ทองหลางใบมนด่าง

ทองหลางใบมนด่าง อยู่ในวงศ์ PAPILIONEAE เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ลักษณะเหมือนทองหลางใบมนทุกอย่าง ต้นมีหนามแหลมสั้น ใบจะแตกต่างคือ มีเส้นกระดูกใบและเส้นแขนงใบเป็นสีเหลืองทอง จึงเรียก “ทองหลางใบมนด่าง” เป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ออกเรียงสลับ เป็นรูปไข่กว้าง เวลามีใบดกจะสวยงามน่าชมยิ่ง
ดอก เป็น สีแดง หรือ สีส้มอมแดง ออกเป็นช่อกระจะหรือแยกแขนงช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ลักษณะดอกเป็นรูปดอกถั่ว เวลามีดอกดกเต็มต้น จะสร้างสีสันสวยงามมาก ในต่างจังหวัดนิยมปลูกแพร่หลายมานานแล้ว เพราะถือเป็นไม้มงคลสำหรับคนเกิดวันพฤหัสบดี “ผล” เป็นฝักรูปทรงกระบอกยาว โค้งเล็กน้อย สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก ดอกออกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง มีชื่อเรียกอีกคือ ทองหลางด่าง (กทม.) และทองเผือก (พายัพ)
สรรพคุณของทองหลางสามารถนำมาทำเป็นยาได้ คือ ใบ เป็นยาขับไส้เดือน แก้ริดสีดวง แก้ลม ดอกจะขับโลหิตระดู ผลบำรุงน้ำดี เปลือกแก้เสมหะ แก้ลมและนิ่วให้ออก กระพี้แก้พิษฝี แก่นแก้ฝีในท้อง รากแก้พิษทั้งปวง แพทย์ตามชนบทใช้เปลือก ต้มเป็นยาตัดลมทั้งปวง ใบคั่วให้เกรียมเป็นยาตัดพิษ ใบแก่สด ๆ ใช้รมควันไต้ให้ตายนึ่งแล้วชุบน้ำสุราปิดแผล และเนื้อร้ายที่ลามบวมใกล้แตก ใบทองหลางที่ปิดจะดูดหนองให้ไหลออกจนยุบแห้งดี น้ำคั้นจากใบทองหลาง ใช้หยอดยา แก้ตาแดง ตาแฉะดับพิษได้ด้วย ซึ่งบางจังหวัดใช้เปลือกแก้ดีพิการ ตัดไข้แก้บวมดีนัก ภาคอีสานใช้เปลือกต้นห่อด้วยใบพลับพลึงทำลูกประคบแก้บวมได้เด็ดขาดจริง ๆ

ไทยรัฐรายวัน. ปีที่ 53 ฉบับที่ 16166 วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2545, หน้า 7.



โดย : นางสาว supaluk amonwattana, ripw klongluang patumtanee 13180, วันที่ 26 เมษายน 2545