โครงงานวิทยาศาสตร์

หัวข้อโครงงาน ใบน้อยหน่ากำจัดเหา
ชื่อนักเรียน เด็กชายปฐมพงศ์ จันทร์แก้ว
เด็กชายวโรดม ถ้วนถวิล
เด็กชายสุรพงศ์ อินริสพงศ์
ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อครูที่ปรึกษา อาจารย์ศศิมา สงอาจินต์
โรงเรียน โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์
ปี พ.ศ. 2544

บทคัดย่อ

โครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อทดลองใช้สารสกัดจากใบน้อยหน่ากำจัดเหา ผู้จัดทำร่วมกันวางแผนปฏิบัติงาน โดยเริ่มสำรวจรายชื่อจำนวนนักเรียนหญิงของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2-ป3/9 จำนวน 183 คน คณะผู้จัดทำได้คิดไว้ประมาณ 50 คน แต่จากผลการสำรวจพบว่ามีนักเรียนหญิงเป็นเหา จำนวน 88 คน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้จึงสรุปว่านักเรียนหญิง ป.3 ากผู้จัดทำคิดว่าปัญหานี้จำเป็นต้องดำเนินการต่อเป็นครั้งที่ 2 โดยเริ่มทำการสำรวจรายชื่อนักเรียนที่ผู้ปกครองอนุญาตให้เข้าร่วมโครงงานทั้งหมด 84 คน ผู้จัดทำจึงได้ออกแบบทดลองนำใบน้อยหน่าผสมกับปูนกินหมาก แล้วนำไปบดให้ละเอียดแล้วนำไปกรอง ได้สารที่สกัดจากใบน้อยหน่า และทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วนำไปขยี้ให้ทั่วศีรษะ ล้างน้ำออกให้สะอาด สังเกตผลการทดลองเปรียบเทียบความสามารถในการกำจัดเหาในการทดลอง 5 ครั้ง บันทึกผลการเปลี่ยนแปลง
ผลการศึกษาพบว่าสารที่สกัดจากใบน้อยหน่าผสมกับปูนกินหมากจะเกิดปฎิกริยาเคมีทำให้เหา
เมาและตัวเหาตายในที่สุด

แนวคิด ที่มา และความสำคัญของโครงงาน

โรคเหาเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กนักเรียน ซึ่งโดยทั่วไปจะทราบกันดีว่าเป็นโรคที่น่ารังเกียจของเพื่อน ๆ และจะทำให้คันหนังศีรษะ โดยมากจะพบที่โรงเรียน ที่บ้าน ตลอดถึงชุมชนต่าง ๆ
โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์เป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองสนใจและส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ประมาณ 3,100 คน ผู้จัดทำเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 มีนักเรียนทั้งหมด 55 คน เป็นโรคเหา จำนวน 12 คน ผู้จัดทำได้ดำเนินการกำจัดเหาได้
ผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว และจากผลงานดังกล่าวทางผู้จัดจึงร่วมกันวางแผนเพื่อหาแนวทางขยายผลต่อไป ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2-ป.3/9 มีนักเรียนหญิงทั้งหมด 183 คน จากการสำรวจพบว่า นักเรียนหญิงเป็นเหา จำนวน 88 คน ผู้จัดทำจำเป็นต้องทำครั้งที่ 2 ขึ้นมาอีก เพื่อแก้ปัญหาของเพื่อน ๆ ที่เป็นเหาต่อไป การทดลองนี้ใช้ใบน้อยหน่าผสมกับปูนกินหมาก ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ใกล้ตัวเรา สามารถหาได้ง่าย ไม่เปลืองค่าใช้จ่ายและยังทราบอีกว่า จากการศึกษาค้นคว้าและปรึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน(ยายของผู้จัดทำ) พบว่าสมุนไพรใบน้อยหน่าผสมกับปูนขาวสามารถกำจัดเหาได้ โดยไม่เป็นอันตรายและ
ไม่อาการแพ้เหมือนใช้สารเคมี ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
จากเหตุผลดังกล่าวจึงคิดทำการทดลองใบน้อยหน่ากำจัดเหา เพื่อใช้สารสกัดใบน้อยหน่า
ที่ได้นำไปให้เพื่อนนักเรียนหญิงใช้ในการสระผม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ.

