ภาษี

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

9.1 หลักการทั่วไปในการจัดเก็บภาษี
9.1.1 ความหมายของคำว่าภาษีอากรและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องภาษีอากร
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) เป็นภาษีทางตรง (Direct Tax) ซึ่งมีลักษณะการจัดเก็บโดยคำนึงถึงเงินได้ของบุคคลเป็นสำคัญ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วการจัดเก็บภาษีประเภทนี้เป็นภาษีที่ทำรายได้หลักให้แก่ประเทศ ตรงกันข้ามกับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่ภาษี ทางอ้อม (Indirect Tax) กลับจัดเก็บได้มากกว่า
การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2475 ก่อนที่คณะราษฎรจะเข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือน พ.ศ. 2475 ออกมาใช้บังคับเก็บภาษีเงินได้จากเงินเดือนและค่าจ้างทั่วไป ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ได้มีร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. 2476 ออกมาใช้บังคับจัดเก็บภาษีเงินได้อย่างครบถ้วน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้ประมวลรัษฎากรฉบับแรก และได้มีการแก้ไขเรื่อยมาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละยุคแต่ละสมัยจนถึงปัจจุบันนี้
คำว่าภาษีอากรนั้น มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายความหมายด้วยกัน แต่ที่เหมาะสมและชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นคำกล่าวของ Seligman ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “ภาษี คือ เงินที่บุคคลถูกบังคับให้ต้องจ่ายให้แก่รัฐเพื่อรัฐจะได้นำไปใช้จ่ายในกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ทั่วไป โดยที่ผู้จ่ายไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการเฉพาะตัว”
จากคำกล่าวของ Seligman ข้างต้นนั้น สามารถสรุปความหมายของคำว่าภาษีอากรได้ดังนี้
1. ภาษี คือ เงินที่พลเมืองต้องจ่ายให้แก่รัฐ ในความหมายข้อนี้หมายความว่า ประชาชนต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐในรูปของเงินตราเท่านั้น จะจ่ายเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของใด ๆ แทนเงินไม่ได้
2. มีลักษณะเป็นการบังคับให้ต้องจ่าย โดยมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้แน่นอน เช่น ใครบ้างต้องเสียภาษี ต้องเสียเมื่อใด ไปเสียที่ไหน เป็นต้น ถ้าหากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีละเลยไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ เช่น ต้องเสียเงินเพิ่ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการจัดเก็บภาษีอากรจะเป็นการบังคับ แต่ก็มิได้รวมถึงกรณีการลงโทษผู้กระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่น ๆ เช่น การกระทำผิดกฎจราจร การลักลอบเล่นการพนัน แม้จะมีลักษณะเป็นการบังคับให้ต้องจ่ายแต่เงินค่าปรับเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการเก็บภาษี เพราะเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว
3. รัฐนำเงินภาษีอากรที่เก็บได้ไปใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งได้แก่ กิจการอันเป็นสาธารณูปโภค เช่น สร้างถนนหนทาง สร้างสถานพยาบาลสำหรับให้บริการผู้ป่วยทั่วไป สร้างสถานศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น
ประชาชนผู้เสียภาษีมิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากรัฐเป็นการเฉพาะตัว กรณีนี้หมายความว่า จากการที่รัฐนำเงินภาษีไปใช้จ่ายในกิจการสาธารณูปโภคนั้น ย่อมไม่เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หากแต่อาจได้รับประโยชน์มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น นายบุญมีกับนายบุญมาต่างก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเท่า ๆ กัน แต่นายบุญมามีรถยนต์ใช้หลายคันส่วนนาย บุญมีไม่มีรถยนต์ใช้เลย ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่านายบุญมาย่อมได้รับประโยชน์จากการที่รัฐสร้างถนนหนทางเพิ่มขึ้นมากกว่านายบุญมีหลายเท่า ทั้ง ๆ ที่บุคคลทั้งสองต่างก็เสียภาษีให้รัฐเท่าเทียมกัน



โดย : นาง เมตตา อินทรัตน์, โรงเรียนนารีนุกูล, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544