หลักฐานการเกิดวิวัฒนาการ

จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายของวิวัฒนาการ และบอกปัจจัยที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดวัฒนาการได้
2. อธิบายความหมายและหลักฐานต่างๆ ที่ใช้อธิบายสนับสนุนการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
สาระสำคัญ
วิวัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทีละเล็กทีละน้อยโดยอาศัยระยะเวลา จนได้ลูกหลานที่มีลักษณะแตกต่างไปจากบรรพบุรุษ วิวัฒนาการสามารถศึกษาได้จากหลักฐาน ต่างๆ เช่น ซากดึกดำบรรพ์ กายวิภาคเปรียบเทียบ การเจริญของเอมบริโอ เป็นต้น

เนื้อหา
หลักฐานทางกายวิภาคเปรียบเทียบ
หลักฐานทางกายวิภาคเปรียบเทียบ สามารถนำมาใช้สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการ เช่นรูปร่างของอวัยวะบางอย่าง โดยพิจารณาการเรียงตัวของโครงกระดูกสัตว์เปรียบเทียบแต่ละส่วนตามลำดับ เช่น ท่อนแรกที่ติดกับลำตัว จากนั้นก็เปรียบเทียบกับท่อนอื่นๆต่อไปตามลำดับ
จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับ การเปรียบเทียบโครงกระดูกขาหน้าของสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกและสัตว์ปีก พบว่า การเรียงตัวของโครงกระดูกขาหน้าของกบและโครงกระดูกปีกไก่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือประกอบด้วยกระดูกต้นแขน ซึ่งติดกับลำตัว กระดูกปลายแขน ข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ แต่ถ้านับจำนวนกระดูกของสัตว์ทั้งสองจะแตกต่างกัน คือ ปีกไก่จะมีกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ เพียง 1-2 ชิ้น ซึ่งน้อยกว่ากระดูกขาหน้าของกบ
อวัยวะของสัตว์ทั้งสองประเภทเมื่อมองจากลักษณะภายนอกจะมีความแตกต่างกัน ทั้งโดยรูปร่างและหน้าที่ แต่เมื่อชำแหละเพื่อศึกษาการเรียงตัวของโครงสร้างกระดูกแล้วพบว่า มีลักษณะการเรียงตัวของโครงกระดูกเป็นแบบเดียวกันจึงสรุปได้ว่า สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกกับสัตว์ปีกน่าจะมีความสัมพันธ์กันทางสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ความสัมพันธ์ของสายวิวัฒนาการนอกจากจะพบ ในสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกและสัตว์ปีกแล้ว ในกลุ่มของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมด้วยกันเราก็ยังพบว่าต่างก็มีสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน กล่าวคือ เมื่อศึกษาเปรียบเทียบโครงกระดูกขาหน้าของสัตว์เหล่านี้ เช่น ครีบปลาวาฬ ปีกค้างคาว ขาหน้าม้า แขนคน เป็นต้น พบว่ามีลักษณะการเรียงตัวคล้ายคลึงกันมาก ทั้งๆ ที่อวัยวะเหล่านี้เมื่อสังเกตภายนอกจะต่างกันทั้งรูปร่างและหน้าที่ก็ตาม ทำให้ได้ข้อสรุปว่า ครั้งหนึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้น่าจะสืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม สัตว์บางชนิดเมื่อมองจากภายนอกแล้วจะเห็นว่ามีอวัยวะบางส่วนที่คล้ายคลึงกันทั้งรูปร่างและหน้าที่ แต่เมื่อศึกษาโครงสร้างภายในอย่าละเอียดจะพบว่ามีความแตกต่างกัน เช่น ปีกนกกับปีกแมลง ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ของสัตว์ทั้งสองจะทำหน้าที่เหมือนกันคือบิน แต่โครงสร้างภายในแตกต่างกัน คือปีกนกจะมีโครงกระดูกอยูภายใน โดยมีเนื้อและเอ็นยึดกระดูกไว้ ส่วนปีกแมลงจะเป็นเพียงแผ่นเยื่อบางๆเท่านั้น ไม่มีโครงกระดูก นั่นก็แสดงให้เห็นว่า สัตว์ทั้งสองไม่ได้สืบสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