จุดมุ่งหมายในการค้นคว้า
1. เพื่อทดลองนำใบน้อยหน่าเป็นสมุนไพรธรรมชาติมาใช้ในการรักษาโรคเหา
2. เพื่อนำสมุนไพรท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
3. เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสมุนไพรธรรมชาติบางชนิด
4. เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีกำจัดเหา
5. เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ

สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า

ใบน้อยหน่าเมื่อผสมกับปูนกินหมากจะเกิดปฎิกริยาเคมี ทำให้เหาเมาและตายในที่สุด

ตัวแปรการที่เกี่ยวข้อง

1. ตัวแปรต้น
- ใบน้อยหน่า
2. ตัวแปรตาม
- ความสามารถในการกำจัดเหา
3. ตัวแปรควบคุม
- ปริมาณใบน้อยหน่า
- ปริมาณปูนกินหมาก
- ปริมาณน้ำ
- จำนวนเหา
- เวลา

ขอบเขตการศึกษาค้นคว้า

ศึกษาและทดลองใบน้อยหน่าผสมกับปูนกินหมาก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 / 2 – 3 / 9 โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับใบน้อยหน่า

น้อยหน่า ( Castard apple )
ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona Squamosa linn
วงศ์ ANNONA CEAE
ชื่อท้องถิ่น น้อยแน่ (ภาคใต้) มะนอแน่ มะแน่ ( ภาคเหนือ) มะออจ้า
มะโอล่า (เงี้ยว-ภาคหนือ) ลาหนัง (ปัตตานี) หน่อเกล๊าะแซ
(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) บักเขียบ (ภาคอีสาน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

- ต้น เป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กแตกกิ่ง ก้านสาขาออกเป็นก้านเล็ก ๆ ไม่ใหญ่โตมากนัก ผิวเกลี้ยง สีเทาอมน้ำตาล ลำต้นสูงประมาณ 8 เมตร
- ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบเป็นรูปรี ปลายและ โคนใบ แหลม ใบกว้าง ประมาณ 1-2.5 นิ้ว ยาว 3-6 นิ้ว สีเขียว ก้านใบยาว 0.5 นิ้ว
- ดอก ออกดอกเดี่ยว ๆ อยู่ตรามงามใบ ลักษณะดอกจะห้อยลง มีอยู่ 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ ชั้นในกลีบดอกจะสั้นกว่าชั้นนอก มีสีเหลือง อมเขียว กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ เกสรกลางดอกจะมีจำนวนมาก
- ผล ออกเป็นลูกกลม ๆ ป้อม ๆ โตประมาณ 3-4 นิ้ว มีผิวขรุขระเป็นช่องกลมนูนในแต่ละช่องนั้น
ภายในมีเนื้อสีขาว และมีเมล็กสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม เนื้อในทานได้มีรสหวาน เปลือกผลสีเขียว ถ้าสุก
ตรงขอบช่องนูนนั้นจะออกสีขาว เปลือกผลสีเขียว บีบดูจะนุ่ม

การขยายพันธุ์ เมล็ด
ฤดูกาลเก็บส่วนที่ขยายพันธุ์ ช่วงฤดูฝน
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเจริญเติบโต เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด

การใช้ประโยชน์
1. ทางอาหาร ยอดอ่อน หั่นฝอย ใช้ผัดหรือใส่แกง
2. ทางยา ผลนำมาใช้ 2 อย่าง คือ
- ผลดิบจะเป็นยาแก้พิษงู แก้ฝีในคอ กลากเกลื้อน ฆ่าพยาธิ ผิวหนัง
- ผลแห้ง แก้งูสวัด เริม แก้ฝีในหู
- เมล็ด ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด ฆ่าเหา และแก้บวม
- ราก เป็นยาระบาย ทำให้อาเจียน ถอนพิษเบื่อเมา
- ใบ ขับพยาธิลำไส้ ฆ่าเหา แก้กลากเกลื้อน
- เปลือกต้น เป็นยาสมานลำไส้ สมานแผล แก้ท้องร่วง แก้รำมะนาด แก้พิษงู

ฤดูกาลที่ใช้ประโยชน์ ช่วงฤดูฝน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

