กำเนิดปฏิทิน

เมื่อเราต้องการตรวจสอบวันในสัปดาห์หรือหาดูว่าวันหนึ่งวันใดในสัปดาห์ที่จะถึงเป็นวันที่เท่าไหร่ เราก็จะต้องดูในปฏิทิน พวกเราบางคนมีปฏิทินอยู่บนนาฬิกาข้อมือด้วย ฉะนั้น มันก็จะดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เมื่อหลายพันปีก่อนโน้น มันไม่ง่ายอย่างนี้หรอก บรรพบุรุษในยุคแรกสุดของเราต้องเฝ้าดูวันและเวลาที่ผ่านไปโดยการดูดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาว เมื่อเห็นดวงอาทิตย์ขึ้น เขาก็รู้ว่าวันใหม่เริ่มต้นขึ้นแล้ว เขาจะบอกได้ว่าเป็นเวลาเช้าหรือสายโดยดูจากความยาวของเงาที่เปลี่ยนไป ส่วนช่วงระยะต่างๆของดวงจันทร์ตั้งแต่ข้างขึ้นอ่อนๆ ระยะที่เป็นเสี้ยว ครึ่งดวง หรือเต็มดวง ก็ทำให้บรรพบุรุษของเราทราบอย่างคร่าวๆ ว่าวันผ่านไปกี่วันแล้ว
มนุษย์ค่อยๆเรียนรู้ว่า ดวงจันทร์ต้องใช้เวลามากกว่า 29 วันนิดหน่อยกว่าจะหมุนไปครบหนึ่งรอบ หรือ นับจากข้างขึ้นครั้งหนึ่งถึงข้างขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การค้นพบความจริงข้อนี้ทำให้เกิดแนวความคิดเรื่องเดือนทางจันทรคติโดยอาศัยการสังเกตวงโคจรของทางดวงจันทร์ มนุษย์ยังได้เรียนรู้อีกว่าโลกต้องใช้เวลาประมาณ 365 วันในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ ดังนั้นจึงเกิดความคิดเรื่องปีสุริยคติขึ้น แต่ปฏิทินจริงๆ ก็ยังอยู่ห่างไกลนัก การแบ่งเวลาตามการโคจรของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้น ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างหนึ่ง คือ เวลา 1 ปี ประกอบด้วยเดือนทางจันทรคติ 12 เดือน โดยแต่ละเดือนมี 29 ฝ วันนั้น รวมแล้วจะมี 354 วัน ขาดอีก 11 วัน จึงจะเท่าปีทางสุริยคติซึ่งมี 365 วัน
ชาวโรมันใช้ปฏิทินที่มีเดือนแบบจันทรคติ 12 เดือน แต่แล้วก็ค้นพบอย่างรวดเร็วว่าการใช้ปฏิทินแบบนี้ทำให้แต่ละปีขาดไป 11 วัน ชาวโรมันคาดว่าเมื่อเพิ่มเดือนพิเศษเข้าไปอีก 1 เดือน ทุกๆ 2-3 ปี จะสามารถชดเชยส่วนที่ขาดหายไปนั้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อจูเลียส ซีซาร์ ได้ปกครองกรุงโรมในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล เขาก็พบว่า ปฏิทินโรมันนั้นช้ากว่าความเป็นจริงเกือบ 3 เดือน ซีซาร์จึงหารือกับนักดาราศาสตร์ชั้นนำคนหนึ่งชื่อ โซซิจีเนส และได้ทราบว่าในหนึ่งปีมี 365 ผ วัน จึงคิดปฏิทินแบบใหม่ขึ้น แทนที่จะเป็นเดือนทางจันทรคติที่มี 29 ฝ วันในหนึ่งเดือน เดือนแบบใหม่จะมี 30 หรือ 31 วัน ยกเว้นเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น ในหนึ่งปีก็จะมี 365 วัน และเพื่อที่จะชดเชย ผ วันที่ขาดหายไป จึงมีการเพิ่มวันเข้าไป 1 วันในเดือนกุมภพันธ์ของทุกๆปี ที่เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน
แม้กระนั้นก็ตาม ปฏิทินโรมัน หรือที่เรียกกันว่า ปฏิทินจูเลียน นั้นก็ยังไม่ถูกต้องอยู่ดีนั่นแหละ การประเมินของโซซิจีเนสที่ว่าหนึ่งปีมี 365 วัน นั้นก็ยังมีเวลาที่ขาดหายไปราว 11 นาที กับอีก 2-3 วินาที มันก็ไม่ใช่เวลามากมายอะไรนักหรอก แต่พอหลายร้อยปีผ่านไป เจ้าเวลาเหล่านั้นจะรวมกันกลายเป็นเวลาหลายวัน ในศตวรรษต่อๆ มา ผู้คนพบว่าวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ หรือที่เรียกว่า เวอร์นัน อิควิน๊อกซ์ ซึ่งเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนั้น มาเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในปีค.ศ. 1582 วันดังกล่าวนี้มาถึงเร็วกว่ากำหนดถึง 10 วัน คือมาถึงวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม
สันตะปาปาเกรเกอรีที่ 13 ได้ทรงขอให้บรรดานักดาราศาสตร์ชั้นแนวหน้าช่วยกันคิดหาวิธีแก้ข้อผิดพลาดของปฏิทินโรมัน นักดาราศาสตร์ชื่อ คริสโตเฟอร์ คลาเวียส ได้เสนอให้ตัดวันในปีนั้นออกเสีย 10 วัน ซึ่งสันตะปาปาก็ทรงเห็นชอบด้วย วันถัดจากวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1582 จึงถูกประกาศให้เป็นวันที่ 15 ตุลาคม ไม่ใช่วันที่ 5 ตุลาคม แต่นั่นไม่ได้แก้ปัญหาในอนาคต สันตะปาปาจึงทรงมีโองการว่า นับแต่นั้นไป ปีอธิกสุรทินที่เป็นปีแรกของศตวรรษ จะไม่มีวันเพิ่มเป็นพิเศษในเดือนกุมภาพันธ์การยกเว้นดังกล่าวนี้จะได้แก่ปีแรกของศตวรรษซึ่งเลขปี ค.ศ. หารด้วย 400 ได้ลงตัว เช่น ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้น เพราะฉะนั้น ปฏิทินเกรเกอเรียนที่ใช้กันอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ของโลก จะมีเวลาเกินอยู่ปีละ 25 วินาที หรือมีเวลาเกินไป 1 วันในทุกๆ 3,300 ปี




โดย : นางสาว จุฑามาศ อนันต์ธนวัฒน์, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 8 พฤศจิกายน 2544