กิจกรรม
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม การศึกษาทางด้านกายวิภาคเปรียบเทียบ หมายถึง
2. คำถาม จากการศึกษาเปรียบเทียบโครงกระดูกขาหน้าของสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกกับสัตว์ปีก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า สัตว์ทั้งสองประเภทน่าจะมีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ
3. คำถาม ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาลักษณะของปีกนกและปีกแมลง คือ
4. คำถาม ถ้านักเรียนต้องการศึกษาถึงความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของจิ้งจกกับจระเข้ นักเรียนจะใช้หลักฐานทางด้านใดในการศึกษาค้นคว้าบ้าง
แนวคำตอบกิจกรรม
1. พิจารณาการเรียงตัวของโครงกระดูกสัตว์เปรียบเทียบแต่ละส่วนตามลำดับ เช่น ท่อนแรกที่ติดกับลำตัว จากนั้นก็เปรียบเทียบกับท่อนอื่นๆต่อไปตามลำดับ
2. มีลักษณะการเรียงตัวของโครงกระดูกเป็นแบบเดียวกัน
3. พบว่า การเรียงตัวของโครงกระดูกขาหน้าของกบและโครงกระดูกปีกไก่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือประกอบด้วยกระดูกต้นแขน ซึ่งติดกับลำตัว กระดูกปลายแขน ข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ แต่ถ้านับจำนวนกระดูกของสัตว์ทั้งสองจะแตกต่างกัน คือ ปีกไก่จะมีกระดูกข้อมือ ฝ่ามือ และนิ้วมือ เพียง 1-2 ชิ้น ซึ่งน้อยกว่ากระดูกขาหน้าของกบ
4. น่าจะใช้หลักฐานทางกายวิภาค เพราะกายวิภาคส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันมาก

หลักฐานจากการเจริญของเอมบริโอ
เอมบริโอ(Embryo) คือ ระยะของสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่เจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งนับตั้งแต่ไข่ได้รับการปฏิสนธิและเจริญจนมีอวัยวะครบ
การเจริญของเอ็มบริโอ หรือตัวอ่อนเป็นหลักฐานอันหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้านวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตใดที่มีการเจริญของเอมบริโอคล้ายคลึงกันมาก สันนิษฐานว่าสิ่งมีชีวิตนั้นน่าจะมีความสัมพันธ์ของสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกัน คืออาจจะสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียว สิ่งมีชีวิตในกลุ่มสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกันจะมีลักษณะของเอมบริโอในช่วงแรกของการเจริญคล้ายคลึงกัน เช่น เอ็มบริโอของปลาฉลาม กิ๊งก่า ไก่ ลิง คน เป็นต้น
ตามหนังสือแบบเรียนของสสวท.
แสดงเปรียบเทียบการเจริญเอมบริโอของสัตว์มีกระดูกสันหลัง
จากรูป ในช่วงที่ 1 ลักษณะการเจริญเอมบริโอของสัตว์มีกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยสังเกตได้จากหางและช่องเหงือก
ตามหนังสือแบบเรียนของสสวท.
