่างเป็นระบบมาก่อน จึงได้คัดเลือกนำมาเสนอเป็นตัวอย่างของวรรณกรรมท้องถิ่นวัดสูงเม่นประเภทหนึ่ง

ความเป็นมาของวัดสูงเม่น
วัดสูงเม่นเคยเป็นศูนย์กลางระดับ “ บ้าน ” มาช้านาน ปัจจุบันมีการรับรู้ถึงสถานะของบ้านสูงเม่นแตกต่างไปจากอดีต ก่อนที่จะศึกษาถึงวรรณกรรมวัดสูงเม่น ต่อไป จำเป็นต้องสำรวจที่มาและความหมายของ “ สูงเม่น ” ไว้โดยสังเขปเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่กระจ่างยิ่งขึ้น
ชื่อ สูงเม่น จะหมายถึงอะไรดูเหมือนรูปศัพท์นี้ไม่ให้ความกระจ่างนัก จากการสำรวจจข้อมูลวรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อหาร่องรอยของหลักฐานรูปเขียนคำ “ สูงเม่น ” ที่บันทึกด้วยอักษรท้องถิ่น เช่น อักษรธรรมล้านนา ( ตัวเมือง ) อักษรฝักขาม อักษรขอม ฯลฯ ผู้เขียนได้พบ “ เส้นใบลาน ” อันหมายถึงข้อเขียนที่จารึกลงในใบลานแผ่นหนึ่ง เป็นบันทึกคำสั่งเสียของ ครูบามหาเถร ( ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองแพร่ ( มีอายุราว
พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๔๑๐ ? ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) หลักฐานดังกล่าวได้รับการรักษาไว้อย่างดีในตู้คัมภีร์ของพระเดชพระคุณพระครูธรรมานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น
หลักฐานทางวรรณกรรมท้องถิ่นอันสำคัญนี้ระบุชื่อวัดสูงเม่นด้วยอักษรธรรมล้านนา ( ตัวเมือง ) ไว้เป็น ๔ แห่ง ปรากฏรูปเขียนไว้ดังนี้

