ลิลิตพระลอ

ลิลิตพระลอ

ลิลิตพระลอ ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
เจ้าอยู่หัวว่า เป็นยอดของวรรณคดีไทยประเภทลิลิต เพราะเป็นหนังสือที่เพียบพร้อมด้วย
คุณสมบัติแห่งวรรณคดี คือถ้อยคำสำนวนแทบทุกบททุกบาท มีความไพเราะซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง
ดังเช่น หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้กล่าวไว้ในหนังสือวิเคราะห์รสวรรณคดีไทยว่า
“ถ้อยคำที่ร้อยกรองประดุจพวงมาลาอันหาที่ติไม่ได้ เป็นเครื่องจรุงใจขัดเกลาอารมณ์ธรรมดาให้กลายเป็นอารมณ์ที่รื่นเร้าเหนือธรรมดา”
ลิลิตพระลอ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด สันนิษฐานว่าอาจแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือไม่ก็ในสมัยพระนารายณ์ แต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ
ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อให้เกิดความสำราญพระราชหฤทัย แต่งด้วยลิลิตสุภาพ มีโคลงสุภาพ
ร่ายสุภาพและร่ายโบราณ เนื้อเรื่องกล่าวถึงเมืองสองเมืองเป็นศัตรูกันคือเมืองสรวงและเมืองสรอง
เมืองสรวงมีกษัตริย์คือท้าวแมนสรวงมีมเหสีคือนางบุญเหลือ มีโอรสชื่อพระลอ พระลอมีมเหสี
ชื่อนางลักษณาวดี ส่วนเมืองสรอง มีกษัตริย์ชื่อท้าวพิมพิสาคร ท้าวพิมพิสาครทำสงครามกับ
เมืองแมนสรวงถูกท้าวแมนสรวงฆ่าตาย ท้าวพิชัยพิษณุกรโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อ มีมเหสีชื่อ
ดาราวดี มีธิดา 2 คนคือพระเพื่อน พระแพง ซึ่งมีศิริโฉมงดงามยิ่งนัก ส่วนเมืองสรวงเมื่อสิ้นท้าวแมนสรวง พระลอโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อ ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีที่แปลกกว่าเรื่องอื่นคือ
เรื่องนี้จะชมความงามของตัวเอกที่เป็นผู้ชายคือชมโฉมพระลอ กิตติศัพท์ความสง่างามของพระลอเลื่องลือไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งพระเพื่อนพระแพงได้ฟังแล้วถึงกับกินไม่ได้นอน
ไม่หลับ อยากได้พระลอเป็นพระสวามี ในที่สุดก็ต้องหาหมอทำเสน่ห์ให้พระลอหลงใหล โดยปู่เจ้าสมิงพรายเป็นผู้ช่วยทำเสน่ห์ให้พระลออยู่เมืองสรวงไม่ได้ ต้องเดินทางไปพบพระเพื่อน
พระแพงที่เมืองสรอง โดยปู่เจ้าสมิงพรายเสกสลาให้เป็นไก่ไปล่อพระลอมาพบพระเพื่อนพระแพง มีนางรื่นนางโรยพี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงเป็นผู้ลอบพาพระลอไปที่ตำหนักพระเพื่อนพระแพง ต่อมาท้าวพิชัยพิษณุกรทราบเรื่องก็คิดจะจัดพิธีอภิเษกให้ แต่ย่าเลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงยังมีความพยาบาทเมืองสรวง จึงอ้างรับสั่งพระพิชัยพิษณุกรให้ทหารมาล้อมจับพระเพื่อนพระแพง พระลอ และพี่เลี้ยงทั้ง สี่ ต่อสู้กันจนกระทั่งพระเพื่อนพระแพง พระลอ และพี่เลี้ยงเสียชีวิต ทั้งหมด ท้าวพิชัยพิษณุกรทราบ ทรงเสียพระทัยมาก จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าย่าและทหาร และให้จัดการพระศพของสามกษัตริย์อย่างสมเกียรติ และส่งพระราชสารไปยังเมืองสรวงให้ทราบ หลังจากนั้นสองเมืองก็กลับไมตรีกัน



ตัวอย่างถ้อยคำโวหารจากเรื่องลิลิตพระลอ
โคลงบทที่แต่งได้ถูกต้องตามลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ บังคับ เอก 7 แห่ง โท 4 แห่ง

เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับไหลลืมตื่น ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
คติธรรมหรือข้อคิด
ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้ ก่อเกื้อรักษา
ยามไร้เด็ดดอกหญ้า แซมผม พระเอย
หอมบ่หอมทัดดม ดั่งบ้า
สุกรมลำดวนชม หอมกลิ่น พระเอย
หอมกลิ่นเรียมโอ้อ้า กลิ่นแก้วติดใจ
เล่นคำเล่นอักษร
กาจับกาฝากต้น ตุมกา
กาลอดกาลากา ร่อนร้อง
เพกาหมู่กามา จับอยู่
กาม่ายมัดกาซร้อง กิ่งก้านกาหลง
ลางลิงลิงลอดไม้ ลางลิง
แลลูกลิงลงชิง ลูกไม้
ลิงลมไล่ลมติง ลิงโลด หนีนา
แลลูกลิงลางไหล้ ลอดเลี้ยวลางลิง
บทพรรณนาชมไก่ที่ปู่เจ้าสมิงพรายใช้ไปล่อพระลอให้เข้าเมืองสรอง
“ปู่กระสันถึงไก้ไพรพฤกษ์ ปู่รำลึกถึงไก่ไก่ก็มา บ่รู้กี่คณากี่หมู่ ปู่เลือกไก่ตัวงาม
ทรงทรามวัยทรามแรง สร้อยแสงแดงพระพราย ขนเขียวลายยะยับ ปีกสลับเบญจรงค์
เลื่อมลายหงสบาท ขอบตาชาดพะพริ้ง สิงคลิ้งหงอนพรายพรรณ ขันขานเสียงเอาใจ
เดือยงอนใสระรอง “


เรื่องนี้ใช้ภาษาที่ไพเราะสละสลวย มีการเล่นคำเล่นอักษร ทำให้เกิดภาพพจน์ชัดเจนและแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่าง แม่กับลูก สามี - ภรรยา ความรักฉันชู้สาวและความรักระหว่าง นายกับบ่าว มีคติธรรมและข้อคิดต่างๆอีกมาก และมีรสวรรณคดีครบทุกรส สมกับที่ได้รับยกย่องเป็นยอดของวรรณคดีลิลิต



โดย : นาง สุกันย์ นางาม, นารีนุกูล, วันที่ 29 มิถุนายน 2545