หัวใจ

หัวใจ
หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความมหัศจรรย์มาก กลุ่มเซลล์มีการก่อร่างสร้างหัวใจขึ้นตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา หัวใจเริ่มเต้นแล้ว และจะเต้นตลอดไป ไม่มีวันหยุดตราบเท่าที่ยังมีชีวิต หัวใจไม่เคยมีวันพัก จึงเป็นอวัยวะที่มีความแข็งแรงมาก ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมใครๆจึงชอบเปรียบเทียบเรื่องของอารมณ์จิตใจเป็น”หัวใจ”ไปเสียหมด ทั้งๆที่ความจริงแล้วหัวใจคนเราแข็งแรงกว่า จิตใจมากนัก

เราสามารถแบ่งหัวใจออกตามลักษณะ (กายวิภาค) และตามหน้าที่ได้ ดังนี้

1. เยื่อหุ้มหัวใจ เป็นเยื่อบางๆใสๆห่อหุ้มหัวใจไว้ เป็นสาเหตุของโรคบางชนิด เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบติดเชื้อ มะเร็งแพร่กระจายมายังเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นต้นเยื่อหุ้มหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญแต่ไม่จำเป็นถึงชีวิต ในกรณีที่เป็นโรค เราอาจทำการผ่าตัดเลาะเยื่อหุ้มหัวใจทิ้งได้
2. หลอดเลือดหัวใจ จะอยู่บริเวณภายนอกหัวใจ ( เยื่อหุ้มหัวใจ ) ส่งแขนงเล็กๆลงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัว-ใจ หลอดเลือดหัวใจมีเส้นใหญ่ๆ อยู่ 2 เส้น คือ ขวา (right coronary artery) เลี้ยงหัวใจด้านขวา และซ้าย (left coronary artery) เลี้ยงหัวใจด้านซ้ายเป็นส่วนใหญ่ ด้านซ้ายจะแตกแขนงใหญ่ๆ 2 แขนง คือ left anterior descending artery และ left circumflex artery ซึ่งจะมีแขนงเล็กๆอีกมากมาย โรคของหลอด-เลือดหัวใจอาจเกิดจากหลายสาเหตุแต่ที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของไขมันที่ผนังทำให้หลอด เลือดหัวใจตีบและตันในที่สุด (ไม่ใช่มีก้อนไขมันในเลือดลอยไปอุดตัน ตามที่เข้าใจกัน)
3. กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการบีบตัวไล่เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และขยายตัวเพื่อรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจจึงเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก หากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวหรือคลายตัวผิดปกติแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ซึ่งส่วนมากอาจไม่สามารถแก้ไขให้กลับเป็นปกติได้ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจต้องอาศัยพลังงานที่ได้จากสารอาหารที่ถูกนำมาโดยหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้นโรคของหลอดเลือดหัวใจจึงมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง
4. ลิ้นหัวใจ และผนังกั้นห้องหัวใจ หัวใจคนเรามี 4 ห้องแบ่งซ้าย-ขวา โดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจและแบ่งห้องบน-ล่าง โดยลิ้นหัวใจเลือดระหว่างห้องซ้าย-ขวาจึงไม่ปะปนกัน ในบางครั้งการสร้างผนังกันห้องหัวใจไม่สมบูรณ์เกิดเป็นรูโหว่ขึ้นได้ เป็นชนิดหนึ่งของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจทำหน้าที่ให้เลือดไหลผ่านและไม่ไหลย้อนกลับ ดังนั้นหากลิ้นหัวใจผิดปกติ เช่น ตีบ ฉีกขาด ปิดไม่สนิท(รั่ว) ก็ย่อมทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้น โรคลิ้นหัวใจที่เป็นปัญหามากที่สุดคือลิ้นหัวใจพิการรูมาห์ติค ซึ่งเป็นผลจากการติดเชื้อคออักเสบ






ระบบไฟฟ้าหัวใจ การที่หัวใจสามารถเต้นได้นั้น เนื่องจากหัวใจส่งกระแสไฟฟ้าที่สร้างขึ้นเอง จากหัวใจห้องขวาบนมายังหัวใจห้องซ้ายบนและห้องล่าง เมื่อไฟฟ้าผ่านไปจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการบีบตัวไล่เลือดเลือดจึงไหลอย่างมีระเบียบ ดังนั้น หากระบบ ไฟฟ้าผิดปกติไปไม่ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ก็จะชักนำให้เกิดการเต้นที่ผิดจังหวะ ผิดปกติ ซึ่งบางครั้งรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิต




การทำงานของหัวใจ
หัวใจเริ่มเต้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา กล้ามเนื้อหัวใจมีลักษณะพิเศษกว่ากล้ามเนื้ออื่นๆ คือ สามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าได้เอง ไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะเริ่มต้นจากหัวใจห้องขวาบนเรียกว่า Sinus Nod โดยมีอัตราการปล่อยไฟฟ้า ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที (ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนหลายชนิด) ไฟฟ้าที่ออกจาก Sinus Node จะกระจายออกไปตามเซลล์นำไฟฟ้า ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในหัวใจเริ่มจากขวาไปซ้าย (ห้องบนขวาไปห้องบนซ้าย) และลงล่างด้วยเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจถูกกระแสไฟฟ้านี้ ก็จะเกิดการหดตัวขึ้นทำให้เกิดการบีบตัวของห้องหัวใจ ดังนั้นการบีบตัวของห้องหัวใจจึงเริ่มจากด้านขวามาซ้าย และห้องบนก่อนห้องล่าง
วงจรการไหลเวียนของเลือดจะเริ่มจาก หัวใจห้องขวาบนรับเลือดดำจากส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น แขน ขา เลือดส่วนนี้จะไหลผ่านลิ้นหัวใจไตรคัสปิด (Tricuspid) ไปยังหัวใจห้องขวาล่างซึ่งจะบีบตัวตามมาไล่เลือด (เป็นเลือดดำ) ออกไปฟอกที่ปอดโดยผ่านหลอดเลือดที่เรียกว่า Pulmonary Artery เลือดจะถูกฟอกที่ปอดโดยอาศัยการแลกเปลี่ยน gas ผ่านทางหลอดเลือดเล็กๆที่ผนังถุงลมของปอด จากนั้นเลือด (เป็นเลือดแดง) จะไหลมารวมกันที่หลอดเลือดใหญ่ที่เรียกว่า Pulmonary Vein เพื่อไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีกครั้งที่ห้องซ้ายบนเลือดไหลจากห้องซ้ายบนลงมาซ้ายล่างโดยผ่านลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral) เมื่อเลือด (แดง) อยู่ในห้องหัวใจซ้ายล่างแล้วก็พร้อมที่จะถูกฉีดออกไปเลี้ยงร่างกายทางหลอดเลือดแดงใหญ่ Aorta ผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติค (Aortic) เมื่อผ่านส่วนต่างๆแล้ว เลือดจะกลับสู่หัวใจด้านขวาอีกครั้ง
จะเห็นได้ว่าระบบไฟฟ้าหัวใจมีประสิทธิภาพมากในการควบคุมวงจรการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้แต่ละห้องหัวใจสัมพันธ์กัน ดังนั้น ไม่ว่าระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือ กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัว ย่อมมีผลต่อร่างกายทั้งสิ้น










ที่มา : http://www.thaiheartweb.com
เรียบเรียงโดย นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา อายุรแพทย์โรคหัวใจ



โดย : นางสาว ศิรินาฏ นาคมนต์, โรงเรียนหัวไทรบำรุงราษฎร์, วันที่ 15 มกราคม 2545