header


เอกสารประกอบการเรียน
เรื่อง การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายของการปรับตัวและการปรับตัวต่างๆของสิ่งมีชีวิตได้
2. ยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และบอกสาเหตุของการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้นๆได้
สาระสำคัญ
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด การปรับตัวเป็นผลมาจากการคัดเลือกตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวในด้านต่างๆได้ดี จะสามารถดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไปได้
การปรับตัว
ความหมายของการปรับตัว
การปรับตัว(Adaptation) หมายถึง กระบวนการที่สิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับลักษณะบางประการให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ซึ่งลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ดังกล่าวจะอำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในแง่ของการอยู่รอดและสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตมีหลายประการ ได้แก่ การแสวงหาอาหาร การสืบพันธุ์ การต่อสู้กับศัตรู และการหลบหลีกศัตรู หรือสิ่งแวดล้อม
สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัว ดังนี้
1. การเกิดและการคงรูปร่าง ท่าทาง ลักษณะ หรือหน้าที่ ของสิ่งมีชีวิตในประชากร ทำให้เหมาะสมและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมนั้นๆการปรับตัวชนิดนี้เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่แปรผันทำให้เกิดความแตกต่างกันทางพันธุกรรม
2. ลักษณะทางสรีรวิทยา พฤติกรรมหรือสัณฐาน ซึ่งควบคุมโดยพันธุกรรม เอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นๆอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมอย่างเหมาะสมจนกระทั่งสืบพันธุ์ได้
3. เกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น การขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองทำให้คนล้มลง ทำให้เลือดส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เร็วขึ้น นั่นคือ การเป็นลม
หรือนกบางชนิดมีการเปลี่ยนสีของขนนก หรือพฤติกรรมในบางฤดู เช่น ในช่วงสืบพันธุ์ของนกยูง นกยูงตัวผู้จะรำแพนอวดหางอันสวยงาม
การปรับตัวทางพันธุกรรมเป็นผลที่เกิดจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจำเป็นต้องปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้จึงจะอยู่รอด การปรับตัวนั้นเกิดได้ทั้งในแง่
รูปร่าง สรีรวิทยาหรือพฤติกรรม หากการปรับตัวนั้นเหมาะสมและสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมแล้ว ทำให้เกิดวิวัฒนาการทั้งสิ้น
การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเป็นผลของการคัดเลือกตามธรรมชาติ ลักษณะที่ปรากฏจะอำนวยประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตในแง่ของการอยู่รอด และสามารถสืบพันธุ์ได้ ลักษณะดังกล่าวที่คงไว้ในสิ่งมีชีวิตนี้ถูกควบคุมโดยหน่วยพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ดีจะสามารถดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์ต่อไปได้
ดังนั้น สิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้มีความคล้ายคลึงกับธรรมชาติที่อาศัยอยู่ทั้งนี้เพื่ออำพรางศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย และอำพรางเหยื่อที่หลงเข้าไปใกล้ตัว ซึงเหยื่อของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด จะแตกต่างกันเพื่อความสะดวกในการบริโภค ตามรูปภาพแสดงลักษณะปากของแมลงบางชนิด
