ภาษี

. วัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีอากรของรัฐ

ในการบริหารราชการของรัฐบาลนั้น นับว่าเป็นภารกิจที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเตรียมการเพื่อป้องกันอธิปไตยแห่งบูรณภาพและดินแดนให้มั่นคงและปลอดภัย ด้านการรักษาความสงบสุขภายในประเทศ การให้บริการทางด้านสถานพยาบาลและสาธารณสุข ด้านการศึกษา การคมนาคม และอื่น ๆ อีกนานัปการ รัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดสรรหารายได้มาเพื่อเตรียมการ ใช้จ่ายให้เพียงพอการจัดเก็บภาษีอากรจึงเป็นวิธีที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง และนับว่าเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของรัฐอีกด้วย

นอกจากวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีเพื่อเป็นรายได้ดังกล่าวแล้ว รัฐยังมีวัตถุประสงค์ประการอื่นอีกหลายประการดังนี้

1. เพื่อเป็นการส่งเสริมความเจริญเติบโตและคุ้มครองธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยวิธีตั้งกำแพงภาษี (Tariff Wall) สำหรับสกัดกั้นสินค้าเข้าชนิดที่ผลิตได้ภายในประเทศให้สูง ทำให้สินค้าต่างประเทศราคาแพงกว่าสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ หรืออาจใช้วิธียกเว้นไม่เรียกเก็บภาษีขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่เป็นสาระสำคัญในการผลิตสินค้าในประเทศ หรือสินค้าประเภทเครื่องจักรเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการผลิต เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เป็นต้น

2. เพื่อเป็นการควบคุมการบริโภคของประชาชนภายในประเทศ เช่น การเรียกเก็บภาษีจาก สินค้าประเภทฟุ่มเฟือยซึ่งมิได้จำเป็นต่อการครองชีพให้สูง ทำให้มีราคาแพงเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเงินฟุ่มเฟือยจนเกินไป


เพื่อเป็นการกระจายความมั่งคั่งของกลุ่มคนร่ำรวยมาสู่คนยากจน ซึ่งนับว่าเป็นการลดช่อง

ว่างระหว่างกลุ่มคนทั้ง 2 กลุ่มให้น้อยลง เพราะตามหลักการจัดเก็บภาษีนั้น คนร่ำรวยย่อมต้องรับภาระ

- 14 -


ภาษีมาก ส่วนคนยากจนเสียภาษีน้อยหรืออาจไม่ต้องเสียเลย นับว่าเป็นการดึงเอารายได้จากคนร่ำรวยมาสู่คนยากจนทางอ้อมวิธีหนึ่ง

4. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมปริมาณเงินหมุนเวียนภายในประเทศของรัฐวิธีหนึ่งหรือที่เรียกว่า “นโยบายการคลัง” (Fisical Policy) ซึ่งถ้ารัฐเห็นว่าปริมาณเงินหมุนเวียนในมือประชาชนมีมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา รัฐก็จะเพิ่มอัตราภาษีที่เรียกเก็บให้สูงขึ้นเพื่อดึงเงินเข้าคลัง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้ารัฐเห็นว่าปริมาณเงินทุนหมุนเวียนชัดจะน้อยเกินไปก็จะลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บให้ต่ำลง ทำให้ประชาชนมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น ปริมาณเงินหมุนเวียนของประเทศก็จะคล่องตัวขึ้น



ลักษณะของภาษีอากรที่ดี

Adam Smith นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Wealth of Nation เมื่อปี ค.ศ. 1776 ซึ่งแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานานแต่ก็เป็นที่ยอมรับกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า หลักการจัดเก็บภาษีอากรที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ หรือที่เรียกว่า Adam Smith’s Canons ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. ต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี โดยจะต้องยึดหลักว่าผู้ที่มีรายได้มากควรจะต้องเสียภาษีมาก คนมีรายได้น้อยควรเสียภาษีน้อยตามกำลังความสามารถในการชำระภาษี (Ability to Pay) ของแต่ละคน

2. ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บให้รัดกุมและแน่นอน เช่น ผู้เสียภาษีจะต้องชำระภาษีเมื่อใด ที่ไหน ถ้าผู้ใดละเลย หลีกเลี่ยง หรือล่าช้า จะต้องได้รับโทษอย่างไร เป็นต้น

3. ต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษีมากที่สุด เช่น ควรกำหนดช่วงเวลาในการชำระภาษีให้นานพอสมควร เพื่อให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษี และควรใช้วิธีการที่ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อมิให้ผู้เสียภาษีเกิดความเบื่อหน่าย หรือให้ผ่อนชำระได้ในกรณีที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนมาก เป็นต้น

4. ต้องถือหลักจัดเก็บในอัตราต่ำแต่เก็บได้มากและทั่วถึง ดีกว่าที่จะเก็บในอัตราสูงแต่เก็บได้น้อยเนื่องจากเก็บแต่เฉพาะคนที่มีรายได้มาก อีกประการหนึ่งก็คือ การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงย่อมเป็นการยั่วยุให้ผู้เสียภาษีเกิดความรู้สึกเสียดายเงินและพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “…not to kill the goose that lays the golden egg.”




โดย : นาง เมตตา อินทรัตน์, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544