ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต


เอกสารประกอบการเรียน เรื่อง
ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. บอกเหตุผลของการจำแนกสิ่งมีชีวิตเป็นอาณาจักร และยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรต่างๆได้
2. อธิบายความสัมพันธ์เชิงอาหารและเชิงการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตได้
3. อธิบายความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งที่อยู่อาศัยได้
สาระสำคัญ
การวิวัฒนาการทำให้มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมากมายหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดต่างก็มีขนาดและรูปร่างต่างๆกัน ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการศึกษา นักวิทยาศาสตร์จึงได้จัดสิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นอาณาจักร สิ่งมีชีวิตแต่ละอาณาจักรเมื่อเกิดขึ้นบนโลกก็ได้ปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม เป็นผลให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเจริญเติบโตและดำรงพันธุ์อยู่ได้ตลอดมา
เนื้อหา
ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต
จากจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตบนโลกมนุษย์เมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว จนกระทั่งถึงปัจจุบันสิ่งมีชีวิตได้มีวิวัฒนาการแยกออกเป็นชนิดต่างๆมากมาย โดยแต่ละชนิดมีลักษณะ และการดำรงชีวิตต่างๆกันเช่น บางชนิดมีลักษณะง่ายๆเหมือนชีวิตแรกเกิด บางชนิดมีลักษณะสลับซับซ้อน บางชนิดดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ บางชนิดดำรงชีวิตอยู่บนบก เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการศึกษาและความเข้าใจถูกต้องตรงกัน นักวิทยาศาสตร์ จึงได้จัดแบ่งสิ่งมีชีวิตดังกล่าวเหล่านี้ออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่จนถึงหมวดหมู่ย่อยตามลำดับดังนี้
1. อาณาจักร (Kingdom)
2. ไฟลัม (Phylum )
3. คลาส (Class)
4. ออร์เดอร์ (Order )
5. แฟลมมิลี่ (Family)
6. จีนัส (Genus)
7. สปีชีส์ (Species)
ตัวอย่างการหมวดหมู่ของมนุษย์
ลำดับ1 หมวดหมู่ ชื่อในหมวดหมู่Kingdom Animalia
ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ เป็นสิ่งมีชีวิตพวกที่นิวเคลียสมีผนังห่อหุ้ม ประกอบด้วย หลายเซลล์มีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละเซลล์เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร ไม่มีคลอโรฟิลล์ สร้างอาหารเองไม่ได้ ดำรงชีวิตได้หลายลักษณะทั้งบนบกในน้ำ และบางชนิดเป็นปรสิต อาณาจักรนี้ได้แก่สัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
2 หมวดหมู่ Phylum Chordata ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ มีแกนลำตัว
3 หมวดหมู่ Class Mammalia ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ มีต่อมน้ำนม ขนสั้นเล็ก ๆ (hair)
4 หมวดหมู่ Order Primate ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ มีนิ้ว5นิ้ว ปลายนิ้วมีเส้นแบน นิ้วหัวแม่มือพับขวางกับนิ้วอื่นๆ
5 หมวดหมู่ Family Homonidaeลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ เดิน 2 ขา มีฟันเขี้ยวเล็กอยู่ระดับเดียวกับฟันอื่น
6 หมวดหมู่ Genus Homo ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ สามารถประดิษฐ์เครื่องมือและสะสมเครื่องมือไว้
7 หมวดหมู่ Species Homo sapiens sapiens ลักษณะสิ่งมีชีวิตในหมวดหมู่ มีความสามารถเชิงศิลป์ วาดรูปไว้
นักวิทยาศาสตร์ได้จัดหมวดหมู่ใหญ่ๆของสิ่งมีชีวิตเป็น 4 อาณาจักร(Kingdom) คือ
1. อาณาจักรโมเนอรา (Kingdom Monera) เป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกที่นิวเคลียสไม่มีผนังห่อหุ้ม (prokaryotic nucleus) และไม่มีแวคคิวโอล เป็นเซลล์เดียวหรือต่อกันเป็นสายภายในเซลล์ไม่แสดงขอบเขตของนิวเคลียสชัดเจนมีรูปร่างหลายแบบทั้งกลม แท่ง และเกลียว ได้แก่ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และแบคทีเรีย
