เซลล์


เซลล์และโครงสร้างของเซลล์
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็ประกอบด้วยเซลล์ ( CELL ) ซึ่งเป็น หน่วยที่เล็กที่สุด ที่สามารถแสดงคุณสมบัติและความเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ คุณทราบหรือไม่ว่า
นักวิทยาศาสตร์คนใดที่ค้นพบหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต และเรียกหน่วยเล็กๆนั้นว่า เซลล์ ( CELL )
โรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke ) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเอง ไปทดลองส่องดูชิ้นไม้คอร์กที่เฉือนเป็นชิ้นบางๆพบว่ามีลักษณะเป็นช่องเล็กๆจำนวนมากเขาเรียกช่องเล็กๆนี้ว่า เซลล์ ( CELL )
เขาจึงเป็นคนที่ใช้คำว่าเซลล์ซึ่งแปลว่าห้องเล็กๆเป็นคนแรก เมื่อปี ค.ศ. 1665
เซลล์ของพืชแต่ละชนิดจะมีรูปร่างแตกต่างกันแต่โดยทั่วๆไปเซลล์ของพืชจะมีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนเซลล์สัตว์จะมีรูปร่างแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหน้าที่ของเซลล์นั้นๆ ส่วนใหญ่จะมีรูปร่างกลมหรือรี ภายในเซลล์แต่ละเซลล์จะประกอบด้วยส่วนประกอบคล้ายๆกัน เราจะเข้าไปทำศึกษาทีละส่วนกันเลยนะ
ส่วนประกอบของเซลล์
1. ผนังเซลล์ ( Cell Wall ) เป็นส่วนประกอบชั้นนอกสุดของเซลล์พืช และเป็นส่วนที่ไม่มีชีวิต ประกอบด้วยสารหลายชนิดเช่น เซลลูโลส,คิวติน,เพกติน ลิกนิน ,ซูเบอริน ผนังเซลล์มีลักษณะเป็นรูพรุน ทำหน้าที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เซลล์ ทำให้เซลล์
คงรูปร่างได้ ผนังเซลล์มีสมบัติยอมให้สารแทบทุกชนิด ผ่านเข้าออกได้และมีเฉพาะในเซลล์พืชเท่านั้น
2. เยื่อหุ้มเซลล์ ( Cell membrane หรือ plasma membrane ) มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ประกอบด้วยสารไขมันและโปรตีน เยื่อหุ้มเซลล์มีรูเล็ก ๆ ทำให้สามารถจำกัดขนาดของโมเลกุลของสารที่จะผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ ดังนั้นเยื่อหุ้มเซลล์จึงมีสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน หรือเซมิเพอเมียเบิลเมมเบรน ( Semipermeable membrane )
เยื่อหุ้มเซลล์มีหน้าที่
1. ห่อหุ้มส่วนประกอบภายในเซลล์ให้คงรูป อยู่ได้
2. ควบคุมปริมาณและชนิดของสารที่ผ่านเข้าและออกจากเซลล์ทำให้ปริมาณของสารต่าง ๆ ภายใน เซลล์พอเหมาะ
3. เป็นตำแหน่งที่มีการติดต่อระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
3. โปรโทพลาซึม (protoplasm ) คือส่วนที่อยู่ภายในเยื่อหุ้มเซลล์ทั้งหมด ประกอบด้วยไซโทพลาซึมและนิวเคลียส
3.1 ไซโทพลาซึม ( Cytoplasm )
มีลักษณะเป็นของเหลว ประกอบด้วยสารที่สำคัญปนอยู่คือ โปรตีน ไขมัน
คาร์โบไฮเดรต และเกลือแร่ต่าง ๆ รวมทั้งของเสียที่เกิดขึ้น ไซโทพลาซึมเป็นศูนย์กลางการทำงานของเซลล์ เกี่ยวกับเมตาโบลิซึม ทั้งกระบวนการสร้างและสลายอินทรียสาร