การปรับตัวด้านต่างๆของสิ่งมีชีวิต
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดและสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้ แต่เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในโลกมีมากมายหลายชนิด การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจึงมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งจะพอสรุปได้ดังนี้
1. การปรับตัวทางด้านรูปร่าง(Morphological adaptation)
เป็นการปรับหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะรูปร่าง โครงสร้าง หรือสีสันของร่างกายของสิ่งมีชีวิตให้คล้ายคลึงหรือเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ตัวอย่างการปรับตัว ของสิ่งมีชีวิต เช่น
การปรับตัวของจิ้งจก จิ้งจกจะปรับสีตามผนังหรือเพดานที่มันอาศัยอยู่ ถ้าเป็นตึกสีขาวจิ้งจกจะปรับตัวให้มีสีซีดเกือบขาว แต่ถ้าอยู่ตามบ้านไม้ ก็จะปรับสีเป็นสีน้ำตาล
การปรับตัวของผีเสื้อกลางคืน เดิมผีเสื้อกลางคืนจะเกาะตามเปลือกไม้สีขาว จึงมีสีจางตามเปลือกไม้ แต่เมื่อมีการปล่อยควันและเขม่าต่างๆจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณนั้น ทำให้เปลือกไม้มีสีดำ ผีเสื้อก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อความอยู่รอด
การปรับตัวของปลาโลมา ปลาโลมา จะปรับสภาพรูปร่างให้ยาวเพรียวและเปลี่ยนขาให้เป็นเหมือนใบพาย เพื่อสะดวกในการว่ายน้ำ และลดความเสียดทานในขณะว่ายน้ำ
การปรับตัวของนกเป็ดน้ำ นกเป็ดน้ำที่อาศัยและหากินอยู่ในน้ำจะปรับขนเป็นมัน ขามีพังผืดระหว่างนิ้ว เพื่อใช้ในการว่ายน้ำและสะดวกในการจับปลากินเป็นอาหาร
การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตต่างๆเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่ออำพรางตัวให้รอดพ้นจากการล่าของศัตรูหรืออำพรางเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ตัว และเพื่อสะดวกในการหาอาหารกิน
สิ่งมีชีวิตบางชนิดจะมีการปรับตัวทางด้านรูปร่าง ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพื่ออำพรางศัตรูที่จะเข้ามาทำร้าย เพื่ออำพรางเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ตัว

และเพื่อสะดวกในการหาอาหาร เช่น การปรับตัวของตั๊กแตนทั้ง 3 ชนิด ซึ่งมีการปรับลักษณะรูปร่างดังนี้
1. ตั๊กแตนกิ่งไม้ มีลำตัวสีน้ำตาลและขายาวเก้งก้าง เมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆจะมีลักษณะคล้ายกิ่งไม้
2. ตั๊กแตนใบโศก มีลำตัวสีเขียวหรือสีน้ำตาล เมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆปีกจะประกบกัน ทำให้มองดูคล้ายใบไม้
3. ตั๊กแตนตำข้าว มีลำตัวสีเขียว ขาคู่หน้ามีขนาดใหญ่ และปลายขาจะมีอวัยวะสำหรับจับเหยื่อเมื่อเกาะอยู่กับที่นิ่งๆปีกจะซ้อนกันคลุมลำตัว มองดูคล้ายใบไม้
สิ่งมีชีวิตนอกจากจะปรับลักษณะรูปร่างให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ที่อาศัยอยู่แล้ว บางชนิด เช่น แมลง ยังปรับลักษณะปากเพื่อความเหมาะสมต่ออาหารหรือเหยื่อที่กินอีกด้วย
การปรับลักษณะปากของแมลงให้เหมาะสมต่อเหยื่อที่กิน มีผลทำให้แมลงแต่ละชนิดมีโครงสร้างทางสรีระแตกต่างกัน คือ
แมลงที่กัดกินใบไม้ จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะคล้ายกรรไกรหรือคีมเพื่อกัดกิน บดเคี้ยว หรือแทะอาหารออกเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงสาบ มด เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากกัด
