...ค้างคาว...


เอ่ยชื่อ"นกมีหู หนูมีปีก" คนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงคนเฒ่าคนแก่รู้ดีว่าเป็นสมญานามของ"ค้างคาว" สัตว์ซึ่งหากินกลางคืนชนิดหนึ่ง และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่สามารถบินได้เหมือนนกหรือบางทีอาจจะดีกว่านกบางชนิดเสียอีก



แต่การที่ค้างคาวออกหากินเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลับใหล ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เรารู้เรื่องเกี่ยวกับค้างคาวน้อย ทั้งรูปร่างลักษณะของมันที่ค่อนข้างแปลกประหลาด จึงทำให้ผู้คนหลายๆคนที่หวาดกลัวค้างคาวจนถึงกับสร้างนิยายเรื่องน่ากลัวของค้างคาวออกมาทั้งในรูปความเชื่อพื้นบ้านและนวนิยาย โดยที่หารู้ไม่ว่าค้างคาวมีประโยชน์ต่อมนุษย์มหาศาล
สำหรับในประเทศไทย มีผู้ให้ความสนใจและศึกษาค้างคาวกันไม่มาก ที่จัดว่าโดดเด่นก็คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล และ คุณกิตติ ทองลงยา ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่ จากนั้นการศึกษาเรื่องค้างคาวก็ได้ขาดช่วงไประยะหนึ่ง
ในจำนวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในเมืองไทย 280 ชนิดนั้น 107 ชนิดเป็นค้างคาว ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 38 นอกจากนี้ประเทศไทยยังพบค้างคาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกคือ ค้างคาวกิตติ ซึ่งมีน้ำหนักแค่ 2 กรัมเท่านั้นและยังมีค้างคาวที่ใหญ่สุดในโลกด้วยนั่นคือ ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน ซึ่งมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ค้างคาวเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศน์มากสัตว์หนึ่ง ค้างคาวกินแมลงสามารถกินแมลงได้ราว 500-1,000 ตัวในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนค้างคาวกินผลไม้ก็มีส่วนช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ของพืชหลายชนิดที่บานในเวลากลางคืน และค้างคาวจะกินเฉพาะผลไม้ที่สุกงอมจัดเท่านั้น มิได้ทำลายพืชผลชองชาวสวนแต่อย่างใด
ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง เขตอนุรักษ์ที่ดีที่สุดในเมืองไทย พบว่ามีค้างคาวอยู่อย่างน้อย 60 ชนิด ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดค้างคาวในไทย และคิดเป็นร้อยละ 6 ของพันธุ์ค้างคาวทั่วโลก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค้างคาวลดลงก็คือ การทำลายที่อยู่อาศัย ทั้งการระเบิดหินที่มีถ้ำอยู่ และการทำลายป่าไม้ การล่าค้างคาวเพื่อนำมาเป็นอาหาร รวมทั้งการรบกวนแบบต่างๆ แต่ที่น่าวิตกมากในปัจจุบันก็คือ สารพิษตกค้างจากการเกษตรได้ทำลายค้างคาว โดยเฉพาะพวกที่กินแมลงไปเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้กรมป่าไม้ต้องขึ้นบัญชีค้างคาวทุกชนิดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า



โดย : นาย ณวัฒน์ วงศ์วัฒนกิจ, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544