แผลเป็นคีลอยด์

ในปัจจุบันแฟชั่น “การสัก” ตามร่างกาย หรือ “การเจาะ” ตามบริเวณร่างกาย เช่น ตามแขน หู สะดือ กำลังมาแรง ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่นูนหนา สาเหตุเพราะเมื่อเกิดบาดแผลจะทำให้เกิดการสร้างเส้นใยตลอดจนคอลลาเจนที่มากเกินพอ สะสมกันเกิดเป็นรอยนูนให้เห็น นอกจากนี้ยังพบได้เมื่อเกิดบาดแผลในกรณีอื่นด้วย เช่น มีดบาด แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นต้น โดยอาจเป็นเพียงรอยแผลเป็นชนิดนูน ( Hypeertrophic Scar ) หรือแผลเป็นคีลอยด์ ( Kelid )
แม้ว่าแผลเป็นทั้งสองชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นรอยนูนหนา ขรุขระและมีอาการคัน ซึ่งดูคล้ายคลึงกันมาก แต่จะต่างกันตรงที่รอยแผลเป็นชนิดนูนจะไม่มีการขยายใหญ่ขึ้นออกนอกขอบเขตที่มีการบาดเจ็บ ในขณะที่แผลเป็นคีลอยด์อาจจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้เรื่อย ๆ จนออกนอกขอบเขตที่มีการบาดเจ็บเบื้องต้นได้
การรักษาคือ งดการทำให้เกิดการระคายเคืองที่บริเวณดังกล่าว เช่น ถ้าเจาะหู ก็ให้งดการใส่ต่างหู เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้แผลขยายใหญ่ได้ง่ายขึ้น พบแพทย์เพื่อฉีด ยาจำพวก “คอร์ติโคสเตียรอยด์” เข้าไปในบริเวณแผล ซึ่งต้องฉีดทุก 2 สัปดาห์ แผลจะค่อย ๆ นุ่มลง และเรียบขึ้น หลังจากนั้นแพทย์จะฉีดเว้นระยะห่างไป เช่น เดือนละครั้ง จนหายใกล้เคียงกับผิวปกติมากที่สุด แต่กรณีที่แผลเป็นใหญ่มาก อาจต้องผ่าตัดออกแล้วเย็บ ร่วมกับการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในแผล เพื่อป้องกันการเกิดใหม่

ที่มา : ข่าวรามคำแหง. ปีที่ 31 ฉบับที่ 49 วันที่ 1-7 เมษายน 2545.



โดย : นางสาว chanya pathamapikul, ripw klongluang pathumthani bangkok, วันที่ 3 พฤษภาคม 2545