อินเทอร์เน็ตกับความเหลื่อมล้ำ

บทคัดย่อ
วิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technologies: ICT) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิตประจำวัน นอกจากนี้เทคโนโลยีสารสนเทศยังเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำพาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) หรือระบบเศรษฐกิจ/สังคมแห่งปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge-based Economy/Society) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาจเป็นปัจจัยเร่งประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างทางเศรษฐกิจและช่องว่างทางสังคมได้ ระหว่างผู้มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ โดยเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในความสามารถและโอกาสของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นผลให้เกิดช่องว่างระหว่าง "ผู้มีข่าวสาร" และ "ผู้ไร้ข่าวสาร"(Information haves and have nots) โดยที่ปรากฎการณ์ดังกล่าวรู้จักกันภายใต้คำศัพท์ว่า "ช่องว่างทางดิจิทัล" หรือ "Digital Divide" หรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้
ปัจจุบัน Digital Divide หมายถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ใน 2 ระดับคือ
1. ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรกลุ่มต่าง ๆ ภายในประเทศ ที่มีโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้แตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองใหญ่กับประชากรในชนบท ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีเพศ อายุ ต่างกัน ระหว่างผู้ที่มีระดับการศึกษาต่างกัน ระหว่างผู้ที่มีเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่ต่างกัน รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ของผู้พิการ ที่อาจน้อยกว่างบุคคลทั่วไปอีกด้วย
2. ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับและรูปแบบที่ต่างกัน คือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างมากกับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมักจะครอบคลุมถึงประเทศยากจน
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคของการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (Digital Divide) พอสรุปได้ 4 กลุ่ม คือ
1. ปัจจัยเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ : ความพร้อมของโครงสร้างในแต่ละพื้นที่จซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ต่างกัน เช่น โอกาสในการใช้ไฟฟ้า, การใช้โทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ, การแพร่กระจายของการใช้คอมพิวเตอร์, การใช้อินเทอร์เน็ต, การใช้ดาวเทียม เป็นต้น
2. ปัจจัยเกี่ยวกับความแตกต่างของลักษณะของประชากร : ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะของประชากรที่ใช้เป็นเครื่องชี้วัด Digital Divide มีหลายตัวแปรเช่น รายได้ ระดับการศึกษา ลักษณะของเชื้อชาติและวัฒนธรรม
3. ปัจจัยด้านนโยบาย : เช่นนโยบายด้านการเปิดเสรีเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นราคาสินค้าและบริการด้านสารสนเทศลดต่ำลงซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีโอกาสเข้าถึงสารสนเทศได้มากขึ้น
4. ปัจจัยอื่น ๆ : เช่น ขนาดขององค์กรประเภทของธุรกิจ ที่ตั้งขององค์กร ความแตกต่างของธุรกิจมีผลต่อการเข้าถึงข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น
จะเห็นว่าถึงแม้ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสารสนเทศและความรู้จะไม่ได้มีความหมายถึงเฉพาะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแต่อย่างเดียว แต่การพิจารณาดังกล่าวก็ให้ความสำคัญในเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก และถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะในโลกสมัยปัจจุบันอินเทอร์เน็ตนับเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ที่กว้างใหญ่ที่สุด และยังเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง
ที่มา : ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล, ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล, ดร.กษิติธร ภูภราดัย, ดร.พิธุมา พันธุ์ทวี,สิรินทร ไชยศักดา, วารสาร NECTEC, อินเทอร์เน็ตกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ, ปีที่ 9, ฉบับที่ 45, มีนาคม - เมษายน 2545


โดย : คุณ กมลศรี ฤกษ์สมุทร, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, วันที่ 18 เมษายน 2545