๑ แห่ง
๓ แห่ง

เห็นได้ว่า แต่เดิมรูปเขียนคำ “ สูง ” นั้นใช้ “ สุง ” และ “ สุง ” ทั้งสองแบบใช้สระอุ อย่างแน่นอนเครื่องหมายไม้ ซัด ( / ) ในอักขรวิธีล้านนานั้นอาจเท่ากับไม้โท ไม้หันอากาศ อักษร ก หรือไม้ไต่คู้ ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของคำในที่นี้น่าจะใช้เป็นไม่ไต่คู้เพื่อให้อ่านเป็นเสียงสั้น หรืออาจใช้เป็นรูปวรรณยุกต์โท อันเป็นการแสดงความแตกต่าง กับคำ “ สูง ” ส่วนรูปเขียน “ เหมร ” และ “ เหมร่ ” นั้นเป็นการเขียนตามอักขรวิธีในอักษรธรรม ซึ่งนิยมใช้อักษร “ ร ” เมื่อเขียนตัวสะกดแม่กนบรรทัดเดียวกับพยัญชนะต้นของคำ ส่วนเครื่องหมายวรรณยุกต์นั้นนิยมใช้นัก ถ้าใช้ก็มักไม่เข้มงวดในกฎเกณฑ์ ดังที่ยกมาข้างต้น
สรุปในตอนนี้ได้ว่าคำสูงเม่นแต่เดิม ไม่ใช้ “ สูงเม่น ” เเน่ ๆ มีรูปเขียนที่นิยมคือ “ สุงเหมร”
รูปเขียนนี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของวิทยากรพื้นบ้านบางคนที่ว่า “ สูงเม่น ” มาจากคำว่า
“ สุ่งเหม้น” หมายถึงรูที่อยู่ของเม่น
ความเห็นข้างต้นสอดคล้องกับข้อวินิจฉัยของปราชญ์ล้านนาอย่าง พระธรรมราชานุวัตร
( ฟูอัตตชิโว ) ที่มีชาติภูมิมาจากเมืองแพร่ ซึ่งได้เคยทำหนังสือชี้เเจงให้เปลี่ยนแปลง ชื่อบ้านนามเมืองในภาคเหนือไปยังพระยาอนุมานราชธน ปราชญ์ใหญ่ผู้รักษาตำแหน่ง นายกราชบัณฑิตยสถาน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยเสนอเปลี่ยนชื่ออำเภอสูงเม่นเป็น “ อำเภอสุ่งเม่น ” ซึ่งมีความหมายดังนี้
สุ่ง = โพลง , รู สุ่งเม่น คือ โพลงหรือรูเม่น สูงเม่น แปลไม่ได้ความ
ข้อเสนอพระธรรมราชานุวัตรได้รับความเห็นชอบจากพระยาอนุมานราชธนทุกประการ แต่ท่านไม่สามารถ ชื่อดังกล่าวได้ เพราะอำนาจการเปลี่ยนแปลง เป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย
ทุกวันนี้เราจึงเขียนชื่อ “ สูงเม่น ”โดยไม่รู้จักคำ “ สุ่งเม่น ” ที่เขียนด้วยอักษรธรรม “ สุงเหมร ”
อันหมายถึงโพลงหรือที่อยู่ของเม่น ซึงน่าสันนิษฐานได้ว่าท้องถิ่นนี้แต่เดิมเป็นป่าที่มีเม่นชุกชุมแต่ก็ไม่มีหลักฐานอันใดที่จะเป็นเครื่องตรวจสอบและช่วยยืนยันได้
วัดสูงเม่นคงเป็นศูนย์กลางระดับชุมชนระดับ “ บ้าน ”ที่มีความสำคัญมากในช่วง “ เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง ” หรือยุคฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากชาวล้านนาได้ขับไล่พม่าออกไปจากบ้านเมืองได้สำเร็จ ภายใต้ความช่วยเหลือจากกองทัพของกรุงเทพมหานคร และพระยากาวิละได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ( พ.ศ. ๒๓๓๙ ) เมืองต่าง ๆในล้านนาจึงฟื้นฟูบ้านเมืองทุกด้าน และต่อเนื่องมาหลาย
ทศวรรษ โดยเฉพาะด้านศาสนาและวรรณกรรมในเมืองแพร่สมัยอินทวิชัย ( พ.ศ. ๒๓๗๒ - ๒๔๑๔ ) มีความเคลื่อนไหว ทางด้านการบำรุงพระพุทธศาสนาและวรรณกรรมอย่างน่าสนใจ วรรณกรรมสูงเม่นก็น่าจะเป็นผลพวงของการฟื้นฟูบ้านเมืองในยุคนั้น เพราะปรากฏหลักฐานมีการ “ สร้าง ” พระคัมภีร์เป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชัยนี้

วรรณกรรมลายลักษณ์วัดสูงเม่น
เจ้าหน้าที่โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนาโดยความสนับสนุนของรัฐบาลไทยสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมัน โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อนุรักษ์เอกสารโบราณของวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ซึ่งปฏิบัติงานระหว่างวันที่ ๒๗ สิงหาคม – ๑๒ กันยายน ๒๕๓๐ โดยอนุรักษ์และจัดระบบเอกสารและรายละเอียดไว้ดังนี้

หมวด จำนวนมัด
๐๑ พระวินัย ๔๖
๐๒ พระสุตตันตปิฏก ๒๑๖
๐๓ พระอภิธรรม ๓๙
๐๔ พระคัมภีร์ภาษาบาลี ๒๕๙
๐๕ บทสวดมนต์ ๒
๐๖ อานิสงส์ ๔
๐๗ ชาดก ๑๖๙
๐๘ โอวาทคำสอน ๘
๐๙ ประเพณีพิธีกรรม ๓๘
๑๐ ธรรมทั่วไป ๑๔๗
๑๑ นิยายธรรม ๒๒
๑๒ นิยายนิทานพื้นบ้าน ๑
๑๓ ตำนานพระพุทธศาสนา ๑๙
๑๔ ตำนานเมือง/ราชวงศ์ -
๑๕ กฎหมาย ๔
๑๖ ตำราอักษรศาสตร์ ๑๗
๑๗ กวีนิพนธ์ร้อยกรอง ๒
๑๘ ตำราโหราศาสตร์ -
๑๙ ตำรายา ๒
๒๐ รวมหลายหมวด ๑๗๓
๒๑ อื่น ๆ ๒๕
รวม ๑๑,๙๓ มัด

