หลักฐานการเกิดซากดึกดำบรรพ์

หลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล(Fossils) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ใช้ประกอบการอธิบายในเชิงสนับสนุนการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ซากดึกดำบรรพ์ หมายถึง ซากของสิ่งมีชีวิตหรือซากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่ตายไปแล้วนานนับเป็นหมื่นหรือล้านปี ฝังทับถมเป็นแหล่งต่างๆโดยมากมักพบในชั้นหินต่างๆ ซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้บางชนิดยังคงรูปร่างไว้เหมือนเดิมโดยไม่เน่าเปื่อยผุพัง เช่น แมลง หรือแมลงที่ฝังอยู่ในยางไม้ หรือในแท่งอำพัน ใบไม้ ดอกไม้ หรือชิ้นส่วนของพืชที่ตกลงไปจมปลักในโคลนซึ่งมีกรดบางชนิดสะสมอยู่ ซากของสิ่งมีชีวิตที่พบในน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ในแหล่งน้ำมันหรือในบ่อถ่านหิน เปลือกหอยชนิดต่างๆ เป็นต้น และบางชนิดเหลือเพียงโครงกระดูกและฟัน เนื่องจากส่วนที่อ่อนนุ่มถูกทำลายไป เช่น ซากโครงกระดูกของม้ายุคโบราณ ซากกระดูกของปลา ซากโตรงกระดูกของสัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น
ซากของสิ่งมีชีวิตหรือซากชิ้นส่วนของร่างกายสิ่งมีชีวิตสมัยดึกดำบรรพ์ที่คงรูปร่างให้เห็นได้ตัวอย่างเช่น
1. กระดูกและฟันของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซากของสิ่งมีชีวิตที่แห้งสนิทซึ่งพบในบริเวณที่ร้อนจัด หรือซากสิ่งมีชีวิตที่พบอยู่ตามถ้ำและอุโมงค์ ซากสิ่งมีชีวิตที่ถูกเก็บรักษาไว้ใต้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกหรือบ่อถ่านหิน ในแหล่งน้ำมันหรือหินทราย
2. แมลง แมงมุม ชิ้นส่วนของดอกไม้ และสิ่งอื่นๆที่ฝังตัวอยู่ในยางไม้
3. เปลือกหอยต่างๆโครงร่างแข็งที่เป็นที่อยู่ของประการัง ฟองน้ำ และสาหร่ายบางชนิดที่มีสารพวกแคลเซียมประกอบอยู่ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะฝังตัวอยู่ในหินปูน



4. โปรโตซัวและไดอะตอมที่มีโครงสร้างเป็นสารพวกซิลิกาหรือแคลเซียมตายและตกตะกอนทับถมอยู่ที่ก้นมหาสมุทร แข็งตัวจับกันเป็นชั้นหนา
5. เกสรดอกไม้ และชิ้นส่วนของดอกไม้ที่ไม่เน่าเปื่อยผุพัง เนื่องจากตกลงไปจมปลักในโคลนที่มีกรดบางชนิดสะสมอยู่
6. ซากของสิ่งมีชีวิตหรือซากชิ้นส่วนที่แข็งกลายเป็นหิน ตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนของกระดูกหรือเปลือกหุ้มตัวสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมลง กุ้ง เปลือกหอย หรือเนื้อเยื่อพืชที่มีสารพวกซิลิกาแทรกเข้าไปแทนที่ ซากเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในหินทราย ภายหลังหินทรายถูกกระแสลมพัดสึกกร่อนหรือถูกกระแสน้ำชะหินทรายที่อยู่รอบข้างผุกร่อนไหลตามน้ำ เหลือแต่ซากดึกดำบรรพ์ซึ่งมีเนื้อละเอียดแน่นกว่า จึงไม่ผุกร่อนและปรากฏให้เห็น
7. ร่องรอยหรือรอยพิมพ์ซากสิ่งมีชีวิตสมัยดึกดำบรรพ์ พบในหินทรายเนื้อละเอียดและในหินชนวน โดยมากมักเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีร่างกายอ่อนนิ่ม เช่น แมงกะพรุน บางครั้งอาจเป็นเปลือกหอยสองฝาที่ฝังตัวอยู่ในถุงทราย ภายหลังเปลือกหอยสลายไปมีสารพวกซิลิกาบรรจุอยู่เต็มในช่องว่างแทนที่เปลือกหอย ร่องรอยเช่นนี้อาจแสดงให้เห็นส่วนด้านนอกของเปลือกหอยก็ได้
8. ร่องรอยทางเดินของสิ่งมีชีวิตที่เหยียบย่ำบน โคลนตม ซึ่งสามารถคงสภาพไว้โดยมีตะกอนมาทับถมบนรอยเท้าเหล่านั้น และเกิดการแข็งตัวขึ้นเรื่อยๆภายหลัง
9. ผลิตภัณฑ์ที่สิ่งมีชีวิตสร้างและขับออกมาสะสมไว้ เช่นแนวประการังต่อมากลายเป็นหินปูน
10. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการสลายตัวของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน กราไฟต์ เป็นต้น
กิจกรรม
ตอนที่2
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม ซากของสิ่งมีชีวิตหรือซากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่ตายไปแล้วเป็นเวลานานหลายล้านปีและฝังทับถมกันอยู่ในแหล่งต่างๆซึ่งพบมากในชั้นหิน เรียกว่า
คำตอบ ……………………………………………………………………………
…………………………………………………………………………………………………….
2. คำถาม ประโยชน์ของการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ คือ
คำตอบ ……………………………………………………………………………
…………………………………………………………………………………………………….


3. คำถาม นักวิทยาศาสตร์ สามารถทราบอายุของซากดึกดำบรรพ์ได้อย่างไร และถ้านักเรียนขุดพบซากดึกดำบรรพ์ได้ 1 ชิ้น นักเรียนจะมีวิธีการศึกษาอย่างไร
คำตอบ ……………………………………………………………………………
…………………………………………………………………………………………………….
แนวคำตอบกิจกรรม ตอนที่2
1. ซากดึกดำบรรพ์
2. เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ใช้ประกอบการอธิบายในเชิงสนับสนุนการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
3. นักวิทยาศาสตร์สามารถทราบอายุของซากดึกดำบรรพ์ได้ โดยจากอายุของหินที่ซากดึกดำบรรพ์นั้นปรากฏอยู่ ปัจจุบันนักธรณีวิทยาใช้ความรูทางด้านต่างๆตรวจหาอายุของหินได้ เช่น การหาครึ่งชีวิตของธาตุกัมมันตรังสีที่ประกอบอยู่ในชั้นของหินเป็นต้น ถ้านักเรียนขุดพบซากดึกดำบรรพ์ได้ 1 ชิ้น ควรจะวางแผนการศึกษาอย่างง่ายๆถึงอายุของซากดึกดำบรรพ์ โดยจะต้องศึกษาทางด้านธรณีวิทยาเสียก่อนว่าซากดึกดำบรรพ์ผนึกอยู่ในหินชั้นใด จากนั้นค่อยศึกษาความเป็นมาและส่วนประกอบต่อไป




โดย : นาย ใจชาย ปัณนะพงษ์, โรงเรียนวังเหนือวิทยา, วันที่ 6 พฤศจิกายน 2544