แสงสีที่สวยงาม

แสงสีที่สวยงาม
ในช่วงฤดูฝน นอกเหนือจากความน่าสะพรึงกลัวของเสียงฟ้าคำรามกึกก้องและแสงแปลบปลาบจากปรากฏการณ์ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า ฟ้าร้องแล้ว ธรรมชาติยังปลอบใจมนุษย์ด้วยความสวยงามของแสงสีบนท้องฟ้า เสมือนชดเชยความน่ากลัวที่เกิดขึ้นเป็นแสงสีของ รุ้งกินน้ำ ที่วาดโค้งอยู่บนท้องฟ้า คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์รู้จักความสวยงามของสีสันต่างๆในกาลต่อมา
รุ้งกินน้ำ เกิดขึ้นภายหลังฝนตกในขณะที่ยังคงมีแสง สว่างจากดวงอาทิตย์อยู่ และเกิดด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์เสมอ เราจะเห็นได้ชัดเจนสวยงามต้องหันหลังให้ดวงอาทิตย์
เหตุผลของการเกิดรุ้งกินน้ำเป็นเพราะ แสงอาทิตย์ที่เราเห็นเป็นแสงสีขาวนั้น เมื่อส่องผ่านไปในหยดละอองน้ำของเม็ดฝนที่มีดัชนีหักเหแตกต่างจากอากาศ จะเกิดการสะท้อนแสงและหักเหแสงในเม็ดฝน กระจายแสงออกมาในช่วงความยาวคลื่นที่แตกต่างกันไปแสงสีในช่วงคลื่นที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจะสะท้อนออกมาเรียงตามลำดับ 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ช่วงคลื่นที่ตามองเห็นได้ 7 สีนี้ เรียกว่า Spectrum จากรากศัพท์ภาษาละตินที่หมายถึง ภาพที่ปรากฏ เพราะในแสงอาทิตย์ยังมีช่วงคลื่นอื่นที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ แต่รับรู้ด้วยอุปกรณ์พิเศษ เช่น รังสีใต้แดง(Infrared) รังสีเหนือม่วง(Ultraviolet) เป็นต้น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เซอร์ ไอแซค นิวตัน เป็นผู้พิสูจน์ปรากฏการณ์นี้ในปี พ.ศ. 2215 โดยให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านแท่งแก้วปริซึมรูปสามเหลี่ยม
มีปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คล้ายกัน แต่เกิดในลักษณะแตกต่างกัน มักเกิดในช่วงฤดูฝน ต้นฤดูหนาว คือปรากฏการณ์อาทิตย์ทรงกลดและพระจันทร์ทรงกลด เพราะขณะนั้นอากาศเบื้องบนจะเย็นจัดจนเมฆสูงขึ้นเป็นเกล็ดผลึกน้ำแข็ง แสงอาทิตย์หรือแสงจันทร์ส่องผ่านเกล็ดน้ำแข็ง จะสะท้อนแสงและหักเหในเกล็ดน้ำแข็ง กระจายแถบสี Spectrum ออกมาเป็นรัศมีคล้ายสีรุ้งอยู่โดยรอบดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ เหมือนกลดมากางกั้นไว้
เมื่อเข้าใจแถบแสงสี 7 สีของ Spectrum แล้วหลักการดังกล่าวสามารถอธิบายโดยสรุปได้ว่า ช่วงเวลาที่ต่างกัน แสงสีบนท้องฟ้าจะแตกต่างกัน เช่น เวลากลางวันขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่สูงจากขอบฟ้า เราเห็นท้องฟ้าโดยทั่วไปเป็นสีฟ้า เพราะฝุ่นละอองมากมายในบรรยากาศทำหน้าที่สะท้อนแสง หักเหแสงในช่วงคลื่นสีน้ำเงินออกมามาก แต่ในช่วงเช้าหรือเย็นขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้ขอบฟ้า แสงของดวงอาทิตย์จะส่องผ่านชั้นบรรยากาศที่หนามากกว่าขณะที่ดวงอาทิตย์อยู่สูง จึงเกิดการสะท้อนแสงและหักเหแสงในช่วงคลื่นสีเหลือง แสด แดง ออกมามากกว่า ดังนั้นท้องฟ้าจึงมีสีแดงหรือสีแสด




โดย : นางสาว พรชยา อิธิสุริยะกุล, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 12 พฤศจิกายน 2544