2. อาณาจักรโปรติสตา (Kingdom Protista) เป็นสิ่งมีชีวิตพวกที่นิวเคลียสมีผนังห่อหุ้ม (eukaryotic nucleus) เป็นพวกเซลล์เดี่ยวที่ทำหน้าที่ในเซลล์ครบอย่างสมบูรณ์ ภายในเซลล์มีขอบเขตของนิวเคลียสที่ชัดเจน บางชนิดมีอวัยวะช่วยในการเคลื่อนที่ บางชนิดมีผนังเซลล์คล้ายเซลล์พืชแต่ไม่มีคลอโรฟิลล์ สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์ดำรงชีวิตโดยการย่อยสลายสารอินทรีย์ ได้แก่ ยูกลีนา ไดอะตอม อะมีบา พารามีเซียม เห็ด รา
3. อาณาจักรพืช (Kingdom Plantea) เป็นสิ่งมีชีวิตพวกที่นิวเคลียสมีผนังห่อหุ้ม ประกอบด้วยหลายเซลล์ มีการเปลี่ยนแปลงทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร ดำรงชีวิตด้วยการสังเคราะห์แสง มีคลอโรฟิลล์ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ประกอบด้วยหลายเซลล์ พบได้ทั้งบนบกในน้ำ อาณาจักรนี้เป็นพืชทั้งหมดนับตั้งแต่ สาหร่ายสีเขียวขึ้นไปจนถึงพืชไม้ดอก ได้แก่ ต้นหอม ต้นปรง
4. อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animal) เป็นสิ่งมีชีวิตพวกที่นิวเคลียสมีผนังห่อหุ้ม ประกอบด้วย หลายเซลล์มีการแบ่งหน้าที่ของแต่ละเซลล์เพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่างแบบถาวร ไม่มีคลอโรฟิลล์ สร้างอาหารเองไม่ได้ ดำรงชีวิตได้หลายลักษณะทั้งบนบกในน้ำ และบางชนิดเป็นปรสิต อาณาจักรนี้ได้แก่สัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ พยาธิใบไม้ กบ ลิง กระต่าย ดาวทะเล แมงดาทะเล พลานาเรีย หอย2ฝา แมลงสาบ
กิจกรรม ตอนที่ 1
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม นักวิทยาศาสตร์ได้จัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็น…………..อาณาจักร คือ
2. คำถาม เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นอาณาจักร คือ
แนวคำตอบกิจกรรม ตอนที่1
1. คำตอบ 4 อาณาจักร คือ 1. อาณาจักรโมเนรา 2. อาณาจักรโปรติสตา 3. อาณาจักรพืช 4. อาณาจักรสัตว์
2. คำตอบ รูปร่างลักษณะและการดำรงชีวิต เช่น บางชนิดมีลักษณะง่ายๆเหมือนชีวิตแรกเกิด บางชนิดมีลักษณะสลับซับซ้อน บางชนิดดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ บางชนิดดำรงชีวิตอยู่บนบก



การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในแต่ละอาณาจักรจะมีบทบาทหน้าที่ต่างๆกันในระบบนิเวศ
ระบบนิเวศ(Ecosystem) หมายถึงระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยเดียวกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องมีการถ่ายทอดสารและพลังงานให้แก่กันและกันระบบนิเวศนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. สิ่งไม่มีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิตซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบบนิเวศ ได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ ลม อนินทรียสาร เช่น คาร์บอน ออกซิเจน น้ำ อินทรียสาร เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ แสงสว่าง ความชื้น เป็นต้น
2. สิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะถูกธรรมชาติคัดเลือกให้ดำรงพันธ์ต่อไป โดยจะมีบทบาทหน้าที่ต่างๆกันในระบบนิเวศ ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยอินทรียสาร และผู้กินซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว ดังแผนภาพแสดงความสัมพันธ์เชิงอาหารหรือสายใยอาหาร “ลูกศร” แสดงถึงการบริโภคต่อกันเป็นทอดๆสิ่งมีชีวิตที่อยู่หัวลูกศรเป็น ผู้บริโภค หรือ ผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดพลังงานส่วนสิ่งมีชีวิตที่อยู่ปลายลูกศรเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภค
ผู้ผลิต ผู้บริโภคพืช ผู้บริโภคสัตว์ลำดับที่1 ผู้บริโภคสัตว์ลำดับที่ 2
