เมื่อดวงดาวดับสลายลง

เมื่อดวงดาวดับสลายลง
แต่เดิมมานักดาราศาสตร์ไม่สนใจในการดับสลายของดวงดาวขนาดกลางเท่าใดนัก หากแต่มุ่งความสนใจไปที่การดับสลายของดวงดาวขนาดใหญ่มากกว่า เพราะดวงดาวเหล่านั้นจะมีปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ มันจะลุกโชติช่วงสว่างไสวไปทุกทิศทางก่อนที่จะค่อย ๆ ดับสลายลง อย่างไรก็ตาม ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมานี้ มีการพัฒนากล้องดูดาวละอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น จึงทำให้นักดาราศาสตรสามารถศึกษารายละเอียดของการดับสลายของดาวขนาดกลางได้มากขึ้น เมื่อปีที่แล้วจากการใช้กล้องดูดาว Hubble Space Telescope ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถเห็นกระบวนการ อันซับซ้อนที่เกิดขึ้นก่อนการดับสลายของดวงดาวขนาดกลางเหล่านี้ได้
เมื่อดวงดาวขนาดกลางเริ่มจะดับสลายลง ก๊าซไฮโดรเจนที่ยังเหลืออยู่ที่ศูนย์กลางของดวงดาวจะเผาไหม้ จนกระทั่งที่บริเวณนั้นมีความร้อนและความกดดันสูงมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะนี้ จุดศูนย์กลางของดวงดาวจะเป็นสีขาว เมื่อจุดศูนย์กลางมีความร้อนสูงมาก ก็จะเกิดการเผาไหม้ของก๊าซฮีเลียมขึ้น ณ จุดนั้น โดยที่ยังมีก๊าซไฮโดรเจนอยู่รอบ ๆ สภาพความร้อนเช่นนี้ ทำให้ดวงดาวมีขนาดขยายใหญ่ขึ้น มาก จนกลายเป็นดวงดาวสีแดงขนาดยักษ์ แล้วชั้นนอกของดวงดาวก็จะค่อย ๆ สลายตัวไป จนในที่สุด จะเหลือเพียงกลุ่มก๊าซเล็ก ๆรอบจุดศูนย์กลางของดวงดาวเท่านั้น ก๊าซเหล่านี้จะร้อนจัดและพุ่งตัวไปในห้วงอวกาศอย่างรวดเร็ว และเย็นตัวลงในที่สุด กลายเป็น กลุ่มก๊าซในอวกาศ หรือ เนบิวลา ( Nebula )
นักดาราศาสตร์ได้สำรวจดูเนบิวลา NGC 7027 และ CRL 2688 หรือที่เรียกว่า Egg Nebula และมองเห็นชิ้นส่วนเศษเล็กเศษน้อยจากดวงดาวที่เพิ่งดับสลายไป ซึ่งมีฝุ่นและก๊าซล้อมรอบอยู่ด้วย เมื่อสำรวจเนบิวลา NGC 6826 นักดาราศาสตร์พบว่า มีบริเวณสีแดงอยู่ 2 แห่ง ที่มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วประมาณ 100,000 ไมล์/ชั่วโมง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ แต่นักดาราศาสตร์ บางคนสันนิษฐานว่าเป็นมวลก๊าซที่มีความหนาแน่นสูง





จากการสำรวจดูกลุ่มเนบิวลา Helix พบว่ารอบ ๆ หรือที่ขอบของเนบิวลานี้มีลักษณะคล้ายกับ ลูกศรชี้ไปที่ศูนย์กลางของดวงดาว ที่ดับสลายลงแล้ว นักดาราศาสตร์คาดเดาว่าเป็นกลุ่มก๊าซ และฝุ่นขนาดมหึมา แต่ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีรูปร่างเช่นนั้น
อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า เมื่อดวงดาวที่ใกล้ดับสลายมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นดาวสีแดงขนาดยักษ์ นั้น มันมีแรงดึงดูดมาก จึงดึงดูดเอาดวงดาว ดวงอื่นเข้ามาในบริเวณนั้น เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ มวลสารของดวงดาวดังกล่าวแปรสภาพเป็นกลุ่มก๊าซที่มีรูปร่างคล้ายจานเป็นแผ่นกลมหนาและหมุนโคจรอยู่รอบ ๆ ในบริเวณนั้น เมื่อมันถูกกระแสลมที่พัดออกจากศูนย์กลางของดวงดาวที่ดับสลายแล้วพัดออกมา ก็จะทำให้มีลักษณะเหมอนเป็นวงรอบบริเวณดังกล่าว ในบางครั้งกระแสลมที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้มวลสารนี้มีรูปร่างเหมือนนาฬิกาทราย ดังจะเห็นได้จาก Etched Hourglass Nebula
สักวันหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นดวงดาวขนาดกลาง ดับสลายลง ก็คงจะเกิดเนบิวลาในลัษณะใดลักษณะหนึ่งเช่นเดียวกับที่นักดาราศาสตร์เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
จาก วารสารแม็ค ม.ปลายวิทย์






โดย : นาย จิรวัฒน์ แซ่ตัน, -, วันที่ 9 พฤศจิกายน 2544