ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์

ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย . 2544 . (ออนไลน์) . เข้าถึงได้จาก
http://www.dmr.go.th/Interest/Data/Hilight/TI2dinhD.htm
ซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในประเทศไทย
เมื่อไดโนเสาร์ตาย ส่วนอ่อนๆ เช่น เนื้อและหนังจะเน่าเปื่อยหลุดไป เหลือแต่ส่วนแข็ง เช่น กระดูกและฟัน ซึ่งจะถูกโคลนและทรายทับถมเอาไว้ ถ้าการทับถมของโคลนทรายเกิดขึ้นอย่าวรวดเร็วก็จะคงเรียงรายต่อกันในตำแหน่งที่มันเคยอยู่เป็นโครงร่าง แต่หากการทับถมเกิดขึ้นอย่าง ช้าๆกระดูกก็จะมีโอกาสถูกทำให้กระจัดกระจายปะปนกัน การทับถมของโคลนทรายทำให้อากาศและออกซิเจนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเติบโตของแบคทีเรียไม่สามารถเข้าถึง ซากได้ ขณะเดียวกันน้ำและโคลนที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลไซต์ เหล็กซัลไฟด์และซิลิก้าก็ค่อยๆซึมเข้าไปในเนื้อกระดูก อุดตันโพรงและช่องว่างที่มีอยู่ ทำให้กระดูกเหล่านั้นแกร่งขึ้น สามารถรับน้ำหนักของหิน ดิน ทรายที่ทับถมต่อมาภายหลังได้ นานๆเข้ากระดูกจะกลายเป็นหิน มีเพียงฟันที่ไม่ค่อยจะถูกแปรสภาพเท่าไรเนื่องจากฟันเป็นส่วนที่แข็งที่สุด บางครั้งแร่ธาตุบางอย่างเข้าไปกัดกร่อนละลายกระดูกและทิ้งลักษณะกระดูกไว้เป็นโพรง โพรงเหล่านี้จึงกลายเป็นเสมือนแม่พิมพ์และต่อมาเมื่อแร่ธาตุอื่นเข้าไปอยู่เต็มโพรงก็จะเกิดเป็นรูปหล่อ ของชิ้นกระดูก บางครั้งเมื่อไดโนเสาร์ตายใหม่ๆแล้วถูกทับถมด้วยโคลนแล้วเนื้อหนังเปื่อยเน่าเป็นโพรงก็จะเกิดรูปหล่อของรอยผิวหนังทำให้เรารู้ลักษณะของผิวหนัง ในที่บางแห่งซากไดโนเสาร์ ถูกน้ำพัดพามาทับถมอยู่ด้วยกันเกิดเป็นชั้นสะสมของกระดูกไดโนเสาร์
นอกจากฟอสซิลกระดูก ฟันและร่องรอยของผิวหนังแล้ว ไดโนเสาร์ยังทิ้งรอยเท้าไว้บนโคลน ฟอสซิลรอยเท้าเหล่านี้ทำให้ทราบ ถึงชนิด ลักษณะท่าทางของไดโนเสาร์เช่น เดิน 2 ขาหรือ 4 ขา เชื่องช้าหรือว่องไว อยู่เป็นฝูงหรืออยู่เดี่ยวๆ บางครั้งพบมูลของไดโนเสาร์กลายเป็นฟอสซิล เรียกว่า คอบโปรไลท์ ซึ่งทำให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของลำไส้ ไข่ไดโนเสาร์ที่พบเป็นฟอสซิลก็ทำให้ทราบว่าไดโนเสาร์ออกลูกเป็นไข่ บางครั้งพบตัวอ่อนอยู่ในไข่ทำให้รู้ว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ชนิดไหน นอกจากนี้ยังมีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ในลักษณะกำลังกกไข่อยู่ในรัง ทำให้รู้ว่าไดโนเสาร์บางชนิดก็ดูแลลูกอ่อนด้วย
เมื่อยุคไดโนเสาร์ผ่านไปหลายล้านปีชั้นของทรายและโคลนยังคงทับซากไดโนเสาร์ไว้จนกลายเป็นหินและถูกผนึก ไว้ในชั้นหินด้วยซีเมนต์ธรรมชาติได้แก่ โคลนทราย จนเมื่อพื้นผิวโลกมีการเคลื่อนตัว ชั้นหินบางส่วนถูกยกตัวสูงขึ้นแล้วเกิดการกัดกร่อนทำลายชั้นหินโดยความร้อนจากดวงอาทิตย์ ความเย็นจากน้ำแข็ง ฝน และลม จนกระทั่งถึงชั้นที่มีฟอสซิลอยู่ทำให้บางส่วนของฟอสซิลโผล่ออกมาเป็นร่องรอยให้นักวิทยาศาสตร์มาขุดค้นต่อไป
เนื่องจากไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก มีชีวิตอยู่ในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous หรือประมาณ 245-65 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์จึงพบอยู่ในชั้นหินตะกอนที่สะสมตัวบนบกในช่วงยุค Triassic ถึง Cretaceous หรือหินในช่วงมหายุค Mesozoic จากการสำรวจธรณีวิทยาในประเทศไทย พบว่าหินที่มีอายุดังกล่าวพบโผล่อยู่ทั่วไปในบริเวณที่ราบสูงโคราชและพบเป็นแห่งๆในภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย ชั้นหินดังกล่าวประกอบด้วย หินดินดาน หินทรายแป้ง หินทรายและ หินกรวดมนมีสีน้ำตาลแดงเป็นส่วนใหญ่ ตอนบนของหินชุดนี้มีชั้นของเกลือหินและยิปซั่มอยู่ด้วย เนื่องจากชั้นหินเหล่านี้มีสีแดงเกือบทั้งหมดจึงเรียกหินชุดนี้ว่า ชั้นหินตะกอนแดง(red bed) ซึ่ง เรารู้จักกันในชื่อ กลุ่มหินโคราช หินกลุ่มนี้มีความหนากว่า 4,000 เมตร ดังนั้นจึงพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์และสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆอยู่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากมายหลาย แห่ง เช่น ภูเวียง ภูพาน และภูหลวงเป็นต้น
การค้นหาฟอสซิลของไดโนเสาร์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นในทศวรรษที่ผ่านมานี้เองโดยโครงการศึกษาวิจัยฟอสซิลของสัตว์ มีกระดูกสันหลังในประเทศไทย กรมทรัพยากรธรณี ก่อนหน้านี้มีรายงานการวิจัยฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลังน้อยมาก ในปีพ.ศ.2519 กรมทรัพยากรธรณีได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ จากภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแต่ผลการวิจัยขณะนั้นทราบเพียงว่าเป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด พวกกินพืช เดิน 4 เท้า คอยาว หางยาว มีความยาวประมาณ 15 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นรายงานการ ค้นพบไดโนเสาร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาในปีพ.ศ.2524 และ2525ได้มีการสำรวจที่บริเวณภูเวียงอีกทำให้พบกระดูกส่วนต่างๆของไดโนเสาร์และสัตว์อื่นๆเป็นจำนวนมากอยู่ในชั้นหิน จึง นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการค้นหาฟอสซิลไดโนเสาร์อย่างจริงจัง



โดย : นาย ปริญญา หงษ์ทอง, Rhajabhat Institue Petchburiwittayalongkorn phahonyothin Road,Kw 48 Klong Luang, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545