ผู้ย่อยอินทรียสาร และผู้กินซากสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ได้แก่ ความสัมพันธ์เชิงอาหาร และความสัมพันธ์เชิงการอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์เชิงอาหารมีอยู่ 2 แบบ คือ ความสัมพันธ์เชิงอาหารแบบโซ่อาหาร และแบบสายใยอาหาร
โซ่อาหาร
โซ่อาหาร(Food Chain) หมายถึง การกินต่อกันเป็นทอดๆของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในรูปแบบดังกล่าวนี้เป็นการถ่ายทอดพลังงานผ่านผู้ผลิตและผู้บริโภค ในระดับต่างๆ โดยมีผู้ย่อยสลายทำหน้าที่ย่อยสลายในทุกระดับ
ตัวอย่างโซ่อาหาร
ตัวอย่างที่ 1
ผักกาด กระต่าย สุนัขจิ้งจอก
กระต่าย เป็นผู้บริโภคผักกาดในขณะเดียวกันกระต่ายก็ถูบริโภคโดยสุนัขจิ้งจอก
ผักกาด เป็นผู้ผลิต กระต่ายเป็นผู้บริโภคพืช
สุนัขจิ้งจอก เป็นผู้บริโภคสัตว์ลำดับ 1
ตัวอย่างที่ 2
ข้าวโพด หนู งู นกฮูก
ข้าโพด เป็นผู้ผลิต งู เป็นผู้บริโภคสัตว์ลำดับที่ 1
หนู เป็นผู้บริโภคพืช นกฮูก ผู้บริโภคสัตว์ลำดับที่ 2
สายใยอาหาร
สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศหนึ่งๆนอกจากจะมีความสัมพันธ์เชิงอาหารแบบโซ่อาหารแล้ว ยังมีความสัมพันธ์เชิงอาหารแบบสายใยอาหารอีกด้วย สายใยอาหาร (Food Web) เป็นระบบความสัมพันธ์เชิงอาหารของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งประกอบด้วยโซ่อาหารหลายๆโซ่ ดังแผนภาพดังนี้
จะเห็นได้ว่า ในระบบนิเวศหนึ่งๆผู้ผลิตจะเป็นตัวกลางสำคัญ ในการถ่ายทอดพลังงาน โดยผู้ผลิตจะรับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มา แล้วถ่ายทอดไปยังผู้บริโภคชนิดต่างๆ ในรูปของพลังงานเคมีควบคู่ไปกับสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของสารอาหาร ดังนั้น ถ้าในระบบนิเวศใดๆ ไม่มีผู้ผลิต มีแต่ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลายอินทรียสารแล้ว สิ่งมีชีวิตต่างๆบนโลกนี้ก็คงจะสูญพันธ์ไปหมด ทั้งนี้เพราะสภาวะสมดุลธรรมชาติของระบบนิเวศสูญเสียไป ทำให้ผู้บริโภคที่เคยบริโภคพืช(ผู้ผลิต) หันมาบริโภคกันเอง หรือไม่ก็ตายไปเนื่องจากขาดอาหาร วัฏจักรของก๊าซที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตก็จะสูญเสียไป อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตอยู่เมื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้ ก็จะตายและสูญพันธุ์ไปในที่สุด
สิ่งมีชีวิตต่างๆนอกจากจะมีความสัมพันธ์กันในเชิงอาหารดังกล่าวแล้ว ยังมีความสัมพันธ์กันในเชิงการอยู่ร่วมกันอีกด้วย ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในเชิงการอยู่ร่วมกันมีดังนี้
1. การอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากัน (Mutualism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ด้วยกัน เช่นนกเอี้ยงบนหลังควาย นกเอี้ยงจะคอยจิกกินพวกเห็บที่เกาะติดอยู่ตามตัวควาย ส่วนควายได้รับประโยชน์ คือ ไม่ต้องคอยกำจัดเห็บ
2. การอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล หรืออิงอาศัยกัน (Commensalism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยมีฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เช่นกล้วยไม้บนต้นไม้ กล้วยไม้ได้ประโยชน์ คือ ความชื้นและที่เกาะอาศัยจากต้นไม้ ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ก็ไม่ได้หรือเสียประโยชน์ เนื่องจากรากกล้วยไม้ไม่ได้ฝังลึกลงไปแย่งอาหารต้นไม้
3. การอยู่ร่วมกันแบบปรสิต (Parasitism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ เช่น กาฝากบนต้นไม้ กาฝากได้รับประโยชน์คือได้รับอาหารจากต้นไม้ที่อาศัย ส่วนต้นไม้ก็จะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เพราะถูแย่งอาหารไป
ในปัจจุบัน ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้สะสมตัวมากขึ้นจนธรรมชาติไม่สามารถที่จะปรับให้เข้าสู่สภาวะปกติหรือสภาวะสมดุลได้ทัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลดังกล่าวนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในที่สุด
