ไมเกรน


การปวดศีรษะที่ควรระวัง
ไมเกรน (MIGRAINE) ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่เป็นอาการปวดหัวที่เกิดจากการหดและขยายตัวของเส้นเลือดบริเวณศีรษะ ความรุนแรงและลักษณะของอาการแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่เป็นการปวดหัวข้างเดียว แต่ก็มีหลายคนที่ปวด 2 ข้าง อาจปวดตุ๊บๆหรือปวดแปลบๆ และอาจจะเกิดถี่หรือห่างก็ได้ ไม่แน่นอนในคนคนเดียวกัน
อาการปวดของไมเกรนไม่ใช่แค่ปวดอย่างรุนแรงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีอาการแพ้แสง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องปั่นป่วน และถ่ายเหมือนอาการท้องเสีย ทั้งอาเจียนและถ่ายจะเป็นไปจนกระทั่งหมดแรง ทำอะไรไม่ได้ ต้องนอนในที่สงบ เงียบ ปิดไฟมืดมิด อาการจึงค่อยๆคลายลง



ส่วนสาเหตุของไมเกรนนั้น ล่าสุดเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกาย จากการวิจัยพบว่าระดับเซโรโทนินจะสูงขึ้นในช่วงอาการนำของไมเกรน และลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการไมเกรน การเพิ่มขึ้นของเซโรโทนินจะกดให้เส้นเลือดหดตัว เลือดจึงไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง จึงทำให้เกิดอาการตาพร่าและภาพหลอน ต่อมาเส้นเลือดบางส่วนเกิดการขยายตัวไปกดทับเซลล์ประสาท ทำให้เซโรโทนินต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเหตุหรือเป็นผลของการขยายตัวของเส้นเลือดกันแน่
นอกจากนี้ไมเกรนยังเกิดจากปัญหาบางอย่างในระบบประสาทที่วงการแพทย์เรียกว่า “ภาวะไฟฟ้าลัดวงจร” ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตว่าคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหว คิดมาก ประสาทไวมากๆ แต่การโจมตีของอาการไมเกรนแต่ละครั้งยังเกิดขึ้นจากปัจจัยนำหลายด้าน เช่น ความเครียด นอนไม่หลับ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สิ่งแวดล้อม เช่น แสง กลิ่น และอาหาร รวมทั้งอาการหิว




อาหารนำไมเกรน ได้แก่อาหารที่มีสารประกอบอะมิโนกลุ่มที่ลงท้ายชื่อด้วย อามีน (amine) ซึ่งมีปฏิกิริยาให้หลอดเลือดขยายและหดตัว เนยแข็งโดยเฉพาะบลูชีส ช็อกโกแลต มีฟินีลเลทธีลามิน (Phenylethylamine) เป็นตัวนำไมเกรน ผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว ซึ่งมีเซเนพรีน (Synephrine) และออกโตพามีน (Octopamine) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฮิสตามีน (Histamine) นอกจากนี้ผงชูรสก็เป็นตัวนำไมเกรนของหลายคน อาหารรมควันและหมักดอง เช่น ฮอตดอก เบคอน แฮม ไส้กรอก เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ฯลฯ ซึ่งเป็นอาการแพ้เฉพาะปัจเจกชน
อาหารปลอดไมเกรน ได้แก่ ข้าวกล้อง ผลไม้ตากแห้งเช่นลูกพรุน ลูกเกด เชอร์รี่ ฯลฯ ผักปรุงสุก เช่น คะน้า บร็อคโคลี ปวยเล้ง ผักโขม ถั่ว เผือก มันเทศ มันสำปะหลัง และฟัก เป็นต้น
ควรหมั่นสังเกตให้ดีว่าตัวเองแพ้อาหารชนิดใด แล้วหลีกเลี่ยงอาหารนั้นเสีย และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยนำที่ทำให้เกิดไมเกรนด้วยวิธีธรรมชาติ เช่นนี้จะช่วยให้อาการปวดไมเกรนถอยห่างออกไป



โดย : นางสาว วิทิตา แจ้งเอี่ยม, โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย, วันที่ 8 พฤศจิกายน 2544