ไซโทพลาซึมประกอบด้วยส่วนประกอบภายในที่อาจเรียกว่าอวัยวะของเซลล์ ( organelle )
มีหน้าที่แตกต่างกันที่สำคัญได้แก่
1. ร่างแหเอนโดพลาซึมหรือเอนโดพลาสมิกเรติคูลัม ( endoplasmic reticulum )
มีทั้งชนิดเรียบและชนิดขรุขระ ทำหน้าที่ขนส่งสารภายในเซลล์
2. ไรโบโซม ( ribosome ) เป็นแหล่งสังเคราะห์โปรตีน
3. กอลจิคอมเพลกซ์ ( golgi complex หรือ golgi bodies หรือ golgi apparatus)
เป็นที่สะสมโปรตีนเพื่อส่งออกนอกเซลล์
4. ไมโทคอนเดรีย ( mitochondria ) มีหน้าที่เผาผลาญอาหารเพื่อสร้างพลังงานให้แก่เซลล์
5. คลอโรพลาสต์ ( chloroplast ) พบเฉพาะในเซลล์พืช มีหน้าที่ดูดพลังงานแสงเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ( กระบวนการสร้างอาหารของพืช )
6. เซนตริโอ ( centriole ) พบเฉพาะในเซลล์สัตว์เท่านั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับการแบ่งเซลล์
7. ไลโซโซม ( lysosome ) เป็นหน่วยกำจัดของเสีย มีลักษณะเป็นถุงบรรจุน้ำย่อย มีหน้าที่ย่อยสารและสิ่งที่เซลล์ไม่ต้องการ
8. แวคิวโอ ( vacuole ) มีขนาดใหญ่มากในเซลล์พืช เป็นที่สะสมสารต่างๆ มีน้ำ
เป็นส่วนใหญ่ เรียกเซลล์แซพ ( cell sap ) มีเกลือ, น้ำตาลและสารเคมีอื่นๆละลายอยู่ภายใน
3.2. นิวเคลียส ( Nucleus )
นิวเคลียส มีลักษณะค่อนข้างกลม เป็นโครงสร้างของเซลล์ที่เห็นชัดอยู่ตรงกลางเซลล์ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุม กิจกรรมต่างๆภายในเซลล์ถูกควบคุมโดยคำสั่งจากนิวเคลียส
มีส่วนประกอบคือ
1. เยื่อหุ้มนิวเคลียส ( nuclear membrane)
2. นิวคลีโอพลาซึม ( nucleoplasm ) คือส่วนที่อยู่ภายในเยื่อหุ้มนิวเคลียส ประกอบด้วย
- นิวคลิโอลัส ( Nucleolus ) เป็นแหล่งสังเคราะห์และรวบรวม
กรดไรโบนิวคลีอิค ( ribonucleic acid ) เรียกย่อว่า RNA ทำหน้าที่นำคำสั่งจากนิวเคลียสไปยังเซลล์ส่วนอื่นๆ และสร้างไรโบโซมเพื่อไปทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีน
- โครมาติน ( Chromatin ) คือร่างแหโครโมโซม
โครโมโซมประกอบด้วย DNA ( Deoxyribo nucleic acid ) หรือจีน ( Gene ) และโปรตีนหลายชนิด จีนเป็นตัวควบคุมการแสดงออกของลักษณะต่างๆในสิ่งมีชีวิตเป็นตัวถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม จากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลาน
หน้าที่ของนิวเคลียส
 เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของเซลล์
 เป็นแหล่งสังเคราะห์ DNA และ RNA
 ควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนภายในเซลล์
 ควบคุมการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากบรรพบุรุษไปสู่ลูกหลาน
ที่มา ( รูปเซลล์ ) หนังสือชุดขุมทรัพย์โลกวิทยาศาสตร์ ชุดโลกพืช



โดย : นาง สมพิศ เจือเพชร, รร.ศรีพฤฒา 100/600 แขวงสะพานสูง กรุงเทพ 10250, วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545