ลักษณะภายนอกของเอมบริโอระยะแรก

ในช่วงที่ 2 อวัยวะบางอย่างเริ่มปรากฏให้เห็นในเอมบริโอบางตัว เช่น ปลาเริ่มมีครีบต่างๆรวมทั้งครีบหาง กบมีปุ่มขา หางเหยียดออกเป็นครีบ ส่วนเอมบริโอตัวอื่นๆที่มีความสัมพันธ์ทางสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน ยังคงมีลักษณะเหมือนกัน และทุกตัวก็มีปุ่มขางออกมา 2 คู่
ในช่วงที่ 3 เอมบริโอทุกตัวมีความแตกต่างกันชัดเจน แต่ละตัวแสดงลักษณะเฉพาะของตนออกมามากขึ้น เช่น ปลามีช่องเหงือกปรากฏเป็นร่องอยู่บริเวณคอ ซึ่งไม่พบในเอมบริโอของสัตว์อื่นๆกบมีขาหลังยาวกว่าขาหน้า เต่ามีจะงอยปากและกรดองคลุมด้านหลังลำตัว นกมีจะงอยปากและปุ่มขาคู่หน้าเจริญเป็นปีก กระต่ายมีใบหู ขาหน้าและหาง คนมีใบหู แขน ขา เช่นเดียวกับกระต่ายแต่ไม่มีหาง
สรุปได้ว่า เอมบริโอของสัตว์ต่างๆในช่วงที่ 1 เท่านั้นที่คล้ายคลึงกัน ส่วนช่วงอื่นจะมีความแตกต่างปรากฏขึ้น โดยสังเกตจากหางและช่องเหงือก
ลักษณะรูปร่างของเอมบริโอของสัตว์ต่างๆมีความคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกสุด จะบอกให้ทราบถึงความสัมพันธ์ทางด้านวิวัฒนาการ
กิจกรรม
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม เอมบริโอของสัตว์ต่างๆในช่วงใดของการเจริญที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
2. คำถาม ระยะของสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่เจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งนับตั้งแต่ไข่ได้รับการปฏิสนธิและเจริญจนมีระบบอวัยวะครบในทางชีววิทยา เรียกว่า
3. คำถาม สิ่งมีชีวิต 2 ชนิด มีเอ็มบริโอในช่วงแรกของการเจริญคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าสิ่งมีชีวิตทั้งสองนั้นมีความสัมพันธ์กันในเชิง
แนวคำตอบกิจกรรม ตอนที่4
1. เอมบริโอของสัตว์ต่างๆในช่วงที่ 1 เท่านั้นที่คล้ายคลึงกัน ส่วนช่วงอื่นจะมีความแตกต่างปรากฏขึ้น โดยสังเกตจากหางและช่องเหงือก
2. เรียกว่า เอมบริโอ
3. สายวิวัฒนาการใกล้เคียงกัน

หลักฐานทางพันธุศาสตร์
หลักฐานทางพันธุศาสตร์เป็นอีกหลักฐานหนึ่ง ที่สนับสนุนเกี่ยวกับการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต
กลุ่มสิ่งมีชีวิตเดียวกันหรือสปีชีส์เดียวกัน ( สปีชีส์ หมายถึง กลุ่มสิ่งมีชีวิต เมื่อผสมพันธุ์กันแล้วจะได้ลูกหลานที่สามารถถ่ายทอดพันธุกรรมสืบต่อไปได้ ) โดยมีหน่วยพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีน ( ยีน หมายถึง หน่วยพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดรูปร่าง หน้าที่อันเป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตนั้น ยีนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้) เป็นตัวกำหนดรูปร่าง
จากการศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์พบว่า การผสมพันธุ์ต่อเนื่องกันมาหลายๆชั่วอายุ ยีนหรือหน่วยพันธุกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้สิ่งมีชีวิตรุ่นลูกหลานมีลักษณะไม่เหมือนพ่อแม่ หรือเกิดสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า การผ่าเหล่า หรือ มิเตชั่น(Mutation)