เอกสารสารที่มีอายุเก่าแก่ของวัดนี้คือ คัมภีร์ชื่อ อัตถกถาอุปริปัณณาส จ.ศ. ๙๑๑ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๙๒ มีอายุ ๔๔๗ ปี รองลงมาคือ กัจจยนรูปทีปนี จ.ศ.๙๕๐ ตรงกับ พ.ศ.๒๑๓๑อายุ ๓๙๙ ปี คัมภีร์ที่ได้รับการอนุรักษ์แล้วเก็บรักษาไว้ที่มตู้ธรรมในหอพระไตรปิฏกจำนวน ๑๐ ตู้ และทางโครงการฯ ได้ถ่ายไมโครฟิล์มเก็บรักษา และบริการทางวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
วรรณกรรมเหล่านี้นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เปี่ยมคุณค่ายิ่งเพราะเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ให้ข้อสนเทศที่มีคุณค่า ทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรมภาษาศาสตร์ ฯลฯ สมควรที่มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างจริงจังและเป็นระบบต่อไป

วรรณกรรมที่สำคัญ
ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าวรรณกรรมจารึกตู้พระไตรปิฏกวัดสูงเม่น เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นอีกประเภทหนึ่งที่น่าศึกษา จึงได้เลือกนำเสนอดังนี้




จารึกตู้พระไตรปิฏกวัดสูงเม่น

ทะเบียนจารึก -
อักษร ธรรมล้านนา
ภาษา ไทย/บาลี
ศักราช พุทธศักราช ๒๓๗๘
วัตถุจารึก บานประตูตู้พระไตรปิฏกด้านใน
ลักษณะวัตถุ บานประตูลงรักปิดทองจารเป็นรอยอักษร
ขนาดวัตถุ เนื้อที่ ๆ ใช้จารึกกว้าง ๙ นิ้ว ยาว ๑๘ นิ้ว
สถานที่พบ หอธรรมวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
ผู้อ่านจารึก นายมณเฑียร ผาทอง

คำจารึก

( บ.๑ ) จุฬสกกราช ๑๑๙๗ ตวมแมสนำ
กเมพชชขอมภิไสรเข้ามาไนวสสานอุ

( บ.๒ ) ตต - - มาสสกีสสนะสุกษบกขบนน
รสสรวิวาฬไถงไทัยภาสาวาปลีดับ
เมษเดิร ๑๒ ขีน ๑๕ คำแมงอาทิตยะ
ไทยกัษ

( บ.๓ ) รัาจนทจรณยุตกิสรเดฌเข้าทยม
นกขตตฤกษ์ตวถวร๗สฐิต์ไนตุนรวาย
สีปถมมหามุลลสัทธาหมายมิเจัานาย
น้ยอ



( บ.๔ ) - - ไชยปงวกฐจิติตบสาทสทธาญาณ
สมบยุตตอสขำ ริกจิตติดไนนวเลา
กุตตรมมคผละนิพพานธรมมเจ้าโยษ
ยิงจิงอัอ

( บ.๕ ) ปลาวาจักสางแปลงยังหีดหัลงไห่ย
ไวัยไส่พรวรสธรมม คำชูวรพุทธ
สาสนามีความบนนิธานบราถนาไปล
แล้ว ตนทานลวดเถิงแกอนิ
( บ.๖ ) จจกรมมนำเอาตนไพัสู่บลโลคคพาย
หนัาเสัยบัตนิสรมเดฌมหารฐาธิบตติ
องค์ตนเปนพรวรราชบิตาแลอคคราช
เทวีแมเจัาสุภ

( บ.๗ ) ณรวดีตนเปนชนิกมาดาจิงได้เลิก
สางแปลงยังหิดธรมมไหัยไสัดัวยสุ
วณณชาษคำแดงวิวิธวิจิตรไสแสง
เริองเริอเดิมเพิอว่าจักไหั

( บ.๘ ) เปนกุสลรไพัเถิงเจ้านายนัยอสีวิ
ไชยตนเปนพรวรโอรสสบุตตแหงตน
แทัดีล นิพพานบจจเยาเหาตุเวา
นิจจํธุวํธุวํ

