การศึกษากับชีวิต


การศึกษา กับ ชีวิต เป็นส่วนที่มีมิติสัมพันธ์กันตั้งแต่เกิดจนสิ้นอายุขัย
การศึกษา กับชีวิตมิสามารถแยกจากกันโดยเด็ดขาดและสิ้นเชิง แต่เหตุใด จึงมี
นักการศึกษา(เรียกตัวเอง) ไม่น้อยที่พยายาม สร้างเงื่อนไขแห่งการศึกษาที่ห่างไกล
จากชีวิตจริง และสร้างความเชื่อว่า สิ่งที่ตนสร้างขึ้นมาถูกต้อง ผูกมัด และ ทุกคน
ต้องปฏิบัติ ซึ่งความเชื่อนี้ เป็นสิ่งที่น่าคิด หากเรียนจากภายในสู่ภายนอก แล้ว
นำสิ่งที่อยู่ภายนอกมาสัมผัสประสานเป็นหนึ่งเดียวกับภายใน ให้เป็นองค์แห่งชีวิต
เพื่อการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องและเป็นจริง มิได้ล่องลอยพึ่งพิงภายนอกเป็นหลัก ดังกระแสนิยมผลิตคนเข้าโรงงาน จำหน่ายคนออกจากโรงงาน หมุนเวียนถ่ายเทไป
โดยการกำหนดเสป็คของคนให้สอดคล้องกับโรงงานประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่ละดับเล็กจนถึงระดับมหภาค เป็นที่น่าคิด การศึกษากับชีวิต จะต้องถูกบิดเบือน ดำเนินไปเพียงเพื่อการบรรลุเป้าหมายจากการกำหนดของผู้อื่นอยู่ร่ำไปหรือเช่นไร การศึกษาเพื่อให้คนเข้าใจชีวิต ในสภาพที่เป็นจริง มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด และน่าคิดมาก
ว่าทำไมบุคคลชั้นนำของประเทศ จากหลากหลายสาขาอาชีพ สุดท้ายเหตุใดมุ่งเข้าสู่
การศึกษากับชีวิต เช่น ท่านศาสตราจารย์ประเวศ วะศี ท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก
ท่านศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช และอีกหลายท่านหลายสาขาอาชีพ
ความเชื่อเรื่องการศึกษากับชีวิต เริ่มต้นที่เด็ก ๆ วัยเยาว์ จะเป็นไปได้หรือไม่
หรือต้องเรียนสิ่งไกลตัว ตามหลักสูตรที่ถูกกำหนด(ใครกำหนด) ต้องเรียนพิเศษเพื่อ
ให้เรียนต่อได้(ในวิชาที่ถูกกำหนดให้สอบ) แต่วิชาชีวิต มิได้ถูกสอนอย่างจริงจัง แม้จะมีชื่อวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต แต่ชีวิตภายในมิได้ถูกฝึก โดยอาศัยความเชื่อว่า
เด็กไม่มีความพร้อมที่จะเรียน แต่ ท่าน พุทธทาส เรียนด้วยการอ่านและสนทนาธรรม
ตั้งแต่ท่านเยาว์วัย เชื่อว่าเป็นกุศลส่งผลให้ท่านสร้างกุศลกรรมแด่มวลมนุษย์มากมาย
เรากำลังมีครูหลายแบบ ทั้งต้นแบบ ทั้งแกนนำ เชื่อว่าน่าจะดี และเห็นด้วย ที่จะมี
ครูดี ๆ และจะเห็นด้วยมากยิ่งขึ้นถ้าเป็นครูต้นแบบ ของการศึกษากับชีวิต ดังเช่น ท่าน
ที่ได้นำมากล่าวอ้างถึง สุดท้ายของชีวิตอยู่ที่ใด โรงงาน หรือครอบครัวแห่งชีวิต
ยิ่งเรียนยิ่งต้องพรากจากครอบครัว ยิ่งเรียนยิ่งต้องห่างจากชุมชนธรรมชาติ เข้าสู่ชุมชนศิวิไลซ์(ที่เขาว่า) เพื่อให้สมกับความรู้ที่ได้เรียน แล้วชีวิต ต้องรอใกล้วันสุดท้ายของชีวิต จึงกลับมาย้อนหาเช่นนั้นฤา
เคยพาเด็กจากเมืองใหญ่จากโรงเรียนที่มีชื่อ ไปร่วมอยู่และเรียนรู้กับเด็กชาวเขาที่ห่างไกล ปรากฎว่า ต่างล้วนเป็นมิตรและมีความสุขที่ได้แลกเรียนรู้ประสบการณ์ เด็กดอยที่เราดูแล รู้สึกตื่นเต้นกับความสามารถทางเทคโนโลยีของเด็กกรุง เด็กกรุงตื่นเต้น
กับการสัมผัสธรรมชาติและชีวิตจริงในขุนเขา ผมเชื่อว่าเด็กทั้งสองกลุ่มกำลังแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ด้วยการศึกษากับชีวิต เห็นความเอื้ออาทรของเด็กจากสองแหล่งที่มีจิตใจงดงามทั้งคู่ ทำให้ผมเชื่อว่า เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้สภาวะจิต อย่างเป็นธรรมชาติ
ได้เช่นกัน เด็กมีความพร้อม ถ้าการจัดการศึกษาเอื้อให้เด็ก ๆ ได้เรียน เด็กชายปริญญา
