ผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว
การป้องกันโรคของผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว

เชื้อโรคที่แอบแฝงอยู่ในผลไม้เป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของการสูญเสียภายหลังการเก็บเกี่ยวของผลไม้เมืองร้อน โรคเน่าที่สำคัญ เช่น โรคแอนแทรกโนส และโรคขั้วเน่า ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อรา Collectotrichum sp. และ Botryodiplodia sp. ตามลำดับ เชื้อราดังกล่าวสามารถทำลายผลไม้ได้หลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง และมะละกอ โดยที่เชื้อราจะเข้าไปฟักตัวแฝงอยู่ในผลไม้ตั้งแต่ระยะที่ผลไม้กำลังเจริญเติบโต และจะทำให้เกิดอาการของโรคเมื่อผลไม้เริ่มสุก ดังนั้นการควบคุมและป้องกันโรคของผลไม้ภายหลังการเก็บเกี่ยว จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดความสูญเสียดังกล่าว
จากการค้นคว้าวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วท.) พบว่าการใช้สารเคมี Benomyl หรือ Thiabendazole ในอัตราความเข้มข้น 1,000 ส่วนในล้าน (ppm) ด้วยวิธีพ่นหรือจุ่ม สามารถควบคุมโรคขั้วเน่าของกล้วยหอมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมโรคเน่าเสียภายหลังการเก็บเกี่ยวของมะม่วง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการฆ่าเชื้อแบบแช่ในน้ำร้อนผสมสารเคมีดังกล่าว ซึ่งทำได้โดยการแช่ผลมะม่วงที่แก่จัดลงในน้ำร้อนผสมสารเคมีความเข้มข้น 1,000ส่วนในล้าน ที่อุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 5 นาที จากนั้นนำไปแช่ในน้ำเย็นอุณหภูมิ 15-20 องศาเซลเซียส ประมาณ 15 นาที เพื่อลดอุณหภูมิภายในผลแล้วนำไปผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุลงกล่องเพื่อการขนส่งต่อไป
การใช้สารเคมีฆ่าเชื้อราและวิธีการฆ่าเชื้อแบบแช่ในน้ำร้อนผสมสารเคมีฆ่าเชื้อรานี้ วท. ได้แนะนำให้ผู้ส่งออกนำไปปฏิบัติได้ผลดีมาแล้ว วิธีการใช้น้ำร้อนผสมสารเคมีนี้ยังสามารถนำไปใช้ได้กับผลไม้บางชนิดที่สามารถทนความร้อนสูงได้ เช่น มะละกอ และลิ้นจี่ แต่จำเป็นจะต่องมีการปรับอุณหภูมิและระยะเวลาให้เหมาะสำหรับผลไม้แต่ละชนิดและแต่ละพันธุ์

แหล่งข้อมูล : ศิลปชัย อรัญยะนาค. อาหารและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ. หน้า 10-11.

โดย : นาง ปรียา ชมเชี่ยวชาญ, ศรีปทุมพิทยาคาร, วันที่ 27 มิถุนายน 2545