การปรุงแต่งสารพลาสติก


พอลิเมอร์ชนิดเดียวกันสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะ และสมบัติต่างๆกันได้ เช่น พอลิโพรพิลีนสามารถนำไปทำถุงพลาสติกใสและนิ่มเพื่อใส่อาหารร้อน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทำกระเป๋าเดินทางซึ่งหนาทึบและแข็งได้ พอลิเอทิลีนที่ใช้ทำถุงใส่ของก็จะมีสมบัติต่างจากพอลิเอทิลีนที่ใช้ทำถังน้ำ สมบัติที่ต่างกันนี้เกิดจากการใส่สารปรุงแต่งต่าง ๆลงไปในพอลิเมอร์ เพื่อปรับคุณภาพให้ได้ลักษณะตามต้องการที่จะนำไปใช้งาน
สารปรุงแต่ง หมายถึง สารเคมีที่เติมเข้าไปเพื่อให้ได้พอลิเมอร์ที่มีสมบัติตามความต้องการ หรือ ตรงกับลักษณะของงานที่ต้องการใช้ ได้แก่
1. พลาสติไซเซอร์ เติมลงไปเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่พลาสติก เช่น การบูร สไตรีน เมทิลเมธาคริเลต เป็นต้น พลาสติกที่แข็ง เปราะ สามารถทำให้อ่อน เหนียว และเพิ่มสภาพยืดหยุ่นได้โดยเติมพลาสติไซเซอร์ พลาสติกที่ได้จากกระบวนการนี้จะเรียกว่า พลาสติกพลาสติไซส์ เช่น พอลิไวนิลคลอไรด์ หรือพีวีซี ที่เราใช้กันอยู่ในขณะนี้ล้วนเป็นพีวีซีพลาสติไซส์ทั้งสิ้น
2. สารปรุงแต่งน้ำหนักและความแข็ง เป็นสารที่เติมลงไปเพื่อให้พลาสติกมีความหนา-แน่นเพิ่มขึ้น ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลง และเพิ่มความแข็งแรงให้กับพลาสติก ทำให้พลาสติกมีความทนทานต่อการขูดขีด โดยมากสารนี้มีลักษณะเป็นผงละเอียด เช่น ผงคาร์บอน แบเรียมซัลเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต ดินขาว แป้ง ดินเหนียวบางชนิด เป็นต้น
3. สารสี เป็นสารที่เติมลงไปเพื่อปรับให้พลาสติกมีสีตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่กำหนดตามประเภทของการใช้งาน
4. สารเสริมแรง เป็นสารที่เติมลงไปเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์แข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน โดยใช้เส้นใยบางชนิด เช่น กระดาษ ผ้า ใยแก้ว ทำเป็นโครงให้พอลิเมอร์ที่ร้อนจนหลอมเหลวมาหุ้มหรือเคลือบ เมื่อแข็งจะได้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่แข็งแรง เช่น กระเบื้องยาง ไฟเบอร์กลาส หนังเทียม เป็นต้น
5. สารหล่อลื่น เป็นสารที่เติมลงไปเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างโมเลกุลของพลาสติก ทำให้พลาสติกเหลว ไหลได้ง่าย ลดแรงเสียดทานระหว่างพลาสติกกับเครื่องจักรทำให้ผลิตได้ง่ายขึ้น



โดย : นาง บุศยรัตน์ พันธ์เครือบุตร, โรงเรียนวัดป่าประดู่, วันที่ 22 มิถุนายน 2545