แมลงที่กินอาหารเป็นของเหลว จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะแบนคล้ายใบพายริมฝีปากจะแผ่กว้างเพื่อเลียและดูดซับอาหาร ภายในมีท่อกลวงสำหรับเป็นทางเปิดของท่อน้ำลายช่วยในการย่อยและเป็นทางเดินของอาหารสู่คอหอย แมลงกลุ่มนี้ เช่น แมลงวัน เหลือบ ผึ้ง เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากเลียและดูด
แมลงที่ดูดน้ำจากเหยื่อ จะปรับส่วนปากให้มีลักษณะเป็นท่อยาวๆคล้ายเข็มยื่นออกมาเพื่อใช้เจาะและดูดอาหารจำพวกน้ำจากเหยื่อ เช่น ยุง เพลี้ยอ่อน แมงดานา เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้ เรียกว่า ปากเจาะและดูด
แมลงที่ดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ ปรับส่วนปากให้มีลักษณะเป็นวงม้วนเก็บได้หลังจากดูดอาหารเสร็จแล้ว เช่น ผีเสื้อ เป็นต้น ปากของแมลงกลุ่มนี้เรียกว่า ปากดูด
การปรับตัวของสัตว์เพื่อความเหมาะสมต่อการกินอาหารของสัตว์ แต่ละชนิดทำให้สัตว์แต่ละชนิดมีโครงสร้างทางสรีระแตกต่างกัน เช่น แมลงที่กัดกินใบไม้จะมีขากรรไกรเพื่อการบดเคี้ยว แมลงที่กินอาหารเป็นของเหลวก็จะปรับส่วนปากเป็นท่อสำหรับดูดซับ เป็นต้น การปรับตัวของสัตว์เช่นนี้ทำให้สัตว์ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างเหมาะสม และสามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้
กิจกรรม
ตอนที่1
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตหมายถึง
2. คำถาม การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเป็นผลเนื่องมาจาก
3. คำถาม จิ้งจกมีการปรับสีตัวให้เข้ากับบริเวณที่อยู่อาศัย เพื่อ
4. คำถาม ตั๊กแตนใบโศกเมื่อเกาะนิ่งอยู่บนใบไม้ จะมีลักษณะคล้ายใบไม้ เป็นการปรับตัวทางด้าน
5. คำถาม แมลงบางชนิดมีการปรับลักษณะปาก เพื่อ
6. คำถาม ปากของแมลงที่มีลักษณะคล้ายกรรไกรหรือคีม ใช้กัดกินหรือแทะใบไม้ เรียกว่า
7. คำถาม ตัวอย่างของสัตว์ที่มีการปรับตัวทางด้านรูปร่าง เช่น
8. คำถาม ตัวอย่างของแมลงที่ใช้ปากในการเลียและดูดซับอาหาร เช่น
9. คำถาม การปรับตัวของปลาโลมาให้มีรูปร่างยาวและเพรียว มีประโยชน์ คือ
10. คำถาม สาเหตุสำคัญของการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆคือ
แนวคำตอบกิจกรรม ตอนที่1
1. กระบวนการที่สิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับลักษณะ บางประการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ซึ่งลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวจะอำนวยประโยชน์แก่ชีวิตในแง่ของการอยู่รอดและสามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้
2. การแสวงหาอาหาร การสืบพันธุ์ การต่อสู้กับศัตรู และการหลบหลีกศัตรู หรือสิ่งแวดล้อม
3. เพื่ออำพรางตัวให้รอดพ้นจากการล่าของศัตรู หรืออำพรางเหยื่อที่หลงเข้ามาใกล้ตัว และเพื่อสะดวกในการหาอาหารกิน
4. ลักษณะรูปร่าง
5. ให้เหมาะสมต่อเหยื่อที่กิน
6. ปากกัด
7. ตั๊กแตน จิ้งจก ผีเสื้อกลางคืน ปลาโลมา นกเป็ดน้ำ
8. แมลงวัน เหลือบ ผึ้ง
9. ว่ายน้ำ
10. เพื่อการอยู่รอด

การปรับตัวของพืช
การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากจะพบในสัตว์แล้ว ยังพบในพืชอีกด้วย การปรับตัวของพืชขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เช่น
ผักตบชวา เป็นพืชน้ำ จะมีก้านใบที่พองออกเป็นกระเปาะ ภายในมีช่องว่างระหว่างเซลล์มากน้ำหนักเบา ทำให้สามารถลอยอยู่เหนือน้ำได้



โดย : นาย ใจชาย ปัณนะพงษ์, โรงเรียนวังเหนือวิทยา, วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544