กุ้ง

กุ้ง. 2001. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก . http://www.talaythai.com/
กุ้ง
กุ้งเป็นสัตว์ทะเลพวก Crustacean (ภาษาละตินแปลว่า "ผู้สวมเกราะ") พวกเขามีเปลือก และมีสิบขาเหมือนปู สิ่งหนึ่งที่สังเกตง่ายสำหรับสัตว์พวกนี้ คือลำตัวแบ่งออกเป็นส่วนหัว และส่วนท้อง อย่างชัดเจนสัตว์จำพวกกุ้งมีเปลือกเป็นเกราะคุ้มภัยให้ตัวเอง อย่างไรก็ตาม เปลือกไม่สามารถขยายตาม ขนาดร่างกายได้ เมื่อตัวโตขึ้น กุ้งจำเป็นต้องลอกคราบ พวกเขาจะดึงสารที่จำเป็นจากเปลือกเดิม สู่ร่างกาย เพื่อเตรียมสร้าง เปลือกใหม่ จากนั้นจะสลัดคราบเดิมออก แล้วรอเวลาให้เปลือกใหม่แข็งตัว เวลานี้คือ ช่วงอันตราย เพราะปราศจากเกราะป้องกัน กุ้งจึงหาที่หลบซ่อนตัว และลอกคราบในเวลากลางคืนกุ้งในแนวปะการัง แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ตามหลักอนุกรมวิธานแต่เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เราจะ แบ่งกุ้งตามพฤติกรรมออกเป็น 4 พวก

กุ้งมังกร
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือกุ้งมังกรมีขนาดใหญ่กว่ากุ้งชนิดอื่นมาก หลายคน คงรู้จักพวกเขาดี กุ้งมังกรพบในทะเลไทยไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่เท่าที่ Sea PaPa ดำน้ำเจอ มีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิด คือ กุ้งมังกรเจ็ดสี เจอทั่วไป ในอันดามัน กุ้งมังกรยักษ์ เจอน้อย ส่วนใหญ่อยู่ที่กองหินใต้น้ำ เช่น ริเชลิว กุ้งมังกรแดง ขนาดเล็กมักอยู่ในถ้ำหรือซอกหิน พบบ่อยแถวอันดามันใต้ กุ้งมังกรคิงคอง เจอน้อยมาก กุ้งมังกรหนาม พบอยู่ตามหมู่เกาะใกล้ฝั่งระนอง
กุ้งบนพื้นทราย
บนผืนทรายในเวลากลางคืนทั้งในที่ตื้นและที่ลึก มีกุ้งอาศัยอยู่ เช่น กุ้งตะกาด ปัจจุบัน เรามีข้อมูล เกี่ยวกับพวกเขาน้อยมาก พฤติกรรมเท่าที่สังเกต คือมีตัวใส พรางเข้ากับพื้นทราย บางครั้งอาจฝังทรายจนเหลือแต่ตา เมื่อมีภัยใกล้ ตัวจะดีดตัวหนี เกือบทั้งหมดเป็นกุ้งขนาดเล็ก
กุ้งบนหิน
กุ้งพวกนี้มักอยู่ตามซอกหิน หรือใต้ก้อนปะการัง ส่วนใหญ่มีขนาดยาว ไม่เกิน 5 เซนติเมตร พวกเขาเป็นกุ้งที่พบได้บ่อยที่สุดในแนวปะการัง หลายชนิด ดำรงชีวิต ด้วยการพยาบาลสัตว์อื่น เช่น กุ้งพยาบาล กุ้งขายาว กุ้งมดแดง เมื่อมีปลาใหญ่ เข้ามาใกล้ กุ้งจะปีนป่ายขึ้นไปกินปรสิต เมือก หรือผิวหนังที่ตาย ของสัตว์ใหญ่
กุ้งอาศัย ดอกไม้ทะเล ปลิงทะเล และดาวขนนก มักเป็นที่อาศัยของกุ้ง พวกเขามีขนาดเล็กมาก (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 เซนติเมตร) เปลือกมีสี และลักษณะกลมกลืนกับสัตว์ที่เขาอาศัยอยู่ จนแยกความแตกต่างแทบไม่ได้ กุ้งกลุ่มนี้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยปราศจากสัตว์ใหญ่ที่เขาอาศัยอยู่ หากอยากเห็นพวกเขาเราต้องไปสังเกตตามสัตว์ต่างๆ มองดูให้ดีคงมีสิทธิเจอเข้าสักวันหนึ่ง ปัจจุบันเราทราบข้อมูลเกี่ยวกับ กุ้งในแนวปะการังน้อยมาก หลายคนเข้าใจว่า พวกเขาไม่มี ประโยชน์ ความจริงแล้วเหล่ากุ้งน้อยล้วนเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ สัตว์ใหญ่ ที่เราใช้ประโยชน์ กินกุ้งเป็นอาหาร อาทิ ปลาเก๋า ปลากะพง เป็นต้น นอกจากนั้นกุ้งมีส่วนสำคัญ ช่วยให้แนวปะการังสวยงาม และหลากหลายจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าของเมืองไทยSea PaPaสำรวจพบว่ากุ้งในแนวปะการังอันดามัน มีมากกว่าในอ่าวไทย อันดามันเหนือ เช่น สุรินทร์ สิมิลัน จะมีปริมาณ และความหลากหลายของกุ้ง ต่างจากอันดามันใต้ เช่น พีพี หากใครอยากเห็น กุ้งใต้ทะเล แนะนำว่าควรดำน้ำกลางคืนสถานเดียว




โดย : นาย ปริญญา หงษ์ทอง, Rhajabhat Institue Petchburiwittayalongkorn phahonyothin Road,Kw 48 Klong Luang, วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2545