ลูกเอ๋ยทำไม เรียนแย่ลง





ลูกเอ๋ย ทำไมเรียนแย่ลง

ปกติแล้วการพบปะสังสรรค์กันเป็นกลุ่มย่อยของอดีตนักเรียนหญิงร่วมห้องบ๊วยประจำรุ่น ที่ปัจจุบันกลายเป็นแม่ ป้า น้า อา กันหมด จะมีแต่ความครึกครื้นรื่นเริงด้วยวาจายั่วเย้ากระเซ้าแหย่และเสียงหัวเราะที่สาดใส่กันจนลั่นบ้านหรือดังคับห้องจัดเลี้ยงเล็ก ๆ ในภัตตาคารเสมอ
คราวนี้ทุกอย่างเกือบจะเหมือนเดิมทุกประการถ้าตอนกินผลไม้ตบท้ายก่อนงานเลี้ยง เลิกรานั้นเจ้าจุ๋มจะไม่รำพึงขึ้นมาดัง ๆ
“ฉันกลุ้มใจจังว่ะ ยายแต้ว ไอ้ลูกชายคนโตของฉันมันสอบเทอมนี้ได้เกรดยังไม่ถึง 3 เล้ย แกเป็นครูบาอาจารย์ ลองบอกมาทีว่าฉันจะทำยังไงกะมันดี”
คุณล่ะ กำลังกลุ้มใจกับปัญหาทำนองนี้อยู่หรือเปล่า

(อ้างอิงจาก คู่มือแม่รับปัญหาลูกวัยรุ่น : mimilife family vol.4 June 1999 )

ปัญหาเด็กเรียนแย่ลง

ถ้าลูกเคยเรียนในระดับปกติ แล้วต่อมาสอบได้คะแนนต่ำลงไปมากหรือสอบตก คุณพ่อคุณแม่และครูควรลองค้นหาสาเหตุเสียก่อน ซึ่งอาจเกิดได้จาก
ประการแรก ภาวะสุขภาพของเด็กไม่ดี ทำให้ต้องขาดเรียนบ่อย หรือทำงานที่ถูกมอบหมายส่งไม่ทันเวลา ทำให้เสียคะแนน หรือเด็กที่มีความผิดปกติของสายตา หรือการได้ยินบกพร่อง
ประการที่สอง เด็กมีระดับสติปัญญาช้า หรือทึบ
ประการที่สาม ปัญหาทางอารมณ์ เช่นพ่อแม่ทะเลาะวิวาทหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้เด็กต้องรับผิดชอบเรื่องอื่นๆ มากเกินไป จนไม่มีเวลาสำหรับการเรียนเท่าที่ควร
ประการที่สี่ ปัญญหากับบทเรียน ครู และเพื่อน บทเรียนที่ยากหรืองานที่มากเกินไป ครูที่ไม่เข้าใจอาจทำโทษหรือไม่ยุติธรรม มีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนกันเสมอ จนทำให้เด็กไม่อยากเรียน ไม่มีสมาธิในการเรียน
เมื่อสำรวจหาสาเหตุของปัญหาได้แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำก็คือ
ไม่ควรตำหนิหรือดุว่าเด็ก เพราะจะเป็นการกดดันให้เด็กรู้สึกแย่ลงมากยิ่งขึ้น
คุณพ่อและคุณแม่ต้องมีความรัก ความเข้าใจ มีเหตุผล รู้จักให้อภัย และให้การช่วยเหลือกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้กับลูก
ให้การดูแลเอาใจใส่ในเรื่องภาวะสุขภาพของลูก และพาลูกไปรับการรักษาเมื่อพบความผิดปกติทางร่างกาย
ควรนำลูกไปขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีการตรวจระดับสติปัญญาและให้การปรึกษาในเรื่องปัญหาการเรียน
ความร่วมมือที่ดีระหว่างครูและผู้ปกครองของเด็ก จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในด้านการเรียน เพราะครูมีโอกาสเห็นความผิดปกติของเด็กในชั้นเรียน สิ่งที่สำคัญและควรระวังก็คือ ไม่ควรวิตกกังวลหรือเพ่งเล็งในผลการเรียนมากเกินไปจนทำให้เด็กรู้สึกว่าผลการเรียนของเด็กมีความสำคัญมากกว่าตัวเด็ก



โดย : นาง วัชรินทร์ แย้มโสภี, โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย, วันที่ 23 ตุลาคม 2544