คำอ่านจารึก

( บ.๑ ) จุลศักราชได้ ๑๑๙๗ ตัว มแมฉนำ
กัมพูชาขอมพิสัยเข้าในวัสสานอุ

( บ .๒ ) ตต - - มาสสกิสสนาสุกษปักขบัน
รัสสรวิวารไถง ไทยภาษาว่าปีดับ
เม็ดเดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เม็งอาทิตย์
ไทยกัด


( บ.๓ ) เร้าจันทร์จร ณ ยุตกิ เสด็จเข้าเทียม
นักขัตตฤกษ์ถ้วน ๗ สถิตในตุลรวาย
สี ปฐมมหามูลศรัทธาหมายมีเจ้านาย
น้อย

( บ.๔ ) ( ศรีวิไชย ) ปลงวักขติจิตประสาทศรัทธาญาณ
สมปยุติอสังขาริกจิต ติดในนวโล
กุตรมรรคผลนิพพานธรรมเจ้าโยชน์
ยิ่ง จึงออก

( บ.๕ ) ปากว่าจักสร้างแปลงยังหีดหลังใหญ่
ไว้ใส่วรสัทธรรม ค้ำชูพระพุทธ
ศาสนา มีความปณิธานปราถนาไป
แล้วตนท่านลวดถึงแก่อนิ
( บ.๖ ) จกรรมนำเอาตนไปสู่ปรโลกภาย
หน้าเสีย บัดนี้สมเด็จมหารัฏฐาธิบดี
องค์ตนเป็นพระราชบิดา และอัครราช
เทวีแม่เจ้าสุพ

( บ.๗ ) รรณวดีตนเป็นชนิกมารดาจึงได้เลิก
สร้างแปลงยังหีดธรรมให้ใสด้วยสุ
วรรณชาติคำแดงวิวิธจิตรใสแสง
เรืองเรื่อเดิมเพื่อว่าจักให้

( บ.๘ ) เป็นกุศลไปถึงเจ้านายน้อยศรีวิ
ไชยตนเป็นโอรสบุตรแห่งตน
แท้ดีหลี นิพพานปจจโยโหตุโว
นิจจํธุวํธุวํ


สาระสังเขป
เจ้านายน้อยศรีวิชัยมีความประสงค์ที่จะสร้างหีดธรรมใหญ่หรือตู้พระไตรปิฏก ถวายในบวรพระพุทธศาสนา แต่ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ต่อมา สมเด็จมหารัฏฐาบดี
( เจ้าอินทวิชัย ) เจ้าหลวงเมืองแพร่ และอัครราชเทวีแม่เจ้าสุพรรณวดี จึงได้สร้างหีดธรรมใหญ่หรือตู้พระไตรปิฎกขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลไปยังเจ้านายน้อยศรีวิไชย ผู้เป็นโอรส โดย
ปรารถนานิพานเป็นจุดสูงสุด

คำอธิบาย
ข้อความจารึกข้างต้นเป็นการบอกฤกษ์ยามของการประกอบกิริยาบุญตามธรรมเนียม ซึ่งได้ระบุปีจุลศักราช ๑๑๙๗ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๗๘ ปีมะแม การบอกวันเดือนปี ผู้จารึกใช้เกณฑ์ของชาติต่าง ๆ หลายชาติ เพื่อช่วยยืนยันฤกษ์ยามและเวลาให้ตรงกัน คือใช้ทั้งแบบเขมร ( กัมพูชาขอมพิสัย ) ซึ่งยังคงใช้ภาษาบาลีร่วมกับภาษาบาลีสันสฤตและภาษาเขมร, ไทยฝ่ายเหนือ ( ไทยภาษา ) , มอญ ( เม็ง ) , ไทยฝ่ายใต้ ( ไทย ) สรุปได้ว่าการกระทำมหากุศลครั้งนี้ กระทำเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ( เดือน ๑๐ ใต้ ) ตรงกับปี ดับเม็ด ( โทศก ปีมะแม ) ของไทยฝ่ายเหนือ ตรงกับปีกัดเร้า ( ฉศก ปีระกา ) ของไทยฝ่ายใต้ พระจันทร์เสวนฤกษ์ที่ ๗ ตรงกับกลุ่มดาวฤกษ์ที่ชื่อ ปุนัพสุ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวรูปเรือสำเพา ตามตำราโหราศาสตร์ล้านนาโบราณ
แต่เดิมเจ้านายน้อยศรีวิชัย แสดงความปรารถนาออกมาจากใจโดยมุ่งหวังไปสู่ทางธรรมที่ช่วยให้พ้นโลก คือ โลกุตรธรรม ๙ ( ประกอบด้วย มรรค ๔ ผล ๔ และนิพาน ๑ )
จึงเอ่ยวาจาไว้ว่าจะสร้างหีดธรรมใหญ่หรือตู้พระไตรปิฏก ไว้ใส่พระคัมภีร์เพื่อค้ำชูพระพุทธศาสนา แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อน
ฝ่ายบิดาคือเจ้าอินทวิชัยซึ่งในจารึกใช้ราชาศัพท์ว่า “ สมเด็จมหารัฏฐาธิบดี ” และมารดาในจารึกเรียกว่า “ อัครราชเทวีแม่เจ้าสุพรรณวดี ” จึงได้จัดสร้างหีดธรรมหรือตู้พระไตรปิฏกลงรักปิดทองมีความวิจิตรเรืองรองเพื่ออุทิศ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปยังเจ้านายน้อยศรีวิไชยผู้เป็นโอรสกุศลเหล่านั้นท่านทั้งหลายมุ่งหมายให้เป็นปัจจัยไปสู่นิพพานอันเที่ยงแท้และยั่งยืน

