ออกแบบลายผ้า


โครงงานคณิตศาสตร์ เรื่อง การออกแบบลายผ้าจากกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ
ความเป็นมา
โครงงานนี้จัดทำขึ้นเนื่องจากการเรียนเรื่องฟังก์ชันตรีโกณมิติ นักเรียนบางคนอาจไม่เข้าใจว่าแต่ละฟังก์ชันมีกราฟอย่างใด จึงเป็นเหตุให้ทางผู้จัดทำคิดที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อทางคณะผู้จัดทำเองและ ผู้สนใจโดยทั่วไป โดยทางผู้จัดทำได้เขียนกราฟของฟังก์ชันไซน์ ฟังก์ชันโคไซน์ ในการออกแบบครั้งนี้ทางผู้จัดทำได้ออกแบบไว้หลายลาย และได้เลือกมาเป็นเพียงบางลายเท่านั้นในการนำมาติดในชิ้นงาน
จุดประสงค์
1. เพื่อเป็นการนำความรู้เรื่องกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติมาประยุกต์
2. ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของนักเรียน
3. เพื่อนำแบบที่ได้จากการออกแบบมาทอเป็นลายผ้าหรือลายเสื่อได้
เนื้อหาคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ จุดตัด และพิกัด
วัสดุอุปกรณ์
ปากกาสีต่าง ๆ กระดาษกราฟ ผ้าปักครอสติส เข็ม ไหม อุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ




วิธีการดำเนินงาน ให้แต่ละคนออกแบบลายโดยใช้กราฟของฟังก์ชันไซน์ และฟังก์ชันโคไซน์ แล้วนำผลงานมาเสนอ ในที่ประชุมมีมติให้ออกแบบเป็นลายผ้า และให้ใช้ความรู้เกี่ยวกับกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติที่อยู่ในรูป y = k f (ax + b) + c ในที่นี้ใช้กราฟของ y = k sin (ax + b) + c และ y = k cos (ax + b) + c โดยนำลายพื้นฐานที่เขียนกราฟได้นั้นมาประยุกต์คนละหนึ่งลาย สมาชิกทุกคนนำลายของตัวเองมานำเสนอและแลกกันตรวจชิ้นงาน โดยที่เพื่อน ๆ สมาชิกได้ช่วยดัดแปลงแก้ไขเพื่อให้ชิ้นงานออกมาดูดีที่สุด และกำหนดสีลงไปในชิ้นงานเพื่อให้เกิดความสวยงามเหมือนกับของจริงมากที่สุด
สรุปผล
กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกราฟของฟังก์ชันไซน์และฟังก์ชันโคไซน์ สามารถออกแบบลายและปรับปรุงลายให้เหมาะสม เกิดความสวยงามเพื่อนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้า เสื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ลายที่ได้ทำขึ้นมานั้นเราสามารถนำมาประกอบอาชีพ และยังถือว่าเป็นการสนับสนุนโครงการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้อีกด้วย
ข้อเสนอแนะ
งานนี้เป็นงานที่ละเอียดจึงควรใช้ความประณีตและใจเย็น ๆ ควรนำกราฟของฟังก์ชันอื่น ๆ เขียนเพิ่มและดัดแปลงให้มากขึ้นกว่านี้เพื่อที่จะได้ลายที่แปลก ๆ


จากการประกวดโครงงานคณิตศาสตร์ โรงเรียนปทุมวิไล ระดับชั้น ม. 4 ปีการศึกษา 2544




โดย : นาง รสริน แสงศิริ, รร.ปทุมวิไล, วันที่ 22 พฤษภาคม 2545