เก้งหม้อ

เก้งหม้อ
Muntiacus feai
มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับเก้งธรรมดา ขนาดลำตัวไล่เลี่ยกัน เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม แต่เก้งหม้อจะมีสีลำตัวคล้ำกว่าเก้งธรรมดา ด้านหลังสีออกน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีน้ำตาลแซมขาว ขาส่วนที่อยู่เหนือกีบจะมีสีดำ ด้านหน้าของขาหลังมีแถบขาวเห็นได้ชัดเจน บนหน้าผากจะมีเส้นดำพาดอยู่ด้านในระหว่างเขา หางสั้นด้านบนสีดำตัดกับสีขาวด้านล่างชัดเจน ชอบอาศัยอยู่เดี่ยวในป่าดงดิบตามลาดเขา จะอยู่เป็นคู่เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น ออกหากินเวลากลางวันมากกว่าเวลากลางคืน อาหารได้แก่ ใบไม้ ใบหญ้า และผลไม้ป่า ออกลูกครั้งละ 1 ตัว เวลาตั้งท้องนาน 6 เดือน ชอบอยู่ตามลาดเขาในป่าดงดิบและหุบเขาในป่าหนาทึบและมีลำธารไหลผ่าน มีเขตแพร่กระจายอยู่ในบริเวณตั้งแต่พม่าลงตอนใต้ลงไปจนถึงภาคใต้ตอนบนของประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบในบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปจนถึงเทือกเขาภูเก็ต ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงในจังหวัดระนอง สุราษฎร์ธานี และพังงา ในปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์ที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์หมดไปจากประเทศเนื่องจากที่อยู่อาศัยถูกทำลายหมดไปเพราะการตัดไม้ทำลายป่า และการล่าเป็นอาหาร เพราะเนื้อเป็นที่นิยมรับประทานกันมาก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2540.




โดย : นางสาว yaowaret chaleekron, ripw klong luang patumtani 13180, วันที่ 24 มีนาคม 2545