กิจกรรม ตอนที่ 2
คำสั่ง จงตอบคำถามหรือเติมช่องว่างด้วยคำหรือข้อความสั้นๆ
1. คำถาม ระบบนิเวศ หมายถึง
2. คำถาม องค์ประกอบที่สำคัญของระบบนิเวศ ได้แก่
3. คำถาม พืชสีเขียวชนิดต่างๆจัดเป็นผู้ผลิต เพราะ
4. คำถาม สายใยอาหาร หมายถึง
5. คำถาม พลังงานที่ถ่ายทอดจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคอยู่ในรูปของ
6. คำถาม ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ด้วยกัน เรียกว่า
7. คำถาม ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยมีฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้และไม่เสียประโยชน์ เรียกว่า
8. คำถาม ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดโดยที่ฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์ เรียกว่า
9. คำถาม การอยู่ร่วมกันระหว่างพยาธิในลำไส้กับคน เป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต แบบ
10. คำถาม สาเหตุสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้สะสมตัวมากขึ้นจนธรรมชาติไม่สามารถที่จะปรับให้เข้าสู่สภาวะปกติหรือสภาวะสมดุลได้ทัน คือ
แนวคำตอบกิจกรรม ตอนที่ 2
1. คำตอบ หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยเดียวกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับแหล่งที่อยู่อาศัย โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวจะต้องมีการถ่ายทอดสารและพลังงานให้แก่กันและกัน
2. คำตอบ องค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. สิ่งไม่มีชีวิต 2. สิ่งมีชีวิต
3. คำตอบ มีการสังเคราะห์แสง สร้างอาหารได้เอง
4. คำตอบ หมายถึง ระบบความสัมพันธ์เชิงอาหารของสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งประกอบด้วยโซ่อาหารหลายๆโซ่
5. คำตอบ อยู่ในรูปของสารเคมี
6. คำตอบ การอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพากัน (Mutualism)
7. คำตอบ การอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูล หรืออิงอาศัยกัน (Commensalism)
8. คำตอบ การอยู่ร่วมกันแบบปรสิต (Parasitism)
9. คำตอบ แบบปรสิต (Parasitism)
10. คำตอบ ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี




ภาคผนวก
การจำแนกและการตั้งชื่อสิ่งมีชีวิต
การจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่นั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความสะดวกในการค้นหาและเปรียบเทียบสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ถูกค้นพบนับล้านชนิดในโลก แล้วนักวิทยาศาสตร์เขามีวิธีอย่างไรในการจำแนก? เมื่อเราจะกล่าวถึงเรื่องการจำแนกและการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตนั้น เราต้องมารู้จักคำว่า "อนุกรมวิธาน" เสียก่อน อนุกรมวิธาน (Taxonomy) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องการจำแนกสิ่งมีชีวิต การกำหนดชื่อสากลของสิ่งมีชีวิต และการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบ สำหรับนักอนุกรมวิธาน เราเรียกว่า Taxonomist
- Classification - การจำแนกออกเป็นหมู่
- Nomenclature - การกำหนดชื่อสากลของสิ่งมีชีวิต
- Identification - การตรวจสอบชื่อสิ่งมีชีวิต
Classification - เกณฑ์ที่ใช้ในจำแนก
1. เปรียบเทียบโครงสร้าง - เช่น ระยางค์ของสิ่งมีชีวิต
- Homologous strutrue = มีลักษณะที่มาจากแหล่งกำเนิดเหมือนกัน เช่น แขนคน กับ ปีกนก ซึ่งเป็นอวัยวะที่ยื่นออกมาจากกระดูสันหลังเหมือนกัน
- Analogous strutrue = มีลักษณะที่มาจากแหล่งกำเนิดไม่เหมือนกัน เช่น แขนคน กับ ปีกผีเสื้อ (ผีเสื้อไม่มีกระดูกสันหลัง)
2. ตัวอ่อน (Embryo) - เช่น ช่องเหงือก ที่สิ่งมีชีวิตเหลือเอาไว้
3. ซากดึกดำบรรพ์ (Fossil)
4. สรีรวิทยา - การทำงานภายใน หรือ สันฐานวิทยา - การทำงานภายนอก
5. การเปรียบเทียบกรดอะมิโน