ในใบและเมล็ดน้อยหน่ามีสารเคมีชื่อ Anonanine ส่วนในเมล็ดมีน้ำมันอยู่ประมาณ 45 % ประกอบด้วย Organic acid หลายชนิด Resin Steroids Alkaloid และอื่น ๆ ส่วนที่เป็นเมล็ด
ในสารอัลคาลอย ชื่อ Anonaine มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ฆ่าเพลี้ยจักจั่น มวนเขียว แมลงวัน ตั๊กแตน มอดแป้ง แมลงวันทอง และ เหา
จากการศึกษาวิจัยใบและเมล็ดน้อยหน่ามีสรรพคุณในการฆ่าเหา ในปี พ.ศ. 2523
อรนุช บัวพัฒนกูล และคณะ ได้ศึกษาโดยนำน้ำยาที่คั่นได้จากเมล็ดน้อยหน่าบดคั่นกับน้ำมันมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:2 และ 1:4 ใบน้อยหน่าคั่นกับน้ำมันมะพร้าวในอัตราส่วน 1:2 ใด้ผลดีที่สุด สามารถ
ฆ่าเหาได้ถึง 98 % ในเวลา 2 ชั่วโมง แต่ต้องระวังไม่ให้เข้าตาจะเกิดอาการอักเสบ ขณะนี้โรงพยาบาล
ชุมชนหลายแห่งรณรงค์ฆ่าเหาในเด็กนักเรียน โดยใช้เมล็ดและใบน้อยหน่าได้ผลดีมาก และ
ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นพืชสมุนไพรที่สมควรใช้งานสาธารณสุขมูลฐานเป็นอย่างยิ่ง


วิธีใช้
ใบสดและเมล็ดน้อยหน่าใช้ฆ่าเหา โดยนำเอาเมล็ดน้อยหน่าประมาณ 10 เมล็ด หรือใบสดประมาณ 1 กำมือ ( 15 กรัม ) ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำมันมะพร้าว 1 –2 ช้อนโต๊ะ ขยี้ให้ทั่วศีรษะ แล้วใช้ผ้าคลุมโพกไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง และสระผมให้สะอาด (ระวังอย่าให้เข้าตา จะทำให้แสบตา ตาอักเสบได


โรคเหา ( PEDICULOSIS )

ผู้ที่มีเหาเกิดจากได้รับตัวเหาหรือไข่เหาจากการคลุกคลีหรือใช้เสื้อผ้า เครื่องใช้ของคนที่เป็น มีอาการคันศีรษะ เป็นมากตอนกลางคืน บางคนถึงกับนอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ถ้าเกามาก ๆ จะทำให้หนังศีรษะถลอกเป็นแผลได้.
สาเหตุ เกิดจากจากปรสิตชนิดหนึ่งที่เรียก ตัวเหา ( LOUSE ) ที่พบบ่อยคือ
เหาบนศีรษะ
อุบัติการณ์ พบบ่อยในเด็กผู้หญิงเนื่องจากผมยาว และมักเป็นกับเด็กเล็ก
ลักษณะโรค เมื่อไข่เหาและตัวเหาอาศัยอยู่ที่ผมและหนังศีรษะ จะทำให้คันและเกา
ถ้าเกามากอาจทำให้เกิดแผลพุพองที่หนังศีรษะ ผู้ที่เป็นจะมีความรำคาญ
และขาดสมาธิในการเรียน
การติดต่อ ติดต่อโดยตรงจากผู้ที่เป็นเหาโดยการเล่นหรือคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิด
หรือติดจากเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น หวี ติดต่อง่ายจากเด็กนักเรียนคน
หนึ่งสู่ อีกคนหนึ่งและแพร่กระจายไปติดคนอื่น ๆ ที่บ้าน หรือจากที่บ้าน
มาสู่โรงเรียนวน เวียนกันอยู่เช่นนี้
ระยะของโรค ไข่เหามีขนาด 08.x 0.3 มม. สีขาวปนเทา จะฟักตัวโดยอาศัยความ
อบอุ่นของร่างกาย กลายเป็นตัวอ่อนในระยะ 5-9 วัน และอาศัยอยู่บน
ศีรษะดูดเลือดเป็นอาหารและภายใน 2 สัปดาห์ ตัวเหาจะออกไข่ได้อีก
ระยะติดต่อ ผู้ที่มีเหาจะแพร่เหาให้แก่ผู้อื่นได้เสมอ จนกว่าตัวหาและไข่เหาจะถูก
ทำลายไปหมด

