ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ


ความเป็นมา
สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโกได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2534 และข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ชิลีได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกนาฟตา โดยคาดว่าจะมีการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกในเดือน พฤษภาคม 2538 และจะสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ในต้นปี 2539
วัตถุประสงค์
เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าและบริการระหว่างประเทศภาคี โดยการยกเลิกภาษีศุลกากรภายใน 15 ปี ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ขยายโอกาสการลงทุน คุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และแก้ไขข้อพิพาททางการค้า
สาระสำคัญ
1. การเข้าสู่ตลาด กำหนดให้มีการลดและยกเลิกภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศภาคี
2. แหล่งกำเนิดสินค้า กำหนดสัดส่วนการผลิตสินค้าที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศภาคีในการผลิตสินค้า เช่น การผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และรถยนต์
3. การค้าบริการ กำหนดหลักการเพื่อเปิดการค้าบริการระหว่างประเทศภาคี โดยใช้หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ และประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง
4. สินค้าเกษตร ประมาณครึ่งหนึ่งของสินค้าที่เรียกเก็บภาษ๊ และมีโควต้าจะถูกขจัดออกไป ไม่ต้องมีภาษีและโควต้าตั้งแต่เดือนมกราคม 2537 ยกเว้นพืชที่มีความอ่อนไหวหรือมีปัญหา จะมีการยกเลิกการเก็บภาษีภายใน 15 ปี เช่น การส่งออกข้าวโพดของสหรัฐฯ เป็นต้น
5. การลงทุน กำหนดให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สำหรับนักลงทุนในประเทศภาคี
6. ทรัพย์สินทางปัญญา กำหนดให้มีการปกป้องในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ บนหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภาคี
7. กลไกการยุติข้อพิพาท กรณ๊มีข้อขัดแย้งสามารถพิจารณาได้ภายใต้แกตต์ หรือข้อตกลงนาฟตาเวทีใดเวทีหนึ่ง สำหรับนาฟตากำหนดกลไกในการยุติข้อพิพาท โดยเริ่มจากการปรึกษาหารือโดยคณะกรรมาธิการการค้าก่อน หากตกลงกันไม่ได้ให้มีการตัดสินโดยคณะลูกขุนของนาฟตา
8. ข้อตกลงข้างเคียง กำหนดให้มีข้อตกลงข้างเคียงขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสิทธิประโยชน์ของคนงานในประเทศภาคี โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโก รวมทั้งช่วยป้องกันการไหลทะลักของสินค้าจากประเทศภาคีหนึ่ง ที่อาจทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศอื่นๆ ต้องได้รับความเสียหาย
นาฟตา : ตลาดสำคัญของไทย
นาฟตา เป็นตลาดสำคัญของไทย ปี 2537 ไทยส่งออกไปนาฟตาประมาณร้อยละ 22.5 ของมูลค่าส่งออกรวม สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปตลาดนาฟต้า เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและชิ้นส่วน และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ
ผลของข้อตกลงนาฟตาต่อไทย
 แม้นาฟตาจะมีภาคีสมาชิกเพียงสามประเทศ แต่เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจการค้าโลก รายได้ประชาชาติของทั้งสามประเทศรวมกันมากกว่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีประชากรถึง 370 ล้านคน มูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 1,700 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 ระยะสั้น ผลกระทบค่อนข้างมีจำกัด ทั้งนี้เนื่องจากเม็กซิโกยังมีปัญหาในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฝีมือแรงงานและความพร้อม
 ระยะยาว คาดว่านาฟตาจะส่งผลกระทบต่อไทย โดยเม็กซิโกอาจมีความได้เปรียบสำหรับสินค้าที่มีการแข่งขันกัน เช่น สิ่งทอ อาหารทะเลแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋อง ผักและผลไม้
 การขยายตัวของการลงทุนของต่างชาติในเม็กซิโก อาจส่งผลให้การลงทุนต่างประเทศในไทยลดลง นอกจากนี้การขยายตัวการลงทุน ทำให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าของเม็กซิโกด้วย

หนังสือ เหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน หน้า294-296



โดย : นาย ธารา อุทธังกร, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 18 พฤศจิกายน 2544