โชคดีที่ได้เรียนรู้ชีวิตในอีกมุมหนึ่ง เด็ก ๆ ในดอยที่ผมดูแลก็โชคดีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับเด็กกรุงที่เป็นเด็กดี เพราะเรามีครูดี ครูชัยอนันต์ ที่เข้าใจชีวิต ส่งลูกศิษย์ คนดี
ไปทำหน้าที่แลกเปลี่ยนความรู้กับเด็กบนดอยสูง ผมเชื่อ ว่า ถ้าครูดี เด็กจะมีโอกาส
ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เป็น การศึกษากับชีวิต และผมเชื่อว่าความรู้เลื่อนไหลถ่ายโยงกันได้
รวดเร็ว แต่ถ้าดึงการศึกษาให้ห่างไกลจากชีวิต โอกาสจะดึงกลับเข้าสู่ การศึกษากับชีวิติ
น้อยและใช้เวลามากกว่าการปล่อยให้ไหลออก แต่เป็นที่น่าแปลกใจ ว่าขณะนี้ ครู กำลังสอน และหรือพยายามทำอะไร เพื่อเด็ก ๆ อย่างจริงแท้ หรือไม่ ผมเชื่อมีครูอยู่ไม่น้อยที่มีจิตใจแห่งความเป็นครูที่จัดการศึกษากับชีวิต แต่ก็คงมีไม่น้อยเช่นกัน ที่พยายายามดึงเด็กออกจากชีวิตจริง ดัชนี ที่ชี้ให้เห็นได้ เด่นชัด คือ ปัญหาเยาวชนในรูปแบบต่าง ๆ
บทความนี้ คงเป็นบทความที่จบไม่ได้ในหนึ่งคืน ขอเพียงครูที่มุ่งหวัง จัดการศึกษาให้กับชีวิตได้ฟื้นคืน เพื่อยืนหยัด หน้าที่ ครู ในแบบ ที่ครูเป็น สมกับศิย์อย่างผม
ประทับใจและตั้งใจสานต่องานครู แม้อาจถูกเรียกว่ากลุ่มล้าหลัง ก็ยอม และคิดว่ายังดีกว่ากลุ่มก้าวหน้า หากิน และแอบอ้างเด็กเพื่อชีวิตตน โดยไม่คำนึง ว่าชีวิตเด็กต่อไปจะเป็นเช่นไร เมื่อพ้นจากความรับผิดชอบของตนก็โยนภาระให้ผู้รับช่วงต่อไป สุดท้าย
โยนให้สังคม สังคมคือใคร ใครคือสังคม เป็นสิ่งน่าคิด ถ้าคิดให้ลึก เปรียบเสมือนการโยนปัญหาไว้รอบ ๆ ตัว พ้นตัวคือปัญหาสังคม ถ้าเป็นเช่นนี้ สมควรฤา ที่ เด็ก ๆ จะเรียนว่า ครู สมควรฤา ที่จะต้องมีวันไหว้ครู
เจตนาของบทความฉบับนี้ มุ่งหวังเทอดทูน ครู และ ตำหนิ ผู้แอบอ้างว่าเป็นครู
ผู้อ่าน อ่านแล้วย่อมเกิดความรู้สึกได้หลายทาง แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นเจตนาที่บริสุทธิ์
และส่งเสริมครูจริง ๆ โดยพยายามกระตุ้นเตือนผู้แอบอิงชื่อของครู ให้ตระหนักว่า
ผลเสียระยะยาว เราทุกคนล้วนต้องรับผิดชอบ และอาจต้องส่งต่อความรับผิดชอบไปบังรุ่น ลูก หลาน เหลน โหลน ของเรา ถ้าเรามุ่งหวังให้ลูกหลานได้สร้างสรรค์เป็นหลัก
โดยไม่เสียเวลามาแก้ปัญหาตกค้างจากคนรุ่นเรา เราคงจำเป็นต้องร่วมใจ ลงมือทำสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกหลานของเรา คงไม่จำเป็นต้องเสียเวลารอสิ่งที่เรียกว่า
"นโยบาย" และ "การสั่งการ" อาจารย์ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ท่านเคยสอนไว้เมื่อท่าน
ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่ผมบรรจุเข้ารับราชการครูใหม่ ๆ ว่า "อะไรที่ดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำได้เลยไม่ต้องรออธิบดีสั่ง ไม่ต้องรอเป็นอธิบดีแล้วค่อยทำ" เป็นความที่จำได้เสมอเพราะมีคุณค่าแห่งการจดจำ พวกเราคงไม่ต้องรอ ให้มีตำแหน่ง(สมมุติที่ตั้งขึ้น) มาเป็นสิ่งล่อให้ทำงานเพื่อเด็กและส่วนร่วม ใครไม่รู้ใครไม่เห็น ใครไม่ใส่ใจ แต่
ผมเชื่อว่าท่านจะรู้และพากพูมใจทุกครั้งที่คิดถึง และไหว้ตัวเองได้ ดังที่ท่านพุทธทาส สอนไว้ว่า ต้องปฏิบัติตนจนไหว้ตนเองได้อย่างมั่นใจจึงเรียกได้ว่ามนุษา

ด้วยความศรัทธาในครูที่เคารพรักเสมอมา
ว่าที่ ร.ต.จิรชัย บูรณะฤทธิ์ทวี






โดย : อื่นๆ จิรชัย บูรณะฤทธิ์ทวี, ศูนย์บริการการศึกานอกโรงเรียนอำเภอแม่ฟ้าหลวง, วันที่ 25 มิถุนายน 2545