การผ่าเหล่า หรือ มิวเตชั่น หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะผิดแผกไปจากพ่อแม่ ลักษณะที่ผันแปรไปนี้อาจมีลักษณะที่ดีกว่าหรือด้อยกว่าพ่อแม่ก็ได้ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดนี้เป็นหลักฐานใช้ศึกษาถึงบรรพบุรุษได้
1. การผ่าเหล่าของลูกหมีโคล่าร์เผือก(Albino Koala) ทำให้ลูกหมีมีขนสีขาวทั่วตัวเป็นตัวอย่างการผันแปรของหน่วยพันธุกรรม ซึ่งสีขนของลูกหมีจะแตกต่างจากพ่อแม่ ดังนั้นหน่วยพันธุกรรมของลูกหมีจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำรงชีวิตต่อไปได้
2. สาเหตุการเกิดวิวัฒนาการของนกพิราบป่าเกิดจาก การผสมพันธุ์และการคัดเลือกพันธุ์โดยฝีมือมนุษย์ จากหลักฐานการเลี้ยงและด้านการผสมพันธุ์(breeding) ของพืชและสัตว์ทำให้ได้พืชและสัตว์ที่มีลักษณะแปลกจากพันธุ์เดิมออกไป แสดงว่าหน่วยพันธุกรรมที่แสดงลักษณะนั้นแฝงอยู่ในพันธุ์เดิม แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงผันแปรไป (variation) ตามความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ ชีวิตนั้นก็จะอยู่รอดได้เป็นพันธุ์ใหม่ๆตามที่พบเห็น ตัวอย่างที่ได้พบเห็นได้ชัดคือสุนัขพันธุ์ต่างๆที่พบมากในประเทศไทยมีทั้งขนยาว ขนสั้น หูปรก หูตั้ง หางยาว หางสั้น เตี้ยและสูง เป็นต้น
3. ล่อ ซีโบรส เป็นลูกผสมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างม้าลายตัวผู้กับม้าตัวเมีย โดยซีโบรสเป็นหมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ เพราะม้าลายกับม้าเป็นสัตว์ต่างสปีชีส์กัน
ม้า (Equus caballus)
ม้าลาย (Equus burchelli bacehmi)
การผสมพันธุ์ระหว่าง ม้าตัวเมียกับลาตัวผู้จะได้ลูกซึ่งเรียกว่า ล่อ (mule)
ม้าตัวผู้กับลาตัวเมียจะได้ลูกซึ่งเรียกว่า hinny
ม้าตัวเมียกับม้าลายตัวผู้จะได้ลูกซึ่งเรียกว่า zebrose
ม้าตัวผู้กับม้าลายตัวเมียจะได้ลูกซึ่งเรียกว่า horsebras
ม้าลายตัวผู้กับลาตัวเมียจะได้ลูกซึ่งเรียกว่า zebronky
จากการศึกษาเรื่องโครโมโซมพบว่า ม้า ลา และม้าลาย มีจำนวนโครโมโซมไม่เท่ากัน
ม้าลาย มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 44
ลา มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 62
ม้า มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 66
ลูกผสมกันที่เกิดจากการผสมกันระหว่างสัตว์เหล่านี้จึงมีจำนวน โครโมโซมอยู่ระหว่างจำนวนโครโมโซมของพ่อกับแม่ กล่าวกันว่าจำนวนโครโมโซมของลูกผสมจะเป็น Triploid โอกาสเป็นหมันจึงสูง เช่น ลูกผสม zebronky มีจำนวนโครโมโซมเท่ากับ 53 เซลล์สืบพันธุ์ที่จะสร้างไข่หรืออสุจิมีชุดโครโมโซม ไม่เหมือนกันทั้งขนาดและจำนวน จึงเกิดการยับยั้งในการแบ่งเซลล์ระยะไมโอซีส สัตว์ลูกผสมเหล่านี้ ไม่พบว่าตัวผู้มีการสร้างตัวอสุจิ ส่วนตัวเมียจะสร้างไข่ได้ แต่ไข่เจริญเติบโตเป็น Graafian follicle ได้น้อย
กิจกรรม