การรักษา

1. ใช้ 1.2 % Benzyl benzoate emulsion ทาผม และหนังศีรษะทิ้ง
ไว้ 8-12 ชั่วโมง จึงล้างออก อาจใช้ Gamma benzene hexachloride solution แทนแต่ไม่ควรใช้ในเด็กเล็ก
2. รักษาอาการแทรกซ้อน เช่น การอักเสบของผิวหนัง
3. รักษาทุกคนที่เป็นพร้อมกัน ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
4. รักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน โดยการซัก ต้ม
หรือผึ่งแดด
การป้องกัน

1.ตัดผมให้สั้น
2. หมั่นสระผมบ่อย ๆ
3. ไม่ใช้ของใช้ต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น หวี ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน หรือเสื้อผ้า เป็นต้น
4. ไม่เล่นคลุกคลีหรือนอนร่วมกันกับผู้ที่กำลังเป็นเหา


อุปกรณ์และวิธีการทดลอง

1. สถานที่ทำการทดลอง

- ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์

2. อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการทดลอง

- ใบน้อยหน่าแก่ๆ 1,700 ใบ
- ปูนกินหมาก 8.8 กรัม
- น้ำ 3.5 ลิตร
- เครื่องบด
- กระชอน
- กะละมัง
- ชุดทำความสะอาดผม 1 ชุด
- กล้องถ่ายรูป

3. วิธีดำเนินการทดลอง

- นำใบน้อยหน่าแก่ ๆ 1,700 ใบ กับปูนกินหมาก 8.8 กรัมและน้ำ 3.5 ลิตร
- นำส่วนผสมใส่ในเครื่องบดแล้วบดให้ละเอียด
- นำส่วนผสมที่บดมากรองในกระชอนใส่ในกะละมัง
- นำสารละลายพักทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที นำสารสกัดใบน้อยหน่าและเทน้ำสกัดใบน้อยหน่าเก็บไว้ในขวด
- ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย

วิธีการทดลอง

1. เตรียมนักเรียนที่เป็นโรคเหาของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 12 คน
2. ให้แต่ละคนใช้สารสกัดใบน้อยหน่าที่เตรียมไว้ นำไปขยี้ผมให้ทั่วศีรษะ โดยให้เพื่อนในห้องเรียนเป็นผู้ช่วย หมักทิ้งไว้ 30 นาที (ระวังอย่าให้น้ำยาเข้าตาเพราะทำให้แสบตาได้)
3. ใช้น้ำล้างออกให้สะอาด (ผมที่สระเสร็จจะทำให้เส้นผมกระด้างบ้าง ควรใช้ครีมนวดผมสระอีกครั้ง)
4. ทำเช่นนี้อีก 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 1 อาทิตย์
5. บันทึกผลการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน


สรุปผลการทดลองครั้งนี้

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2-ป.3/9 จำนวน 84 คน เมื่อใช้สารสกัดจากใบน้อยหน่า ครั้งที่ 1 ถึง ครั้งที่ 5 ผลการทดลองครั้งที่ 1 จะมีอาการโรคเหา โดยเฉพาะตัวเหาจะตายไปบ้าง ส่วนไข่เหาจะมีเปลือกแข็งหุ้มจะไม่ตาย ผลการทดลองครั้งที่ 2 แม่เหาจะตายมากขึ้น ส่วนไข่เหาก็จะค่อย ๆ ลีบเนื่องจากไข่เหาจะเริ่มออกลูกตัวอ่อนออกมา สำหรับการทดลองครั้งที่ 3 ส่วนใหญ่แม่เหาจะตายเพิ่มขึ้น และไข่เหาจะลีบมากขึ้น ผลการทดลองครั้งที่ 4 แม่เหาจะตายหมดสำหรับนักเรียนบางคน ไข่เหาจะลีบเกือบหมดผลการทดลองครั้งที่ 5 ตัวเหาจะตายส่วนมาก และไข่เหาจะลีบหมด
สรุปได้ว่าสารสกัดจากใบน้อยหน่าสามารถรักษาโรคเหาได้.