6. หลักฐานทางสรีรวิทยา - เช่น ถ้าหากเอาเลือดสิ่งมีชีวิตสองชนิดมาผสมกัน แล้วมาทำให้ตกตะกอน หากตกตะกอนมาก ก็มีความใกล้ชิดของสิ่งมีชีวิตมาก หากตกตะกอนน้อย ก็มีความใกล้ชิดของสิ่งมีชีวิตนั้นน้อย
7. หลักฐานทางคณิตศาสตร์
การจัดหมวดหมู่
การจัดหมวดหมู่ก็คือการแยกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหลายๆ กลุ่มโดยค่อยๆ แยกออกตามความใกล้เคียงกัน และเพิ่มเงื่อนไขการแบ่งออกไปเรื่อยๆ โดยมีลำดับดังนี้
kingdom -> phylum (สัตว์) / division (พืช) -> class -> order -> family -> genus -> species
Nomenclature - การกำหนดชื่อสากลของสิ่งมีชีวิต
1. ชื่อพื้นเมือง - เรียกตามท้องถิ่น
2. ชื่อสามัญ (Common name) - เป็นชื่อในภาษาอังกฤษ
3. ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) - ชื่อสากล
เช่น ในท้องถิ่นเรียกว่าปลาช่อนอะเมซอน ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมือง
ชื่อสามัญเรียกว่า Giant Arapaima
ชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า Arapaima gigas
หลักในการตั้งชื่อสากลสิ่งมีชีวิต
ใช้การตั้งตามหลัก Binomial System ของ คาโรลัส ลินเนียส
- (ICZN) Zoological Nomenclature - หลักในการตั้งชื่อสัตว์
- (ICBN) Botanical Nomenclature - หลักในการตั้งชื่อพืช
Binomial System แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ
- ส่วนของชื่อสกุล (Genus) - Generic name
- ส่วนของชื่อสปีชีส์ (Species) - Specific name (คำคุณศัพท์, สมญา)
กฏการตั้งชื่อ
1. ชื่อพืชและสัตว์ต้องแยกกันอย่างชัดเจน
2. มีชื่อที่ถูกต้องเพียงชื่อเดียวเท่านั้น
3. เป็นภาษาลาติน (เนื่องจากว่าภาษาลาตินเป็นภาษาที่ตายแล้ว นั่นหมายถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงของคำ ทำให้มีความมั่นคงไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา)
4. การเขียนหรือพิมพ์ชื่อวิทยาศาสตร์ ต้องต่างจากตัวอื่น คือ ตัวเอน, ตัวหนา, ขีดเส้นใต้ เช่น Homo sapiens (คน)
5. จะใช้ชื่อ Genus หรือ species ซ้ำกันไม่ได้
6. ประกอบด้วยคำ 2 คำเสมอ คือ
- ในส่วนคำแรกจะเป็น ชื่อสกุล (Genus) - เป็นตัวพิมพ์ ตัวอักษรแรกเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ เป็นภาษาลาติน
- ในส่วนคำหลังจะเป็น ชื่อสปีชีส์ (Species) - เป็นตัวพิมพ์เล็กหมด เป็นภาษาลาติน เป็นคนเดียวหรือคำผสม
* หมายเหตุ * ในส่วนของชื่อสปีชีส์ ถ้าหากลงท้ายด้วย spp. หมายถึง มีอยู่หลาย species แต่ถ้าหากลงท้ายด้วย sp. หมายถึง มีอยู่ species เดียว
7. ชื่อผู้ตั้ง นำด้วยตัวใหญ่ ไว้ด้านหลัง เช่น Carirosquilla thailandensis Naiyanetr, 1992
Carirosquilla thailandensis คือ Species ของสิ่งมีชีวิต
Carirosquilla คือส่วนของ Genus
thailandensis คือส่วนของ specific epithet
Naiyanetr คือชื่อผู้ตั้ง
1992 คือปีที่ค้นพบ
หลักการตั้ง
1. ตั้งตามสถานที่พบ
2. ตั้งเป็นเกียรติให้บุคคลที่นับถือ เช่น Thaiphusa sirikit
3. ตั้งเป็นเกียรติให้คนที่พบ
4. ตั้งตามขนาดตัวอย่าง เช่น Pangasianodon gigas (ปลาบึก) (gigas = ใหญ่)
5. ตั้งตามลักษณะ เช่น Podoptamus rigil (ปู) (rigil = ยาม)

ที่มา 1. ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,สถาบัน. หนังสือแบบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ (สสวท.) เรื่อง ชีวิตและวิวัฒนาการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ.พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:คุรุสภา,2534
2. ดร.บัญชา แสนทวี ,ชวลิต เข็มพรหมมา, ดาริกา วีรวินันทนกุล, ฤทัย วันเฟื่องฟู, หนังสือเรียนสมบูรณ์แบบวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ เรื่อง ชีวิตและวิวัฒนาการ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ,วัฒนาพานิช สำราญราษฎร์.พระนคร กรุงเทพฯ 10200, พิมพ์ครั้งที่ 1. พ.ศ. 2540






















โดย : นาย ใจชาย ปัณนะพงษ์, โรงเรียนวังเหนือวิทยา, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544