สรุป
วรรณกรรมท้องถิ่นวัดสูงเม่น หรือวัด “ สุ่งเม่น ” เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ท้องถิ่นที่เก่าแก่ซึ่งพระสงฆ์และชนชั้นนำในท้องถิ่นเขียนขึ้น และรวบรวมจากเมืองใกล้เคียง ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนามีอายุกว่าหนึ่งร้อยปีถึงสี่ร้อยปีครึ่ง วรรณกรรมตู้พระไตรปิฏกวัดสูงเม่นเป็นวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทหนึ่งที่ให้ข้อสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านต่าง ๆ เนื้อหาของวรรณกรรมสะท้อนถึงความคิดความเชื่อและเหตุการณ์ทางสังคมในอดีตโดยเฉพาะคติ
ความเชื่อ โดยเฉพาะคติในการบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนาของชนชั้นสูงในท้องถิ่น
ทั้งยังให้คุณค่าทางภาษาและให้ข้อสนเทศที่รอการศึกษาอย่างลึกซึ้งต่อไป.

******************************
เชิงอรรถ
ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้รับความเมตตาอย่างดียิ่งในด้านเอกสาร ข้อมูลและคำแนะนำอันมีคุณค่าจากพระเดชพระคุณ พระครูธรรมานุรักษ์ เจ้าอาวาสวัดสูงเม่น และพระอาจารย์สุวิทย์ ปัญญาวุโธ ผู้เขียนขอบกราบขอบพระเดชพระคุณพระคุณเจ้าทั้งสองเป็นอย่างสูง ไว้ ณ ที่นี้
พระยาอนุมานราชธน, ๑๐๐ ปีพระยาอนุมานราชธน งานนิพนธ์ชุดสมบูรณ์ของศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน หมวดภาษา เล่มที่ ๒ เรื่องความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย (กรุงเทพฯ :. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๒ ) ,หน้า ๒๒๑.
เรื่องเดียวกัน , หน้า ๒๑๘ .
โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ฯ สารบัญรายชื่อคัมภีร์ และดัชนีรายชื่อคัมภีร์วัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ( เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ( ๒๕๓๑ ) .
โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ฯ. คู่มือใช้บัตรข้อมูลคัมภีร์ใบลาน ปั๊ปสา สมุดข่อย และเอกสารโบราณอื่นๆ (เชียงใหม่. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๑ ), หน้า
๒๔ - ๒๕.
พิจารณาจากธรรมชาติของวรรณกรรมเหล่านี้ควรตรงกับการศึกษาจารึกวิทยา
( Epigraphy ) โปรดดู William Benton , “ Epigraphy , ” ( Encyclopaedia Britanica ) ( Maclopaedia ) ๕ ( ๑๙๙๖๕ ) : ๙๑๕ .







โดย : นาย มณเฑียร ผาทอง, โรงเรียนสูงเม่นชนูปถัมภ์ อ.สูงเม่น จ.แพร่ E-mail : montianp@hotmail.com, วันที่ 17 พฤษภาคม 2545