สรุปผลการทดลองและอภิปรายผลการทดลอง

สรุปผลการทดลอง

จากการทดลองใช้สารสกัดใบน้อยหน่าในการรักษาโรคเหา มีผลการสรุปดังนี้คือเพื่อนนักเรียน
หญิง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2-ป.3/9 จำนวน 84 คนนั้น สามารถรักษาอาการของโรคเหาได้ 74 คน มีนักเรียนส่วนน้อย จำนวน 14 คน ยังมีอาการโรคเหาอีก ที่บ้านของนักเรียนมีสมาชิกในบ้าน
เป็นโรคเหาด้วย และจากการทดลองแต่ละครั้ง นักเรียนบางคนใช้เวลาในการขยี้และหมักผมไว้ไม่ตรงตาม
เวลาที่กำหนดไว้ ทำให้มีโรคเหาอีกไม่สามารถกำจัดได้ แต่ผลการทดลองนักเรียนส่วนมากไม่เป็นโรคเหาอีก ดังนั้นใบน้อยหน่าสามารถกำจัดโรคเหาได้.

อภิปรายผลการทดลอง

จากการทดลองใช้สารสกัดสมุนไพรจากใบน้อยหน่าในการกำจัดเหา ผลปรากฏว่าสอดคล้อง
กับการศึกษาของ อรนุช บัวพัฒนกุล และคณะ จากหนังสือยาสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐาน หนังสือผักพื้นบ้าน
ภาคใต้ ที่ว่า “ใบน้อยหน่ามีสรรพคุณในการฆ่าเหา เนื่องจากในสารใบน้อยหน่ามีสารเคมีชื่อ Anonanine เมื่อทำปฏิกิริยากับปูนกินหมาก ซึ่งมีความร้อน ทำให้เหาเมาและตายในที่สุด.


ประโยชน์ของโครงงาน

3.1 สามารถรักษาโรคเหาให้กับเพื่อนนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ได้
3.2 สามารถนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและถูกวิธี
3.3 เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีกำจัดเหา
3.4 เป็นการรักษาสุขภาพร่างกายให้ปลอดภัยจากสารเคมี

ข้อเสนอแนะ

4.1 ในการทดลองครั้งต่อไปควรจะทดลองใช้ใบน้อยหน่ากับน้ำมันมะพร้าว
4.2 ในการทดลองครั้งต่อไปควรจะทดลองใช้เมล็ดน้อยหน่ากับน้ำมันมะพร้าวบ้าง
4.3 ในการทดลองครั้งต่อไปควรเปรียบความสามารถในการกำจัดเหาของใบน้อยหน่ากับเมล็ดน้อยหน่าบ้าง
4.4 ในการทดลองครั้งต่อไปควรใช้สมุนไพรชนิดอื่น ๆ บ้าง
4.5 ในการทดลองครั้งต่อไปควรจะขยายผลการทดลองให้นักเรียนชั้น อนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6




เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน สำนักงานปลัดกระทรวง สถาบันการแพทย์แผนไทย
กรมการแพทย์ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐาน ภาคเหนือ
“ยาสมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน” หน้า 5,22,126-127 โรงพิมพ์
องค์การ์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ , 2537.
สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข “ผักพื้นบ้านภาคใต้” หน้า105,
เมษายน 2542 โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ
วัชรีพร คงวิลาด และคมสัน หุตะแพทย์ “คู่มือพึ่งตนเอง สมุนไพรสามัญประจำบ้าน
ปรุงยาสมุนไพรไว้ใช้เอง “ หน้า10 พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2544 กองบรรณาธิการ
วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ กรุงเทพฯ
“ วารสารสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือน พฤษภาคม 2544 หน้า 93
สำนักพิมพ์ยูทิไลซ์ จำกัด กรุงเทพฯ
ยุวดี จอมพิทักษ์ “สมุนไพร ป้องกันรักษาภูมิแพ้ ระบบหายใจ หอบ หีด “ หน้า 168
นักพิมพ์หอสมุดกลาง 09 กรุงเทพฯ
กรมอนามัยโรงเรียน กรมอนามัย “การป้องกันโรคติดต่อในโรงเรียน” หน้า 102-103
โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ.
ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวบ้าน 2 คน คือ
1. นางผล รัตนชู
2. นางวรรณา ถ้วนถวิล



โดย : นาง ศศิมา สงอาจินต์, โรงเรียนเทศบาลบ้านคูหาสวรรค์ ถ.ช่วยทุกขราษฏร์ ต.คูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง, วันที่ 23 มกราคม 2545