การแยกสารเนื้อเดียว


การแยกสารเนื้อเดียวออกจากกันมีหลายวิธี เช่น
1. การระเหยจนแห้ง ใช้ในกรณีที่ตัวถูกละลายเป็นของแข็งและตัวทำละลายเป็นของเหลว หรือของแข็งละลายในของเหลว เช่น เมื่อนำเกลือแกงซึ่งเป็นของแข็งมาละลายในน้ำจะได้ของผสมเนื้อเดียวกัน เรียกว่า สารละลายเกลือแกง ในกรณีที่เราต้องการแยกเกลือแกงและน้ำออกจากสาระลายเกลือแกงทำได้โดยการนำสารดังกล่าวมาให้ความร้อน เพื่อระเหยตัวละลาย ในที่นี้คือน้ำออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ในภาชนะคือตัวถูกละลาย ที่เป็นของแข็งในที่นี้คือ เกลือแกง
2. โครมาโตกราฟี (Chromatography) เป็นเทคนิคการแยกสารเนื้อเดียวออกจากกันให้เป็นสารบริสุทธิ์ โดยอาศัยหลักการที่ว่า "สารแต่ละชนิดมีความสามารถในการละลายต่างกัน และถูกดูดซับต่างกัน จึงทำให้สารแต่ละชนิดแยกออกจากกันได้" ดังนั้นการแยกสารด้วยเทคนิคโครมาโตกราฟี จึงต้องอาศัยสมบัติของสารดังนี้
2.1 สารต่างชนิดกันมีความสามารถในการละลายในตัวทำละลายชนิดเดียวกันได้ดี ไม่เท่ากัน สารที่ละลายได้ดีจะเคลื่อนที่ไปได้เร็ว
2.2 สารต่างชนิดกันถูกดูดซับโดยตัวดูดซับได้ดีไม่เท่ากันสารที่ถูกดูดซับได้ดีจะเคลื่อนที่ได้ช้า
2.3 สารที่ละลายในตัวทำละลายได้ดี และถูกดูดซับน้อยจะเคลื่อนที่ได้เร็วไปได้ไกล
2.4 สารที่ละลายในตัวทำละลายได้น้อยและถูกดูดซับมากจะเคลื่อนที่ช้าไปได้ไม่ไกล
ประโยชน์ของโครมาโตกราฟี
1. ใช้ในการแยกสารเนื้อเดียวที่มีส่วนผสมหลาย ๆ ชนิด ให้ได้เป็นสารบริสุทธิ์
2. ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณและชนิดของสาร
3. ใช้ทดสอบหรือแยกสารตัวอย่างที่มีปริมาณน้อย ๆ ได้
4. ใช้แยกสารได้ทั้งสารที่มีสีและไม่มีสี
3. การกลั่น เป็นกระบวนการที่ทำให้ของเหลวได้รับความร้อนจนกลายเป็นไอ ทำให้แยกตัวทำละลายและตัวถูกละลายที่ต่างก็เป็นของเหลวออกจากกันได้โโยอาศัยความแตกต่างกันของจุดเดือด การกลั่นจะใช้ได้ผลต่อเมื่อตัวทำละลายและตัวถูกละลายเดือดที่อุณหภูมิต่างกันค่อนข้างมาก(ต่างกันอย่างน้อย 20 ๐C) เช่น การแยกน้ำจากน้ำทะเล การแยกน้ำจากน้ำคลอง การแยกน้ำจากน้ำเกลือ หรือน้ำเชื่อม เป็นต้น
4. การตกผลึก เป็นกระบวนการแยกของแข็งที่ละลายในตัวทำละลายที่เป็นของเหลว โดยทำให้สารละลายอิ่มตัวที่อุณหภูมิสูง แล้วปล่อยให้สารละลายเย็นลง ของแข็งจะตกผลึกออกมา



โดย : นาง กมลทิน พรมประไพ, ร.ร.อุตรดิตถ์ดรุณี, วันที่ 9 มิถุนายน 2545