หลักการป้องกันการติดยาเสพติด


การติดยาเสพติด ถือเป็นโรคร้ายแรงอย่างหนึ่ง มีปัจจัยหรือสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่นอน เป็นโรคเรื้อรัง รักษาให้หายขาดได้ยาก มักจะติดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกาย ต่อวิถีชีวิต ต่อครอบครัวและต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีป้องกัน เพื่อมิให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติด

การป้องกันแบ่งออกเป็น 3 ด่าน
ด่านที่ 1 ป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค คือป้องกันไม่ให้ทดลองยา
ด่านที่ 2 ป้องกันไม่ให้มีการใช้ยาต่อไป ในกรณีที่มีการลองยาเกิดขึ้นแล้ว เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสมอง ทางจิตใจ และทางสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การเกิดโรคติดยาในที่สุด
ด่านสุดท้าย ป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคเรื้อรัง โดยป้องกันไม่ให้เกิดผลร้ายต่อชีวิตจิตใจหรือต่อสังคม ทำได้โดยการให้การบำบัดรักษาแต่เนิ่น ๆ
การป้องกันจึงต้องทำให้ครบทั้ง 3 อย่าง จึงจะสามารถลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดได้

สาเหตุของการติดยาเสพติด
- ตัวบุคคล ได้แก่ กรรมพันธุ์ มีอิทธิพลต่อการติดถึง 50 % สิ่งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้แก่ ความเปราะบาง (vulnerability) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะติดยา หรือเป็นความฉับไวทางกรรมพันธ์ต่อการติดยา แต่เราสามารถสร้างปัจจัยทางบวกเพื่อให้อิทธิพลของกรรมพันธุ์ลดน้อยหรือหายไป และเรายังสามารถที่จะลดปัจจัยทางลบเพื่อลดอิทธิพลของกรรมพันธุ์ได้อีกด้วย
* ถึงจะมีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์สูง ถ้าไม่ลองยา ก็ไม่มีโอกาสติดยา *
- ตัวสาร มีอิทธิพลต่อการติด 25 % สารที่เป็นยาเสพติดนั้น จะต้องเข้าไปออกฤทธิ์ที่สมองบางส่วน ทำให้มีการหลั่งสื่อเคมีบางอย่างออกมาอย่างมากมาย สื่อเคมีเหล่านี้จะทำให้มีความรู้สึกเป็นสุข หรือลดความทุกข์ได้ เมื่อใช้ยาบ่อย ๆ เข้า สมองจะเปลี่ยนแปลงไป จะต้องพื่งยาเสพติดเท่านั้นจึงจะอยู่ได้
สารบางอย่างจะออกฤทธิ์แรง จึงทำให้ติดง่าย
* แม้จะไม่มีความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์ ถ้าใช้ยาเสพติดบ่อย ๆ เข้า สมองจะเปลี่ยนสภาพไป ทำให้ป่วยเป็นโรคติดยาเสพติดได้เช่นกัน
การป้องกันจึงต้องเน้นในการสร้างทักษะในการแสวงหาความสุขและลดความทุกข์โดยไม่พื่งสารเคมีที่เป็นยาเสพติด
- สิ่งแวดล้อม มีอิทธิพลต่อการติด 25 %
สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ จะเป็นปัจจัยในการสร้างปัจจัยทางบวกและลดปัจจัยทางลบต่อการติดยา
สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวชักนำให้ “ตัวบุคคล” มาพบกับ “ตัวสาร” คือทำให้เกิดการลองยา
สิ่งแวดล้อมยังเป็นตัวเกื้อหนุนให้มีการใช้ยาต่อ ๆ ไป
การป้องกันจึงต้องเข้าใจและจัดการกับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมจึงจะได้ผลดี

อ้างอิงจาก
คู่มือการป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสา สำหรับประชาคมไทย โดย นพ.ทรงเกียรติ ปิยะกะ



โดย : นาย สำเริง แย้มโสภี, โรงเรียนเสนา "เสนาประสิทธิ์", วันที่ 27 ตุลาคม 2544