นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
(White-eyed River Martin)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudochelidon sirintarae Thongya , 1968
วงศ์ HIRUNDINIDAE

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือเรียกันสั้นๆว่า นกเจ้าฟ้านั้น จัดเป็นนกชนิดใหม่ของโลก พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2511 โดยคุณกิตติ ทองลงยา นักสัตววิทยาจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นนกที่หายากมาก และเป็นนกที่พบเฉพาะแหล่ง (Endemic Species) คือพบที่บึงบอนะเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
นกเจ้าฟ้าที่พบใหม่นี้ มีลักษณะคล้าย นกนางแอ่น ทั่วๆไป มีลำตัวยาวประมาณ 15 ซม. ตัวสีดำเหลือบเขียวอมฟ้า ขอบตาเป็นวงสีขาว นัยน์ตาและม่านตาขาวอมชมพูเรื่อๆ สะโพกขาว หางสั้นกลมมน นกที่โตเต็มวัยจะมีขนหางคู่กลางยื่นยาวออกมาประมาณ 10 ซม. มีลักษณะคล้ายบ่วงแต่ปลายบ่วงเล็กมาก
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของนกนางแอ่น เพราะนกเจ้าฟ้าซึ่งถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ย่อยนกนางแอ่นเทียม (PSEUDOCHELIDONINAE) นั้น มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด กับนกนางแอ่นเทียมคองโก (Pseudochelidon eurystomina) ซึ่งเป็นนกอีกเพียงชนิดเดียวที่ถูกจัดรวมอยู่ในวงศ์ย่อยนี้เป็นนกที่พบได้ตามลำธารในประเทศซาอีร์ ในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก ซึ่งแหล่งที่พบนกทั้งสองชนิดนี้มีระยะทางห่างกันถึง 10000 กิโลเมตร

เนื่องจากนกเจ้าฟ้าที่พบมีประชากรน้อยมาก หลังจากคุณกิตติ ฯ ได้พบนกชนิดนี้แล้ว มีผู้คาดว่าเขาได้เห็นนกเจ้าฟ้าอีกเพียงสองครั้งเท่านั้น คือในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 และ เดือนมกราคม 2523 ครั้งละ 2-4 ตัว โอกาสที่จะพบนกสองชนิดนี้อีกครั้งจึงน้อยมาก ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2539 นักปักษีวิทยาของไทยจึงได้จัดให้นกเจ้าฟ้าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
---------------------------------------------------------------------------------------------
แห่งข้อมูล : สถานีวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม







โดย : นางสาว ณิชา โตวรรณเกษม, โรงเรียน ภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 17 พฤศจิกายน 2544