โรคกระดูกพรุน


โรคกระดูกพรุน หรือ โรคกระดูกโปร่งบาง คือภาวะที่เนื้อกระดูกลดลง และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ภายในของกระดูก ส่งผลให้กระดูกบางลง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น
ในวัยเด็กปริมาณเนื้อกระดูกจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจนสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 30-35 ปี หลังจากนั้นเนื้อกระดูกจะ ลดลงอย่างช้า ๆ แต่ใน ผู้หญิง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2 - 3 เท่า
ดังนั้นจะเห็นว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเป็น โรคกระดูกพรุน แต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะมีโอกาสเป็นโรคมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง และ ถ้ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างก็มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้นอีก
ปัจจัยเสี่ยง
1. ผู้หญิงหลังจากหมดประจำเดือน สาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจาก ภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
2. การกินอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน เช่น กินอาหารที่มีโปรตีนสูง ( เนื้อสัตว์ )หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ( รสเค็ม ) แต่กินอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย ดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวัน
3. กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีคนในครอบครัว เป็นโรคกระดูกพรุน ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
4. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา
5. ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก
6. น้ำหนักตัว คนผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่มีรูปร่างอ้วน เนื่องจากคนอ้วนมีไขมันมากซึ่งไขมันนี้สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้
7. เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคขาดวิตามินดี โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็งบางชนิด
8. ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะซึ่งมักใช้ในโรคความดันโลหิตสูง
9. ผู้สูงอายุ สาเหตุสำคัญเชื่อว่าเกิดจากอายุที่ เพิ่มขึ้นและการขาดแคลเซี่ยมเป็นเวลานาน เช่น อาการที่พบกระดูกหัก ได้บ่อยคือบริเวณ กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และ กระดูกสันหลัง
แนวทางรักษา
ปัจจุบันรักษาโดยใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน ได้แก่
1. การออกกำลังกาย ซึ่งต้องมีการแบกรับน้ำหนักขณะออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง การเดิน การยกน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มเนื้อของกระดูกในบริเวณที่รับน้ำหนักได้
2. ขจัดปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก เช่น การดื่มสุรา ดื่มกาแฟ ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น
3. การรักษาด้วยยา
3.1 ยาที่มีฤทธิ์ลดการทำลายกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนิน แคลเซี่ยม
3.2 ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น วิตามินดี ฟลูออไรด์
ต้องได้รับฮอร์โมนภายใน 3 - 5 ปี หลังเริ่มหมดประจำเดือน เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5 - 6 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรคกระดูกพรุน
ปริมาณแคลเซี่ยมที่ควรจะได้รับในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกัน โดย
วัยเด็กและวัยรุ่นต้องการแคลเซี่ยมประมาณ 800-1,200 มก.ต่อวัน
ผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรต้องการประมาณ 1,500-2,000 มก.ต่อวัน
ผู้หญิงช่วงหมดประจำเดือนต้องการประมาณ 1,500 มก.ต่อวัน
ผู้สูงอายุต้องการประมาณ 1,000 มก.ต่อวัน
อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น น้ำนม กุ้งแห้ง กะปิ ผักใบเขียว ปลาเล็กปลาน้อยที่กินได้ทั้งตัว เต้าหู้เหลือง อาหารจานเดียวเช่นข้าวขาหมู ข้าวหมูแดง ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้วใส่ไข่ ข้าวราดไก่ผัดกระเพรา ขนมจีนน้ำยา
ปัจจัยอื่น ๆ ในอาหารที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์มากเกินไปจะเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด ทำให้มีการดึงแคลเซี่ยมออกจากกระดูกมากขึ้น แคลเซี่ยมจากพืชจะถูกดูดซึมได้น้อยกว่าแคลเซี่ยมที่ได้รับจากสัตว์
วิตามินดีจะช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมจากลำไส้โดยสร้างจากผิวหนังที่ถูกแสงแดด ในคนไทยไม่จำเป็นต้องได้รับวิตามินดีเพิ่ม ถ้าได้รับแสงแดดในช่วงเช้าและเย็น อย่างสม่ำเสมอและนานเพียงพอ ซึ่งจะทำให้ระดับวิตามินดีในเลือดพอเพียงและไม่ลดลงเมื่ออายุมากขึ้น



โดย : นาย ยงยุทธ ศรีพิบูลบรรเจิด, ร.ร ยานนาเวศวิทยาคม, วันที่ 19 เมษายน 2545