โลมาหัวขวด โลมาปากหลอด

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์น้ำเลี้ยงลูกด้วยนม ที่อาศัยอยู่ในทะเล นักสัตวศาสตร์ได้จำแนกโลมาไว้ในพวกเดียวกับช้าง วัว และสัตว์สี่เท้าอื่น ๆ ที่โดยมากอยู่บนบก เข่นเดียวกับนาก แมวน้ำและช้างน้ำ ซึ่งแต่เดิมหากินบนบก ครั้นสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม อาจจะเป็นเพราะขาดแคลนอาหาร ร้อนเกินไป หรือมีศัตรูมาก จึงแยกทางลงมาหากินในน้ำ จึงทำให้ร่างกายของมันจำเป็นต้องมีวิวัฒนาการจนคล้ายปลาเพื่อว่ายน้ำได้ดีขึ้น เร็วขึ้น หลักฐานสำคัญที่แสดงว่าโลมาเป็นสัตว์บกมาก่อน อยู่ที่โครงกระดูก ซึ่งมีเค้าโครงกระดูกนิ้วที่ขาคู่หน้า และชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ของขาคู่หลัง นอกจากนี้ ก็มีปอดหายใจ และมีระดับองศาอุณหภูมิของเลือดเช่นเดียวกับสัตว์เลือดอุ่น ออกลูกคราวละ 1 ตัว และเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจากเต้านมที่หน้าท้อง โลมามีรูปร่างคล้ายกับปลาวาฬผิดกันที่ส่วนของหัว โลมามีปากแหลมยื่นออกมาเป็นจะงอยยาว มีฟันเป็นเขี้ยวแหลมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองช้าง ครีบหลังเป็นรูปสามเหลี่ยม มีครีบคู่หนึ่งคู่อยู่บริเวณอก หางผิดกับหางปลาคือ แผ่กว้างออกสองข้าง แพนหางทอดขนานกับพื้นราบ ตัวสีเทาหรือขาวนวล นัยน์ตาสีดำ ครีบตรงอกสีชมพู ถิ่นอาศัย พบทั่วไปในอ่าวไทย ในปัจจุบันมีไม่มากนัก อาหาร กินปลาแทบทุกชนิด ขนาด ความยาวประมาณ 1.2 – 3.0 เมตร ประโยชน์ เนื้อโลมาใช้ปรุงอาหารได้ ขาวทะเลเชื่อถือว่า ถ้าพบปลาโลมาจะประสบโชคดี คลื่นลมสงบราบรื่น และจะจับปลาได้มาก

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2535.



โดย : นางสาว จุฑาวรรณ เกตุมณี, ripw.klongluang pathumthani 13180, วันที่ 27 เมษายน 2545