ภัยร้ายไฮโดรเจน

ภัยร้ายไฮโดรเจน
เชื่อว่าทุกท่านคงพอได้ทราบถึงข่าวคราวเรื่องลูกโป่งสวรรค์ที่บรรจุอยู่ในบุหรี่จำลองมวนยักษ์ เกิดระเบิดเป็นเพลิงลุกไหม้กลางพิธีเปิดงานวันงดสูบบุหรี่โลกที่จัดขึ้นในเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบคน โดยสาเหตุของอุบัติภัยในครั้งนี้ก็ว่ากันว่ามาจากการที่ลูกโป่งสวรรค์ ซึ่งภายในบรรจุก๊าซ ไฮโดรเจน ที่ติดไฟง่าย ได้รับประกายไฟจากการเสียดสีของโลหะ ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่ผู้ทำพิธีเปิดใช้มีดหั่นลงไปบนบุหรี่จำลองที่ประกอบขึ้นจากโครงลวด... สุดท้ายผลลัพธ์ก็เกิดเป็นเพลิงลุกติดมวนบุหรี่ยักษ์อย่างที่เราทราบกัน...อุบัติภัยครั้งนี้บอกอะไรเราบ้าง !?! อันที่จริง...หากคำนึงถึงความปลอดภัยแล้วละก็ ก๊าซที่บรรจุอยู่ในลูกโป่งสวรรค์ควรจะเป็นก๊าซ ฮีเลียม มากกว่าไฮโดรเจน เพราะก๊าซตัวหลังนี้เป็นก๊าซเฉื่อย ไม่ติดไฟ และในปัจจุบัน ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็ใช้ก๊าซฮีเลียมบรรจุในลูกโป่งสวรรค์และบอลลูนกันทั้งนั้น แต่ในบ้านเรากลับยังคงใช้ก๊าซไฮโดรเจนอยู่ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ หาได้ง่าย ราคาถูก อย่างไรก็ตาม จากกรณีตัวอย่างของอุบัติภัยไฮโดรเจนครั้งนี้คงจะทำให้หลาย ๆ ฝ่ายเกิดความตระหนัก และทบทวนหามาตรการในการใช้งานก๊าซชนิดต่าง ๆ ให้ถูกต้องปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก๊าซไฮโดรเจน (hydrogen หมายถึง ผู้ทำให้เกิดน้ำ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดย ลาวัวซิเอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศส) เป็นก๊าซชนิดหนึ่งที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ (จึงทำให้ลูกโป่งลอยได้)การเตรียมก๊าซไฮโดรเจนนั้นทำได้ด้วยการใส่โลหะลงไปในกรด ซึ่งกรดทุกชนิดจะมีอะตอมของไฮโดรเจนประกอบอยู่ด้วยเสมอ และกรดจะรวมกับโลหะให้อะตอมของไฮโดรเจนออกมา ในหม้อแบตเตอรี่รถยนต์ที่เราใช้กันอยู่ก็นับเป็นตัวอย่างของการสร้างก๊าซไฮโดรเจน โดยภายในหม้อแบตเตอรี่รถยนต์จะมีกรดกับแท่งโลหะอยู่ จึงเกิดก๊าซไฮโดรเจนอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ก๊าซไฮโดรเจนมีคุณสมบัติติดไฟได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ก๊าซชนิดนี้กับไฟจึงไม่ควรอยู่ใกล้กัน ดังนั้น เวลาที่เราก้มลงดูระดับน้ำในหม้อแบตเตอรี่รถยนต์จึงไม่ควรคาบบุหรี่หรือจุดไม้ขีดไฟใกล้ ๆ บริเวณนั้น เพราะการทำเช่นนั้นเสี่ยงต่อการเสียโฉมจากภัยตูมตามของก๊าซไฮโดรเจนเป็นอย่างยิ่ง ในอดีต ก๊าซไฮโดรเจนเคยได้รับการบรรจุไว้ในลูกโป่ง บอลลูน และเรือเหาะ อย่างไรก็ตาม หลังจากกรณี เรือเหาะ ไฮเดนเบิร์ก (hindenburg) ที่สร้างขึ้นโดยประเทศเยอรมันเกิดการระเบิดจนติดไฟกลางอากาศเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 แล้ว ก๊าซไฮโดรเจนก็ถูกแทนที่ด้วยก๊าซฮีเลียมในเวลาต่อมา สำหรับก๊าซฮีเลียม (helium หมายถึง ดวงอาทิตย์เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นโดย ล็อคเยอร์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ) นั้น นับเป็นก๊าซอีกชนิดหนึ่งที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ แต่หนักกว่าก๊าซไฮโดรเจน กล่าวคือ ฮีเลียมจะหนักเป็น 2 เท่าของไฮโดรเจน แต่หนักเพียง 1 ส่วน 7 ของอากาศเท่านั้น ก๊าซฮีเลียมมีข้อดี คือ เบา เฉื่อย ไม่ติดไฟ นอกจากนี้ จากการที่อะตอมของก๊าซฮีเลียมมีขนาดใหญ่กว่าและหนักกว่าอะตอมของก๊าซไฮโดรเจน จึงทำให้มันไม่รั่วซึมออกจากถุงที่บรรจุเร็วเท่าก๊าซไฮโดรเจนด้วยข้อดีประการทั้งปวงที่กล่าวไป ก๊าซฮีเลียมจึงเหมาะแก่การนำมาใช้บรรจุในลูกโป่ง และบอลลูนได้อย่างแน่นอนปลอดภัยกว่าก๊าซไฮโดรเจน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผลิตก๊าซฮีเลียมนั้นยุ่งยากกว่าการผลิตก๊าซไฮโดรเจนมาก จึงส่งผลให้ราคาของก๊าซฮีเลียมแพงกว่าก๊าซไฮโดรเจน โดยตามปกติก๊าซฮีเลียมจะได้จากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

* หมายเหตุ : ในกรณีของเพลิงไหม้เรือเหาะไฮเดนเบิร์กนั้น ภายหลังได้มีการศึกษาหาสาเหตุของต้นเพลิงใหม่โดยวิศวกรจากนาซาได้ข้อสรุปว่าต้นเพลิงไม่น่าจะมาจากการที่ก๊าซไฮโดรเจนที่บรรจุอยู่ในถุงลมของเรือเหาะรั่วไหลและเกิดลุกติดไฟ โดยจากการวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย เศษซากวัสดุของเรือเหาะการสอบถามผู้รอดชีวิต พบว่า ต้นเพลิงน่าจะมาจากประกายไฟฟ้าในอากาศที่เกิดขึ้นในวันที่เรือเหาะลอยลำอยู่ (วันนั้นสภาพอากาศแปรปรวน มีฟ้าผ่า) ไปถูกเข้ากับผิวของถุงลมเรือเหาะด้านนอก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติติดไฟง่าย หลังจากนั้น เมื่อเพลิงไหม้เกิดขึ้นมันก็ลามไปยังส่วนอื่น ๆ ต่อไป และเกิดการระเบิดขึ้นในที่สุด

www.viboon.com


โดย : นาย kirapak pakongsap, ripw klongluang patumani 13180, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545