การใช้ยาในสตรีมีครรภ์

การใช้ยาในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร

“ ดิฉันกำลังตั้งครรภ์อยู่ ไม่ทราบว่ายาที่ได้รับนี้จะทานได้หรือไม่? “
“ ยานี้ควรทานก่อนหรือหลังให้นมลูกคะ? “
“ ลูกจะได้รับยาที่ดิฉันทานเข้าไปหรือไม่ จะเป็นอันตรายไหมคะ? “

คำถามเหล่านี้มักจะมีผู้สนใจสอบถามจากเภสัชกรเสมอๆ คุณควรระวังในการใช้ยาเมื่อคุณกำลังตั้งครรภ์หรือระหว่างให้นมบุตร เพราะยาสามารถซึมผ่านรกไปยังทารกได้ง่ายและยาบางชนิดจะถูกขับออกทางน้ำนมได้ ดังนั้นลูกของคุณก็มีโอกาสได้รับยาที่คุณรับประทานเข้าไปด้วย

การใช้ยาในสตรีมีครรภ์

ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ คุณควรระมัดระวังในการใช้ยาเป็นพิเศษ เพราะยาสามารถซึมผ่านรกไปยังลูกของคุณโดยง่าย อันตรายของยานอกจากจะขึ้นอยู่กับชนิดของยายังขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณด้วย

 ไตรมาสแรก (เดือนที่1-3)
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่อาจทำให้การแท้งหรือเกิดความพิการต่อทารกในครรภ์ได้สูง และถ้าคุณมีครอบครัวแล้วและไม่ได้คุมกำเนิด คุณควรระวังในการใช้ยาด้วยเช่นกัน เพราะหากเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาระหว่างใช้ยาก็เป็นอันตรายเช่นกัน

 ไตรมาสที่ 2 (เดือนที่4-6) และไตรมาสที่3 (เดือนที่ 7-9)
ยาบางชนิดอาจทำให้การเจริญเติบโตและการทำหน้าที่ของอวัยวะในครรภ์ผิดปกติได้เช่นกัน





ระยะใกล้คลอดหรือระหว่างคลอด

ยาอาจมีผลต่อทารกแรกคลอดได้เพราะจะได้รับยาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาทารกต้องขจัดยาหรือเปลี่ยนแปลงยาด้วยอวัยวะของตัวเอง ซึ่งยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่อาศัยมารดาอีกต่อไปจึงอาจเกิดอันตรายได้

ตัวอย่างยาที่ควรระวังในการใช้ระหว่างการตั้งครรภ์

ยาแอสไพริน : ทารกจะมีปัญหาเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด ซึ่งจะแข็งตัวช้าลง
ยานอนหลับและยาคลายเครียด : ถ้ามารดาได้รับในระยะใกล้คลอดขนาดสูง มักทำให้ทารกหายใจไม่สะดวกเนื่องจากไปกดการหายใจของทารก
ยาสเตียรอยด์ : ทำให้มีโอกาสแท้งเพิ่มขึ้น เมื่อทารกคลอดออกมาอาจเกิดความพิการได้ เช่น เพดานโหว่
ยาคลอแรมเฟนิคอล : จะทำให้ทารกเป็นโรคโลหิตจางได้



การใช้ยาในสตรีให้นมบุตร

ในระยะให้นมบุตร คุณก็ต้องระวังในการใช้ยาเช่นกันเพราะยาบางชนิดจะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ อันตรายที่จะเกิดกับเด็กนั้นขึ้นกับปริมาณยาที่ขับออกมา หรือฤทธิ์ยาที่ขับออกมา หรือฤทธิ์ยาที่มีต่อเด็ก ยาบางชนิดถึงมีปริมาณน้อย หากมีอันตรายหรือเด็กแพ้ยา ก็ย่อมไม่ปลอดภัยต่อเด็ก นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งน้ำนมได้ ดังนั้นคุณจึงควรได้รับยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น

 หากยานั้นมีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นอันตรายกับเด็กก็ควรให้นมผงแทน
 หากยานั้นไม่มีอันตรายต่อเด็ก วิธีจะให้เด็กได้รับยาน้อยที่สุด คุณควรที่ให้ลูกดูดนมก่อนที่คุณจะรับประทานยา

ดังนั้นหากคุณจำเป็นต้องใช้ยา

 ระหว่างการตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์
 ระหว่างการให้นมบุตร
 เกิดตั้งครรภ์ระหว่างการใช้ยา
คุณควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของคุณเองและลูกนะคะ




โดย : กลุ่ม ตอง 3, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีจักรีรัช, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2544