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม หน่วยพันธุกรรมที่เป็นตัวกำหนดรูปร่างและหน้าที่เฉพาะของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า
2. คำถาม การผ่าเหล่า หมายถึง
3. คำถาม สัตว์ที่จะผสมพันธุ์กันได้ตามธรรมชาติ ต้องเป็นสัตว์
4. คำถาม การผ่าเหล่าของลูกหมีโคล่าส์เผือก ทำให้มีสีขาวทั่วตัว และมีตาเป็นสีชมพู นักเรียนคิดว่า เป็นตัวอย่างการผันแปรของหน่วยพันธุกรรมได้หรือไม่ อย่างไร
5. คำถาม ซีโปรสไม่สามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมสืบต่อไปได้เหมือนม้า เพราะ
6. คำถาม ม้าตัวเมียผสมพันธุ์กับลาตัวผู้ ลูกที่เกิดมาเรียกว่า
แนวคำตอบกิจกรรม
1. ยีน(Gene)
2. สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะผิดแผกไปจากพ่อแม่ ลักษณะที่ผันแปรไปนี้อาจมีลักษณะที่ดีกว่าหรือด้อยกว่าพ่อแม่ก็ได้ ลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดนี้เป็นหลักฐานใช้ศึกษาถึงบรรพบุรุษได้
3. ในสปีชีส์เดียวกัน
4. การผ่าเหล่าของลูกหมีโคล่าส์เผือก(Albino Koala) ทำให้มีสีขาวทั่วตัวเป็นตัวอย่างของการแปรผันของหน่วยพันธุกรรม ซึ่งขนสีขาวของลูกหมีจะแตกต่างจากพ่อแม่ ดังนั้นหน่วยพันธุกรรมของลูกหมีจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เพื่อการดำรงชีวิตต่อไป
5. เป็นการผสมพันธุ์กันระหว่างม้าลายตัวผู้กับม้าตัวเมีย คนละสปีชีส์กัน
6. ล่อ (Mule)

หลักฐานจากร่องรอยของอวัยวะที่ไม่ใช้งาน
หลักฐานจากร่องรอยของอวัยวะที่ไม่ใช้งานเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดง ว่าสิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการมาแล้วจากอดีตและจะวิวัฒนาการต่อไปในอนาคต และในขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานแสดงถึงความสัมพันธ์ในเชิงวิวัฒนาการด้วย
ตามหนังสือแบบเรียนของสสวท.
รูป แสดงถึงร่อยรอยของอวัยวะต่างๆที่ไม่ใช้งาน
กระดูกขางูหลงเหลืออยู่แสดง ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งงูเคยมีขาหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่างูอาจวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานที่มีขา แล้วลดรูปลงกลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีขาในปัจจุบัน
ตามหนังสือแบบเรียนของสสวท.
หนังตาชั้นที่ 3 ที่ยังคงมีอยู่ในมนุษย์ แต่ไม่ได้ใช้งาน ในขณะเดียวกันสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกยังคงมีหนังตาชั้นที่ 3 ปรากฏอยู่เช่นกัน แต่สามารถกระพริบขึ้นลงป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับลูกตาได้ ส่วนหนังตาบนและล่างของสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกนั้นกระพริบไม่ได้
กล้ามเนื้อบริเวณหลังใบหูในมนุษย์ยังคงปรากฏอยู่ แต่ไม่ได้ใช้งานในการเคลื่อนไหวของใบหู ยกเว้นในบางคน จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดที่มีกล้ามเนื้อหลังบริเวณใบหูและใช้ในการเคลื่อนไหวในใบหูได้ เช่น หมู ช้าง ฯลฯ มีบรรพบุรุษร่วมกัน หรือวิวัฒนาการมาใกล้เคียงกัน
ไส้ติ่งมนุษย์เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งของวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ซึ่งโดยปกติแล้วทางเดินอาหารของมนุษย์จะเริ่มต้นที่ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และกากอาหารออกสู่ภายนอกทางทวารหนัก ไส้ติ่งของมนุษย์ไม่มีหน้าที่ในการย่อยอาหารเช่นเดียวกันกับ แมว สุนัข และจากการศึกษาระบบย่อยอาหารของสัตว์บางชนิดพบว่า สุกรมีไส้ติ่ง และยังคงใช้งานได้ เพราะสุกรกินอาหารผสมที่เป็นผลผลิตของพืชและสัตว์ อาหารดังกล่าวจะถูกย่อยที่กระเพาะ และลำไส้เล็ก อาหารส่วนที่เป็นพืชหรือเส้นใยจะถูกย่อยโดยจุลลินทรีย์ที่บริเวณไส้ติ่งและลำไส้ใหญ่
กิจกรรม
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม อวัยวะในร่างกายของมนุษย์ที่ยังคงปรากฏอยู่แต่ไม่ได้ใช้งาน หรือไม่ได้ทำงานแต่อย่างใด คือ
2. คำถาม หนังตาชั้นที่ 3 ของสัตว์ประเภทใดที่ยังคงใช้งานในการกระพริบขึ้นลง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตา
3. คำถาม อวัยวะที่ช้างและคนมีเหมือนกัน แต่คนมีขนาดเล็กและไม่ใช้งาน ส่วนช้างมีขนาดใหญ่ และคงใช้งาน คือ
4. คำถาม นักเรียนจะใช้ร่องรอยขอวัยวะต่างๆของสิ่งมีชีวิตอธิบายในเรื่องวัฒนาการ อย่างไร
แนวคำตอบกิจกรรม
1. ไส้ติ่ง ,หนังตาชั้นที่ 3
2. สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก เช่น กบ , เขียด
3. กล้ามเนื้อบริเวณหลังใบหู
4. ร่อยรอยของอวัยวะต่างๆของสิ่งมีชีวิตบ่งบอกถึงว่าสิ่งมีชีวิตนั้นได้วิวัฒนาการมาจริง
ความรู้เพิ่มเติม
ข้าวพันธุ์ผสม กข ย่อมาจากคำว่า กรมการข้าว และกองการข้าว ส่วน กข 1 หมายถึง ข้าวเจ้าพันธุ์ผสมต้นเตี้ย ส่วน กข 2 คือ ข้าวเหนียวพันธุ์ผสมต้นเตี้ย ซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่สถาบันวิจัยข้าวได้ปรับปรุงพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่นักเรียนน่าจะรู้จัก ได้แก่ข้าวขาวดอกมะลิ ข้าวขาวตาแห้ง ข้าวนางพญา ข้าวแก่นจันทร์ ข้าวเก้ารวง ข้าวดอกพะยอม ข้าวซิวแม่จัน ฯลฯ ซึ่งข้าวพันธุ์พื้นเมืองเป็นพันธุ์ข้าวที่เก็บมาจากจังหวัดต่างๆและนำไปปรับปรุงพันธุ์ โดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัย ของกรมวิชาการเกษตรแล้ว จึงมีมติให้ขยายพันธุ์ได้ ไม่ใช่ข้าวพันธุ์ผสมดังกล่าว
บรรณานุกรม
1. ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,สถาบัน. หนังสือแบบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ (สสวท.) เรื่อง ชีวิตและวิวัฒนาการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:คุรุสภา,2534
2. ดร.บัญชา แสนทวี ,ชวลิต เข็มพรหมมา, ดาริกา วีรวินันทนกุล, ฤทัย วันเฟื่องฟู, หนังสือเรียนสมบูรณ์แบบวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ เรื่อง ชีวิตและวิวัฒนาการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ,วัฒนาพานิช สำราญราษฎร์.พระนคร กรุงเทพฯ 10200, พิมพ์ครั้งที่ 1. พ.ศ. 2540




โดย : นาย ใจชาย ปัณนะพงษ์, โรงเรียนวังเหนือวิทยา, วันที่ 10 พฤศจิกายน 2544